นวัตกรรมเชิงศิลป์ ถิ่นสังคมเข้มแข็ง

รายงานประชาชน ฉบับที่ 5/2567

ประชากรถิ่นสุพรรณ

ช่วงรัชกาลที่ 1 – 3   กลุ่มลาวพวน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เขตอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภออู่ทอง.  

กลุ่มเขมร ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยพระนเรศวรยกทัพไปปราบพระยาระแวก อีกส่วนหนึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมัยรัชกาลที่1 ตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภออู่ทอง และอำเภอเมืองสุพรรณบุรี. กลุ่มคนญวน มาอยู่ในเขตอำเภอสองพี่น้อง.

ช่วงรัชกาลที่ 5 – 6  กลุ่มลาวซี ลาวครั่ง เดิมที่เทือกเขาภูคัง ประเทศลาว อพยพเข้าประเทศไทยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขึ้นมาตามแม่น้ำท่าจีนเข้าเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งถิ่นฐานในอำเภอสองพี่น้อง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอเดิมบางนางบวช ฯลฯ. กลุ่มไทยโซ่ง (ลาวโซ่ง) จากแคว้นสิบสองจุไททางจีนตอนใต้ เข้ามาที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอสองพี่น้อง . กลุ่มชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ มาจากโพ้นทะเล ชอบอาชีพค้าขาย พูดภาษาแต้จิ๋ว แคะ (ฮักก้า) กวางตุ้ง ไหหลำ อยู่ทุกอำเภอในเขตชุมชนที่มีการค้าขาย. 

“นวัตกรรมเชิงศิลป์ ถิ่นสังคมเข้มแข็ง”

ประชากรจากกลุ่มประเทศอินโดจีน จีนแผ่นดินใหญ่ และแคว้นสิบสองจุไท เมื่อรวมกับคนสุพรรณบุรีดั้งเดิม มอญ กะเหรี่ยง ละว้า ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ทำให้โครงสร้างประชากรจังหวัดสุพรรณบุรีในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณี ทางด้านคติความเชื่อทางศาสนา. 

กลุ่มคนสุพรรณดั้งเดิมและกลุ่มพูดภาษาลาวนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท. กลุ่มคนจีนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน. กลุ่มคนญวนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค. ต่างตั้งศาสนสถานของตนขึ้นเป็นศูนย์รวมจิตใจของแต่ละกลุ่มชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข.

ด้านการประกอบอาชีพ กลุ่มคนจีนถนัดทางด้านค้าขาย งานช่างฝีมือและการทำไร่พืชสวน ส่วนใหญ่จะอยู่ตามย่านชุมชนของแต่ละอำเภอ. ส่วนกลุ่มคนสุพรรณดั้งเดิม กลุ่มพูดภาษาลาวและกลุ่มอื่นๆ ซึ่งถนัดทางด้านเกษตรกรรม จะกระจัดกระจายอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนใกล้เขตป่า เพื่อหักล้างถางพงขยายพื้นที่ทางการเกษตร

นวัตกรรมเชิงศิลป์ชุมชนอู่ทอง

กลุ่มการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง ได้ทำแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกโบราณสถาน การล่วงละเมิดต่อแหล่งอารยธรรม 2,000 ปี โดยชุมชนผู้เข้ามาอยู่อาศัยในภายหลัง 13 ชุมชนในเขตเทศบาลอู่ทอง และ 12 ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลอู่ทอง 

ชุมชนได้เคยทำลายและใช้ประโยชน์จากโบราณวัตถุต่างๆ รวมทั้งทำลายโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ทับถมอยู่ใต้แผ่นดิน ต่อมาจึงเกิดความสำนึก ได้พัฒนาสร้างสรรค์ประเพณี “ทำบุญขอขมาคารวะอารยธรรมโบราณ” และพัฒนากิจกรรมแสดงความคารวะในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งองควัตถุตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนให้เกิดความดีงามสืบต่อไป

ศิลปกรรมชุมชนไทดำ

การดำเนินงานศิลปกรรมชุมชนไทดำได้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนไทดำและลาวโซ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี รวม 10 ตำบลใน 5 อำเภอ (อ.อู่ทอง อ.สองพี่น้อง อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.และ อ.หนองหญ้าไซ)  

ตัวอย่างงานศิลปกรรม 3 ชิ้น ได้แก่ 

1. กระเป๋านักเรียน ชื่อ กระเป๋าแห่งความกตัญญู

2. ผลิตภัณฑ์ไทดำร่วมสมัยของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ลายไทดำร่วมสมัย3 ลาย

3. ดนตรีร่วมสมัย “ไทดำซิมโฟนิคแบนด์” และการแสดงพื้นบ้านไทดำ-ลาวครั่ง

เบญจภาคี ดนตรีสุพรรณ

สำเนียงเหน่อสุพรรณ เมื่อผสมผสานกับความมีสุนทรีย์และความรักในเสียงเพลง ก่อกำเนิดเป็นพัฒนาการเบญจภาคี ดนตรีสุพรรณ อันได้แก่ เพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และเพลงป็อปร็อค ซึ่งได้สร้างซุปเปอร์สตาร์สายเลือดสุพรรณจนโดดเด่นเป็นดาวค้างฟ้าจำนวนมากจากอดีตถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น การดำเนินงานศิลปินถิ่นสุพรรณยังได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมทางดนตรี โดยเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบอาชีพนักดนตรีวงปี่พาทย์มอญที่รับแสดงในงานศพ รวม 36 วงในพื้นที่ 6 อำเภอ (อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง อ.ศรีประจันต์ อ.สามชุก และ อ.หนองหญ้าไซ) และวงดนตรีของกลุ่มโรงเรียนมัธยมภาครัฐ เกิดเป็นเครือข่ายศิลปินและนักดนตรีพื้นบ้านขนานแท้  

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังขาดโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเพื่อใช้ในการสื่อสารแสดงตนสู่สังคมวงกว้าง อีกทั้งยังขาดโอกาสในการเชื่อมโยงและหนุนเสริมระหว่างศิลปินระดับชาติชาวสุพรรณบุรีกับเครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน เพื่อแต่งเติมสีสันและหยั่งรากความเป็นเมืองแห่งดนตรีตามที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากองค์การ UNESCO.

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป 
ฉบับที่ 05/2567 วันที่ 13 พฤษภาคม 2567