กองทุนภาครัฐ กลไกเปลี่ยนเกมการปฏิรูป

รายงานประชาชน ฉบับที่ 3/2567

“ทุนหมุนเวียน” เป็นแหล่งเงินนอกงบประมาณ เป็นเครื่องมือการคลังเพื่อใช้กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมสวัสดิการสังคม การกระจายรายได้ และการสนับสนุนนโยบายอื่นๆของรัฐบาล

จึงมีความคล่องตัวทางในการเบิกจ่ายและงบประมาณเหลือจ่ายไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

” กองทุนภาครัฐ กลไกเปลี่ยนเกมการปฏิรูป “

อีกทั้งยังไม่ผูกยึดกับกฎระเบียบราชการมากจนเกินไป หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบสามารถออกกฎระเบียบควบคุมเป็นการเฉพาะ ถือเป็นการกระจายอำนาจให้ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลภารกิจตามนโยบายดังกล่าวอย่างคล่องตัวและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้พิจารณาในภาพรวมให้ดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานหรือผลการดำเนินงานขาดทุนและกลายเป็นภาระของภาครัฐ

กองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางการคลังต่อสาธารณะอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการประเมินผลด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินงาน เป็นเพียงการประเมินการบริหารภายในองค์กรเป็นหลัก ในแง่นี้กองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณจึงมีข้อจำกัดในด้านความโปร่งใสทางการคลัง

คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เล็งเห็นว่าทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะการบริหารแบบ“กึ่งรัฐกึ่งเอกชน” จึงมีความใกล้ชิดกับประชาชน มีความคล่องตัวกว่าหน่วยงานราชการในรูปแบบเดิม และมีศักยภาพในการดำเนินงานสนองนโยบายใหม่ๆ

ทุนหมุนเวียนโดยส่วนใหญ่มีสถานะไม่เป็นนิติบุคคล อยู่ในการกำกับของหน่วยงานระดับกรม ในขณะที่บางส่วนเป็นนิติบุคคลโดยมี พรบ.เฉพาะ หลายกองทุนมีลักษณะการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการเรื่องอุบัติเหตุทางถนน ขณะที่กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนก็มีภารกิจลักษณะเดียวกัน ดังนั้น หากมีการบูรณาการร่วมกันอย่างเหมาะสมก็น่าจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานในวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งหลายกองทุนมีความสนใจในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าทำอย่างไรจะมีการเข้าถึงบริการของทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

ภาพรวมกองทุนหมุนเวียน 

ทุนหมุนเวียนภาครัฐ มี 2 ลักษณะ  1)ทุนหมุนเวียนที่มีรายได้หลักมาจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้  2) ทุนหมุนเวียนที่สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปี

มีจำนวนรวม 113 กองทุน แบ่งเป็น 5 ประเภทตามวัตถุประสงค์  ประกอบด้วย    1)เพื่อการกู้ยืม  15 กองทุน  2)เพื่อการจำหน่ายและการผลิต 12 กองทุน  3)เพื่อการบริการ 6 กองทุน  4)เพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม 18 กองทุน  5) เพื่อสนับสนุนส่งเสริม 62 กองทุน

มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 5.031 ล้านล้านบาท (เปรียบเทียบงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทของปี 2567) ในจำนวนนี้เป็นเงินสด รายการเทียบเท่าเงินและเงินลงทุน 4.409 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.65  หนี้สินรวมทั้งสิ้น 2.115 ล้านล้านบาท  และมีรายได้รวมทั้งสิ้น 7.40 แสนล้านบาท

ภาพแสดงข้อมูลทางการเงินของเงินนอกงบประมาณ (ภาพรวม) ประจำไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ข้อมูลเบื้องต้น)

ประเด็นความสนใจร่วม 

เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนภาครัฐ มี 10 ประเด็นความสนใจร่วม ได้แก่ (1) ความเสมอภาคทางการศึกษา (2) การวิจัยด้านพลังงาน (3) การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (4) การขยายผลงานวิจัย (5) การจัดการปัญหาอุบัติเหตุ (6) คุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย (7) การจัดการด้านงบประมาณและกลุ่มเป้าหมาย (8) ตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน (9) สวัสดิการของบุคลากรกองทุน (10) การหารายได้ของกองทุน เพื่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย 

สร้างขวัญกำลังใจ 

มีข้อเสนอการพัฒนาระบบสวัสดิการพื้นฐานและสร้างความมั่นคงของกองทุน ประกอบด้วย 5 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรมี   กลุ่มที่ 2 พัฒนาศักยภาพคนทำงาน   กลุ่มที่ 3  ความสุขของคนทำงาน กลุ่มที่ 4 ความมั่นคงของคนทำงานกองทุน  กลุ่มที่ 5 การออมเพื่อการเกษียณ 

พัฒนาระบบกองทุน

ทุนหมุนเวียนมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในด้านเหตุผลความจำเป็นในการก่อตั้ง วัตถุประสงค์ และขนาดของกองทุน 

(1) ควรจำแนกกองทุนประเภทที่จัดสรรงบประมาณแบบให้เปล่า ออกจากกองทุนหมุนเวียนประเภทอื่น กำหนดโครงสร้างและตัวชี้วัดในการประเมินผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบท

(2) พัฒนาระบบการจัดเก็บฐานข้อมูลกองทุน เชื่อมโยงและพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน

(3) กำหนดผู้รับผิดชอบหลักในการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน

(4) ให้บริการคลินิกกองทุน

(5) เสริมสร้างการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีผลสัมฤทธิ์ เช่น การมีเวทีร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำงานกองทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทบทวนประเด็นความซ้ำซ้อนภารกิจของกองทุนที่มีอยู่ในประเทศไทย  การมีฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อการวางแผนร่วมกัน หรือการวิเคราะห์เชิงนโยบายกองทุน และการส่งเสริมแนวคิดการก่อตั้งเครือข่ายกองทุนภาครัฐแห่งประเทศไทย

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและรัฐสภา 

กองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณของภาครัฐในปัจจุบันมีหลากหลายประเภทตามวัตถุประสงค์และมีจำนวนมาก หน่วยงานและปริมาณเงินหมุนเวียน จึงมีศักยภาพที่มากเพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนภารกิจการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นและกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนบทบาทหน่วยงานรัฐกันเสียใหม่ โดยกำหนดให้กระทรวงเป็นกลไกหลักในด้านการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการในภาพรวม ลดบทบาทการเป็นหน่วยงานผู้ปฏิบัติลงโดยผ่องถ่ายไปหน่วยงานส่วนท้องถิ่นมากขึ้น  

ส่วนในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นควรกำหนดให้เป็นบทบาทของหน่วยงานประเภททุนหมุนเวียนภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นไปตามตามความเหมาะสมของสถานการณ์ .

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป , วันที่ 29 เมษายน 2567