ฉก.พญานาคราช : ช่วยชาติหรือซ้ำเติมประชาชน

รายงานประชาชน ฉบับที่ 1/2567

เมื่อเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้พร้อมใจกันโหวตรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังติดตามเอาใจช่วยการทำงานของรัฐมนตรีทุกกระทรวงโดยไม่ถือเขาถือใคร

แต่ครั้นเวลาผ่านไป 6 เดือนกลับไม่มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากการแสดงจำอวดผ่านจอทีวีและการขายฝันต่อหน้ามวลชนจัดตั้ง

ในสถานะของผู้แทนปวงชน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังคงได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียนจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ทุกภูมิภาคอยู่เนืองๆ ทั้งเรื่องที่ดิน แหล่งน้ำ การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย มลภาวะ ปัญหาการศึกษาและคุณภาพชีวิต ทำให้ต้องมอบหมายคณะทำงานเฉพาะกิจลงพื้นที่ ไปศึกษาข้อเท็จจริงและช่วยประสานหน่วยงานรัฐ สร้างพื้นที่กลางในการบรรเทาทุกข์และคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าให้ชาวบ้าน

ออกจากถ้ำ ขย้ำเหยื่อ

“ฉก.พญานาคราช” เป็นหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการค้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย ที่ รมว.เกษตร และสหกรณ์จัดตั้งขึ้นมา มีการแถลงข่าวเปิดตัวกันอย่างครึกโครม ดูผิวเผินช่างขยันทำงานกันอย่างเหลือเกิน แต่ความจริงกลับพบเหตุน่ากังขาว่าจะเป็นงานเร่งรัดหาทุนที่น่ารังเกียจของฝ่ายการเมือง ก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและเศรษฐกิจแนวชายแดนอย่างรุนแรง

ดังตัวอย่างที่อำเภอสังขละบุรี เมื่อกรมวิชาการเกษตรสั่งการให้ฝ่ายนิติกรในพื้นที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับ หจก.นิติพงศ์การยาง โดยอายัด “ยางก้อน” จำนวน 600 ตัน เนื่องจากไม่สามารถแสดงเอกสารที่มาของยางก้อนต้องสงสัย 29 ตันในขณะนั้น  

1 เดือนผ่านไป ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เจ้าทุกข์สามารถยืนยันได้ว่ายาง 29 ตันไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แต่ กษ.ก็ทำเพิกเฉย ไม่ยอมถอนอายัด ตำรวจจึงทำอะไรไม่ได้ จนก้อนยางเกิดความเสียหาย กลายสภาพเป็นก้อนดินและผงฝุ่น

การลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านของคณะทำงานที่ปรึกษา ส.ว. ทำให้รับทราบความเดือดร้อนและข้อเท็จจริงจากปากผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งท่านนายอำเภอสังขละบุรีได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือ  ประกอบด้วยฝ่ายปกครอง ตำรวจ นิติกร กษ. ผู้ประกอบการเจ้าทุกข์ และที่ปรึกษา ส.ว.ผู้รับเรื่องร้องเรียน

ผลการหารือ มีการลงนามความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติร่วมกันว่า ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเป็น 2 ส่วน

  1. ยางพาราที่ไม่ต้องสงสัย 600 ตันเศษ ให้ถอนอายัด
  2. ยางที่ต้องสงสัย 29 ตันเศษ ให้ผู้ประกอบการแสดงเอกสาร เพื่อเจ้าหน้าพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน

พบเหตุการเพิกเฉย

บัดนี้เวลาล่วงเลยมา 6 เดือน ผลผลิตยางก้อนมูลค่าประมาณ 15 ล้านบาทเสียหายอย่างย่อยยับ กรมวิชาการเกษตรยังคงเพิกเฉย ผู้ประกอบการจึงติดตามถวงถามไปยังรองอธิบดีฯผู้เซ็นคำสั่ง เพื่อขอทราบสาเหตุที่ไม่ทำตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามร่วมกัน  

คำตอบที่ได้คือ “ให้ไปเคลียร์กับที่ปรึกษารัฐมนตรี”

คณะทำงานฯ ได้รับทราบจากเจ้าทุกข์เพิ่มเติมอีกว่า ยังมีทีมงานอีกชุดหนึ่งของฝ่ายการเมือง ตามประกบเข้ามาด้วยคำขวัญว่า “เจอ จ่าย จบ” และ  “ไม่จ่าย เป็นเจ็บ”

