รายงานประชาชน ฉบับที่ 4/2567
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้รับทราบการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเชิงศิลป์แผ่นดินสุพรรณภูมิ จากคณะทำงานชุมชนผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมฯ
อันประกอบด้วย นักวิชาการ ครูอาจารย์ในพื้นที่ ตัวแทนชุมชน 3 กลุ่มดำเนินการ ซึ่งได้ขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดสุพรรณบุรีมาอย่างต่อเนื่อง
ได้แก่ 1) กลุ่มดำเนินงานศิลปกรรมชุมชนไทดำ 2) กลุ่มดำเนินงานการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง 3) กลุ่มศิลปินถิ่นสุพรรณผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมทางดนตรี
ทั้ง 3 การดำเนินงาน เป็นการขับเคลื่อนด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการเรียนรู้สู่ความเข้าใจ เข้าถึงและร่วมกันพัฒนา อันมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสรรค์เรื่องราวทางวัฒนธรรมของชุมชนให้มีความเจริญวัฒนา บนพื้นฐานแห่งภูมิรู้ ภูมิธรรม จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางสังคมในเชิงประจักษ์ พร้อมที่จะรับการพัฒนาให้เกิดความสมบูรณ์และนำเสนอสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรมในลำดับถัดไป

อู่ทอง
2,500-2,000 ปีมาแล้ว สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีชุมชนตั้งถิ่นฐานที่เมืองอู่ทอง
พ.ศ. 270 – 311 พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระสมณฑูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ มีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลักหรือราชธานี
พุทธศตวรรษ 5-9 อู่ทองเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้วของเวียดนาม ค้าขายกับจีน อินเดีย ตะวันออกกลางและยุโรป
พุทธศตวรรษ 9 กล่าวกันว่าเมืองจินหลิน(อู่ทอง) เป็นนครรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันปราบสำเร็จ
ปลายพุทธศตวรรษ 11-16 อาณาจักรฟูนันล่มสลาย อาณาจักรทวารวดีเจริญขึ้นมาแทนที่
บันทึกของพระภิกษุจีนยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางทางศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และวัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาท ใช้ภาษามอญ ยึดถือคติทางศาสนา ศิลปะรูปแบบคุปตะจากอินเดีย
สุพรรณภูมิ
พุทธศตวรรษ 16 เมืองอู่ทองหมดความสำคัญลงและร้างไป จึงรอดพ้นจากอิทธิพลเขมร(ชัยวรมันที่ 7) ความรุ่งเรืองถ่ายเทไปที่สุพรรณภูมิ การค้าร่วมกับจีนหนุนส่งให้เมืองสุพรรณภูมิหรือเจินหลี่ฟู่เติบโตขึ้นมา ก่อนที่อู่ทองจะถูกทิ้งร้าง
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ระบุว่าอู่ทองเป็นนครรัฐที่มีความสำคัญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา
เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระเจ้าอู่ทองแห่งราชวงอู่ทองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์และเป็นราชวงศ์แรก แม้ต่อมาพ่องั่วขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นราชวงศ์ที่สอง ก็ยังคงเป็นต้นราชวงศ์สุพรรณภูมิซึ่งเกี่ยวเนื่องกันมา
พ.ศ. 1952 – 1967 สมเด็จพระนครินทราธิราชทรงรวมเมืองสุพรรณภูมิ สุโขทัย และอยุธยา ผนวกเข้าด้วยกันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยา
สุพรรณบุรี
พ.ศ. 2111 – 2112 เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุพรรณบุรี ในสมัยของสมเด็จพระมหินทราธิราช ก่อนเสียกรุงครั้งแรก
พ.ศ. 2135 ศึกสงครามทำยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ณ สมรภูมิยุทธดอนเจดีย์
พ.ศ. 2310 เสียกรุงครั้งที่สอง เมืองสุพรรณบุรีถูกทำลายลงและร้างผู้คนนับแต่นั้น เพราะพื้นที่สุพรรณบุรีเป็นสนามรบที่สำคัญทุกครั้ง ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรีอีกเลย กระทั่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 สุพรรณบุรีเป็นเมืองหนึ่งอยู่ในมณฑลนครชัยศรี เปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยรัชกาลที่ 6
ช่วงก่อนหน้านี้ สภาพเศรษฐกิจการเกษตรทำนาเพื่อการยังชีพ ห่างไกลความเจริญ พื้นที่ภูมิทัศน์เป็นป่าที่ต้องหักร้างถางพง ลำบากยากแค้น ขาดระบบชลประทาน ราษฎรอดอยาก เจ้าหน้าที่รัฐกดขี่ข่มเหงราษฎร เกิดพฤติกรรมการเป็น “อ้ายเสือสุพรรณ” ปล้นสะดม ในสายตาของสังคมภายนอกจึงมีความน่ากลัว เป็นเมืองคนดุ ล้าหลัง ไร้การศึกษา บ้านนอกคอกนา พูดจาเสียงเหน่อ ห่างไกลความเจริญ เป็นเมืองปิด
มังกรสุพรรณ
นายบรรหาร ศิลปอาชา คนสุพรรณเชื้อสายจีน เป็นผู้พลิกโฉมเปิดเมืองสุพรรณบุรีด้วยการเมืองท้องถิ่นสู่การเมืองระดับชาติ จนสามารถขึ้นสู่จังหวัดชั้นนำของประเทศ
พ.ศ. 2518 เขาได้ร่วมก่อตั้งพรรคชาติไทย เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีในทุกสมัย ได้รับการยกย่องว่าดูแลกิจการและสมาชิกพรรคได้อย่างเรียบร้อย มีวินัย และมีความเจริญก้าวหน้าในทางการเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในทุกรัฐบาล
ด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย สามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์รูปแบบพิเศษระหว่างนักการเมืองกับชาวจังหวัดสุพรรณบุรี จนเป็นต้นแบบของความผูกพันระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ร่วมทำกิจกรรม ใกล้ชิดกับชาวบ้านในพื้นที่มากกว่าเรื่องใดๆ จนกลายเป็นจุดเด่นทางการเมืองในเวลาต่อมา
เมื่อก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ได้ทำหน้าที่บริหารประเทศเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ได้สำเร็จตามที่สัญญาไว้
หลังจากการก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงรักษาสามารถรักษาฐานเสียงในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีอย่างเหนียวแน่น เพราะจังหวัดสุพรรณบุรีได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วางโครงสร้างพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นระบบ ภาพลักษณ์ของจังหวัดดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดรอบข้าง จนนักวิชาการให้คำนิยามว่าเป็นการเมืองแบบจังหวัดนิยม ปลุกจิตวิญญาณชาวสุพรรณบุรีให้ภาคภูมิใจในความเป็นคนสุพรรณ รักสุพรรณ สร้างสุพรรณ
วิถีทางการเมืองและการพัฒนาท้องถิ่นที่ถือคตินิยม “สัจจะและกตัญญู” รักษาคำมั่นสัญญา ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิดและชาติกำเนิดของตน ได้กลายมาเป็นชื่ออุทยานสุพรรณบุรี หลังจากการถึงแก่อนิจกรรม จึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานที่มีรูปปั้น “มังกรสุพรรณ” ตั้งเด่นเป็นสง่า.

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป
ฉบับที่ 04/2567 วันที่ 6 พฤษภาคม 2567