เส้นทางทำบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกในวัย 29 ปี

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 คณะทำงานจิตอาสาของตำบลบ้านใหม่ (คณะทำงานการดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตำบลบ้านใหม่  อำเภอหนองบุญมาก)

ได้สำรวจและเก็บข้อมูลกลุ่มประชากรเฉพาะ จนได้พบกับครอบครัวของนายทักษิณ(นามสมมุติ) และนางสายพิณ (นามสมมุติ)  ครอบครัวนี้มีบุตรพิการทั้ง 2 คน บุตรชายคนโตพิการ ตาบอดสนิท มองไม่เห็นทั้งสองข้าง แต่มีความสามารถเล่นดนตรีไทยได้หลายชนิด จึงหาเลี้ยงชีพได้ บุตรชายคนนี้มีครอบครัวแล้วและมีบุตรสาว 1 คน ส่วนคนที่ 2 เป็นบุตรสาวที่มีความพิการซ้ำซ้อนและยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน  โดยที่ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ 2555 ขณะน้องอายุ 18 ปี พ่อแม่ได้เคยพาน้องไปเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนที่อำเภอ แต่เมื่อไปถึงที่ว่าการอำเภอแล้ว มีผู้คนจำนวนมากมาใช้บริการ น้องส่งเสียงร้องดังโวยวายเพราะกลัวผู้คน และไม่ยอมนั่งตรงที่ถ่ายรูปทำบัตร ได้แต่ก้มหน้าอยู่บนบ่าแม่อย่างเดียวไม่ยอมให้ทางเจ้าหน้าที่อำเภอถ่ายรูป จึงไม่สามารถถ่ายรูปเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนได้  หลังจากนั้นพ่อแม่ได้พยายามหลายครั้ง แต่น้องโวยวายเสียงดังและไม่ยอมขึ้นรถ  นับแต่นั้นมาน้องก็ไม่ยอมออกจากบ้านและตื่นกลัวผู้คน

เส้นทางทำบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกในวัย 29 ปี

การใช้ชีวิตประจำวันของน้องน่าสงสารเพราะใช้ชีวิตอยู่แต่บนเปลเป็นส่วนมาก จะลงมานั่งที่พื้นข้างล่างเฉพาะตอนกินข้าวและอาบน้ำ  สาเหตุเพราะเคยตกเตียงแล้วเจ็บ น้องจึงไม่ยอมขึ้นนอนบนเตียงอีกเลย เพราะกลัวว่าจะตกเตียงอีก อีกทั้งสรีระร่างกายก็ไม่ปกติ นั่งหลังตรงไม่ได้ จากการที่น้องไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงทำให้น้องเข้าไม่ถึงสิทธิที่ประชาชนคนไทยพึงได้รับ เพราะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลจัดให้มีสวัสดิการของรัฐกับประชาชน เช่น บัตรสวัสดิการ บัตรประชารัฐ และสิทธิต่าง ๆ ที่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนยืนยันตัวตน  คณะทำงานคณะทำงานการดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตำบลบ้านใหม่  จึงได้พานางสายพิณ ผู้เป็นแม่ นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ 50 (5) และศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา 

ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2566 ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อำเภอหนองบุญมาก (ศคบ.นบม.) และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) อำเภอหนองบุญมาก ได้รับเรื่องจากนางสายพิน 

คณะทำงานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ 50 (5) และศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางไปขอคำปรึกษากับฝ่ายทะเบียนที่รับผิดชอบเรื่องทำบัตรประจำตัวประชาชน ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าอย่างไรก็ตาม ก็ต้องนำตัวน้องที่ต้องการทำบัตรประจำตัวประชาชนมาที่อำเภอเท่านั้น หากไม่นำมา ก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ โดยไม่ฟังเหตุผลและอาการของน้องเลย  เมื่อกลับไปถึงหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ 50 (5) และศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา  

คณะทำงานทั้งสามองค์กรจึงได้ประชุมปรึกษากันอีกครั้ง และได้เชิญนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานและศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคอำเภอหนองบุญมาก และ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) อำเภอหนองบุญมาก ทำหนังสือนำเรียนนายอำเภอหนองบุญมาก เพื่อขอความอนุเคราะห์จากท่านและเพื่อสั่งการในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ขอรถโมบายจากที่ว่าการอำเภอออกมาทำบัตรประจำตัวประชาชนให้น้องไพลิน (นามสมมุติ)

โดยเนื้อหาในหนังสือนำเรียนนายอำเภอ  มีรายละเอียดว่า นางสายพิน ได้แจ้งว่าบุตรสาว ชื่อ นางสาวไพลิน (นามสมมุติ) อายุ 29 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการแต่กำเนิดและเป็นผู้พิการซ้ำซ้อน คือ ออทิสติก พิการด้านกายภาพการทรงตัวและการได้ยิน (หูหนวก) ไม่สามารถสื่อสารเรื่องใด ๆ กับคนภายนอกได้เลย ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน  ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคอำเภอหนองบุญมากและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) อำเภอหนองบุญมาก พิจารณาแล้วจึงขอความอนุเคราะห์จากนายอำเภอ ได้โปรดสั่งการส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้จัดรถโมบายออกบริการเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน ให้กับผู้พิการซ้ำซ้อนรายนี้ และขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

เวลาผ่านไปประมาณเดือนกว่า จนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ทางจังหวัดได้จัดรถโมบายออกมาให้บริการทำบัตรประจำตัวบัตรประชาชนให้นางสาวไพลิน โดยใช้เวลาทั้งหมดหนึ่งชั่วโมง  ซึ่งมากกว่าการทำบัตรประจำตัวประชาชนทั่วไปมาก เพราะน้องไม่ยอมมองกล้อง ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ให้ความร่วมมือกับคนแปลกหน้า ต้องให้พ่อและแม่ช่วยเหลือในทุกกระบวนการของการทำบัตรประจำตัวประชาชน  

ในที่สุด การขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของน้องไพลินก็สามารถจัดทำได้สำเร็จ