แม้ในวันที่ผู้ประกอบการเข้ามาร้องทุกข์ร้องเรียนต่อ ส.ว.อยู่นั้น ทีมงานชุดนี้ได้เรียกผู้ประกอบการไปคุย ขอรับ “กล้วย 1 กิโล”เป็นเครื่องเซ่น ให้เหตุผลว่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการถอนอายัด แม้เจ้าทุกข์ขอต่อลองเหลือ 7 ขีด ก็ไม่ยอม 

ยิ่งกว่านั้นยังส่งคนจังหวัดกระบี่ เดินทางไกลมาแจ้งความที่ สภ.สังขละบุรี กล่าวหาซ้ำเข้าไปอีกดอก โทษฐานนำเข้ายางจากประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งสัญญาณการลากยาว บีบคั้น กลั่นแกล้ง ล่าอาณานิคม และการเข้าตีเมืองขึ้น

ผลกระทบจากนโยบาย 

นับจากชุดเฉพาะกิจ “พญานาคราช”เข้ามาทำงานในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี วิถีชีวิตประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งโดนสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งถูกซ้ำเติมด้วยอำนาจอิทธิพลของเหล่าพญานาคราชสายพันธุ์ไทย

ตั้งด่านเข้มข้นหนัก จนเกิดสภาพ “ด่าน(เกษตร)ซ้อนด่าน(ความมั่นคง)” ชาวบ้านซื้อหอมแดง 10 กิโลกรัม หรือหมากพลู 5 ใบ 10 ใบ ก็ต้องแสดงเอกสาร ถ้าไม่มีเอกสารแสดงก็ใช้อำนาจอายัดทันที 

มีเสียงนินทาหนาหูว่า แท้ที่จริงก็เพื่อจัดระเบียบระบบขนส่งยางพาราประเภทข้ามแดน หรือ Transit ที่ส่งข้ามแนวชายแดนไปสู่ปลายทางประเทศที่ 3  โดยแอบแฝงไปด้วยการใช้อำนาจอิทธิพลเข้าจัดการคู่แข่งทางธุรกิจ เพราะมีคนใกล้ชิดนักการเมืองไปสร้างโรงงานรับซื้อน้ำยางเพื่อผลิตยางแผ่นในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ไกลจากแนวชายแดน

ใครที่ยอมจ่าย “ค่ากล้วย”เป็นที่เรียบร้อยก็ผ่านได้ ผิดจากนั้นก็อย่าหวัง  ส่วนรายเล็กรายน้อยต้องจำยอมจ่ายค่าผ่านด่านกันเป็นครั้งๆไป สื่อมวลชนและโซเชียลท้องถิ่นนำไปขยายความกันอย่างสนุกปาก

แก้ปัญหาชาติ หรือหาเงินส่งนาย

เริ่มปีใหม่จัดคิวใหม่ ผู้ประกอบการต้องร้องโอดครวญ เพราะราคาค่าผ่านทาง ปรับจาก 1,000 เป็น 5,000 ต่อพ่วง…และต้องจ่ายเพิ่มพิเศษแยกจากของนาย อีก 1,000  เพื่อส่งมอบให้กับเสธชื่อดัง 

หนักไปกว่านั้นยังจงใจไปตั้งด่านเฉพาะกิจ ตรงบริเวณทางเข้าโรงรับซื้อยางของ หจก. ฐิติพงศ์การยาง พร้อมคำขู่ “ ไม่จ่ายก็ทำธุรกิจไม่ได้”.. “ถ้านำเรื่องไปฟ้อง ก็อย่าหวังว่าจะอยู่ในพื้นที่ได้”

คอร์รัปชั่นเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินประเทศไทยจนเข้าขั้นวิกฤติ ตรงข้ามกับประเทศจีน ผู้นำของเขาทำการปราบปรามอย่างเฉียบขาด ทั้ง“ปราบเสือและตีแมลงวัน” จึงเกิดแรงศรัทธาจากประชาชนอย่างกว้างขวางและหนุนเนื่องให้ทำการใหญ่ๆได้สำเร็จ รวมทั้งเอาชนะความยากจนในหมู่ประชากร 800 ล้านคนในช่วงสุดท้าย

สำหรับเรื่องนี้ ใครคือเสือ ใครคือบรรดาแมลงวัน มีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว 

จึงขอฝากไปยังท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าพรรคที่เกี่ยวข้อง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ขอจงช่วยบำบัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนของประชาชนและชาติบ้านเมืองด้วยเถิด.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / วันที่ 22 เมษายน 2567