แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยการศึกษาคุณภาพใหม่

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 45/2566)

แม้สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับในรอบสามสิบปี แต่การขจัดความยากจนให้หมดไป โดยเฉพาะประชากรเป้าหมายกลุ่มท้ายๆ มักมีความยากลำบากในการเข้าถึง อย่างที่เรียกกันว่า Last Mile Research

” แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยการศึกษาคุณภาพใหม่ ” รายงานประชาชน (ฉบับที่ 45/2566)

ข้อมูลกลุ่มประชากรยากจน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้ 

  • ปี 2531 มีคนจน 34.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 65.1
  • ปี 2541 มีคนจน 22.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 38.6
  • ปี 2551 มีคนจน 13.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.4
  • ปี 2561 มีคนจน 6.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.8
  • ปี 2563 มีคนจน 4.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.8
  • ปี 2564 มีคนจน 4.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.3

ส่วนข้อมูลจาก TPMAP ของรัฐบาล ระบุจำนวน “คนจนเป้าหมาย” ที่ต้องการการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน

  • ปี 2560  มีคนจนเป้าหมาย 1.7 ล้านคน จากการสำรวจ 35.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 4.7
  • ปี 2565  มีคนจนเป้าหมาย 1.0 ล้านคน จากการสำรวจ 36.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.7

และล่าสุด ปี 2566 ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน สำรวจพบคนจนจำนวน 197,298 ครัวเรือน 655,365 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนจนเป้าหมายเร่งด่วน 211,739 คน

การศึกษาคือปัจจัยที่ 5 

ตามหลักคำสอนในพุทธศาสนา ปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพมี 4 ประการ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค อย่างไรก็ตามในโลกยุคปัจจุบัน การรู้หนังสือและมีสัมมาชีพน่าจะนับเป็นปัจจัยที่ 5  เพราะเป็นเงื่อนไขการหลุดพ้นจากความอับจนทางปัญญา มีงานทำ มีรายได้ และดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

แม้แนวทางการขจัดความยากจนแบบพุ่งเป้าของจีน ที่มีเป้าหมายตัวชี้วัด 2 ไม่กังวล 3 หลักประกัน ก็ล้วนเป็นไปในทิศทางนี้

ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 13 ของไทย ได้ชี้ประเด็นปัญหาของคนรุ่นลูกรุ่นหลานในครอบครัวยากจนที่ต้องอพยพเร่ร่อนไปตามผู้ปกครอง ขาดโอกาสในการศึกษา ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน แม้จะมีระบบการศึกษาภาคบังคับ เด็กเหล่านี้ก็ต้องหลุดออกไปเสียกลางครัน เมื่อโตขึ้นกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ มีรายได้ต่ำ และอยู่ในสภาพที่ยากจนสืบต่อกันเรื่อยไป เรียกว่าความยากจนข้ามรุ่น 

ถึงแม้นว่าเด็กเหล่านี้จะได้เข้าสู่ห้องเรียนโดยตลอดรอดฝั่ง ในระบบการศึกษาทั่วไปแบบเดิมๆ ที่เน้นการท่องหนังสือและมุ่งสอบให้ผ่านเกณฑ์เพื่อได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการศึกษาสำหรับใช้สมัครเข้าทำงาน ก็ไม่สามารถรองรับเด็กกลุ่มนี้ได้ เพราะสิ่งที่เด็กกลุ่มนี้ต้องการคือการมีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะออกไปจากระบบของโรงเรียนในช่วงชั้นใด

การศึกษาที่มีคุณภาพแบบใหม่เช่นนี้ คือศาสตราวุธสำหรับใช้ตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น

การปฏิรูปการศึกษาในภาคสนาม

เสียงเรียกร้องจากสังคมที่ต้องการให้ปฏิรูปการศึกษานั้นมีมาช้านาน ในขณะที่การปฏิรูปการศึกษาตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไม่ประสบผลสำเร็จ  ส่วน (ร่าง)พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วพยายามผลักดันก็ยังไม่ทันเกิดเพราะหมดวาระของสภาผู้แทนราษฎรไปเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีโครงการในลักษณะศึกษาทดลองรูปแบบการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่เสมือนทำในกระบะทราย (Sandboxing) อย่างน้อย 2 ขบวน อันแรกเป็นต้นแบบของ “โรงเรียนแก้จน” ส่วนอีกอันเป็น “โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

โรงเรียนแก้จน เป็นโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ริเริ่มโดยคุณมีชัย วีระไวทยะ มีต้นแบบอยู่ที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีผ่านมติคณะกรรมการประเทศไทย 4.0 เมื่อปี 2561 ทำงานโดยอาศัยเงินบริจาคจากภาคเอกชนล้วนๆ ขยายงานแบบ “ล่างขึ้นบน” เน้นการเปลี่ยน “โรงสอนเด็ก” ให้กลายเป็นฐานเรียนรู้การทำมาหากินและดำรงชีพของคนทุกวัยในชุมชน แก้ความยากจน เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร มีกองทุนส่งเสริมธุรกิจนักเรียน และกองทุนส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีประมาณ 300 แห่งใน 69 จังหวัด

โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นแผนงานขับเคลื่อนปฏิรูปการบริหารและการจัดการการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการโดยสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562  ปรับระบบงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนให้เป็นแบบ Block Grant  คลายกฎระเบียบบางอย่างให้ ขยายงานแบบ “บนลงล่าง” ปัจจุบันมี 1,496 แห่ง ใน 19 จังหวัด เน้นรูปแบบการเรียนการสอนในเชิงคุณภาพที่หลากหลายให้แก่เด็ก เช่น BBL  PBL  Active Learning  Montessori  และรูปแบบผสมผสาน 

ข้อเสนอนโยบายเชิงนวัตกรรม

ด้วยความปรารถนาดีและประสงค์จะเห็นการใช้การศึกษาในคุณภาพใหม่เป็นเครื่องมือในการเอาชนะความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและบริหารจัดการบางประการต่อนายกรัฐมนตรีและสาธารณชน ดังนี้

  1. สนับสนุนการขยายรูปแบบโรงเรียนแก้จนให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ( 1 อำเภอ 1 โรงเรียนแก้จน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอยากจน 
  2. พัฒนาต่อยอดโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่มีอยู่ 52 แห่ง ใน 43 จังหวัด ให้เป็น โรงเรียนแก้จนประเภทโรงเรียนประจำที่สามารถรองรับระบบการค้นหาลูกหลานคนจนกลุ่มเป้าหมายและจัดระบบสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กอย่างครบวงจร
  3. สนับสนุนให้มีเวทีสมัชชาปฏิรูปการศึกษาระดับจังหวัดอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีโรงเรียนทั้งสองรูปแบบดำเนินการอยู่

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 4 ธันวาคม 2566