ปัญโญทัย โรงเรียนทางเลือกแบบวอลดอร์ฟ

รายงานประชาชน ฉบับที่ 6/2567

ระบบการศึกษาของเราเท่าที่เป็นอยู่ในภาพรวม ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการแข่งขันด้วยความเป็นเลิศ มุ่งปริญญา แพ้คัดออก นอกจากมีปัญหาด้านคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแล้ว ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่นับวันยิ่งถ่างขยายออกไปทุกที

“ปัญโญทัย โรงเรียนทางเลือกแบบวอลดอร์ฟ”

ในฐานะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ คณะทำงานของเรามุ่งค้นหาและผลักดันรูปแบบการจัดการศึกษาที่เป็นนวัตกรรมและทางเลือกใหม่ๆ โดยมีความเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มให้โอกาสแก่คนทุกชั้นชน

แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf Method) เป็นรูปแบบการศึกษาในฐานะหลักสูตรโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนแนวบูรณาการ มีแนวการสอนที่แตกต่างจากโรงเรียนกระแสหลัก เป็นโรงเรียนที่มีกฎหมายรองรับและจัดการศึกษาที่อิงกับระบบของกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน แตกต่างตรงที่โรงเรียนจะนำการเรียนการสอนมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสม เน้นเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การลงมือทำ การเล่น ทั้งในและนอกห้องเรียน 

โรงเรียนปัญโญทัย (Panyotai Waldorf Schoolมีพัฒนาการมาจากระบบโฮมสคูล เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนวอลดอร์ฟนับพันแห่งจาก 60 ประเทศทั่วโลก กล่าวกันว่าเป็นสถานศึกษาซึ่งยึดมั่นในหลักการของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ โดยปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและเยาวชนไทย มุ่งหมายให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วด้านและสมดุล มุ่งพัฒนาทั้งกาย ใจ และปัญญา ให้เด็กเติบใหญ่ขึ้นมาโดยพรั่งพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

นายแพทย์พร พันธุ์โอสถ เจ้าของและผู้ก่อตั้ง กับอาจารย์วีณา รัตนมงคล ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าให้คณะศึกษาดูงานของเราว่า เป้าหมายไม่ใช่การผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อป้อนตลาดแรงงาน ทิศทางนโยบายไม่ผันแปรไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือการเมือง แต่จุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แก่เด็ก อันเป็นสิ่งสำคัญและสำคัญ ไม่ว่าต่อไปเขาจะเลือกเรียนสาขาใดหรือทำงานอะไร จะช่วยให้เขามีอิสระทางความคิด รู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตน พร้อมที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกและเพื่อนมนุษย์

จุดที่แตกต่างไปจากระบบของโรงเรียนอื่น คือการรักษาวัยเด็กไว้กับเด็ก ไม่เร่งรัดให้เขารีบโตรีบก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ก่อนเวลา ให้มีชีวิตวัยเด็กที่สดใส ไม่ถูกทำลายด้วยปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อความบริสุทธิ์ของเด็ก โรงเรียนพยายามสกัดกั้นกระแสบริโภคนิยม พาณิชยนิยมจากตัวเด็ก ส่งเสริมให้เด็กใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามกระแส ไม่ติดวัตถุ สามารถทำงานพื้นฐานของชีวิต ตลอดจนทำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆได้ด้วยตัวเอง

บรรยากาศการอยู่ร่วมกันในโรงเรียนเป็นไปด้วยความเอื้ออาทรและเกื้อกูล ครูจะคอยดูแลส่งเสริมให้เด็กๆมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งทางคำพูดและการกระทำ เห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่สนับสนุนให้มีการแก่งแย่งแข่งขันหรือกลั่นแกล้งล้อเลียนกัน การทะเลาะวิวาทจึงไม่ใช่เหตุการณ์ปกติสำหรับที่นี่

โรงเรียนไม่สนับสนุนให้เด็กใช้สื่อโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ก่อนชั้นมัธยมปลาย เนื่องจากมีผลกระทบต่อเด็กอย่างร้ายแรง ทำลายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก กระทบต่อการพัฒนาสมองและปัญหาการพูด ตลอดจนปลูกฝังทัศนะการบริโภคนิยม วัตถุนิยมลงในตัวเด็ก ปลุกให้มีเรื่องเพศก่อนเวลา เพราะไปปล่อยให้การเรียนรู้ของเด็กอยู่ภายใต้การเรียนรู้ทางอ้อมจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการค้า แทนที่จะเป็นการเรียนรู้ทางตรงจากครูและระบบโรงเรียน

ที่นี่ไม่มีการสอนอ่าน เขียน คำนวณในระดับชั้นอนุบาล เด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการทำตามแบบอย่างของครู ของเล่นเป็นของง่ายๆพื้นๆจากธรรมชาติที่ครูทำขึ้น ไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูปหรือของเล่นกลไกใดๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่

ไม่มีแบบเรียนในระดับประถมศึกษา เด็กจะเรียนรู้จากครูผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้นๆก่อนที่จะนำมาถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ชีวิตของตน ประกอบกับความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีชีวิต เด็กเกิดจินตนาการ สร้างภาพขึ้นในใจ ไม่ใช่การท่องจำเก็บข้อมูลไว้เพื่อส่งกลับคืน จากนั้นเด็กจะบันทึกบทเรียนรู้ไว้ในสมุดของตนซึ่งจัดทำขึ้นอย่างมีศิลปะ

ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.2 เด็กที่นี่จะมีครูประจำชั้นคนเดิม ซึ่งจะติดตามพัฒนาการความก้าวหน้าของนักเรียนไปอย่างต่อเนื่อง รู้จักนักเรียนเป็นอย่างดี เอาใจใส่เด็กแต่ละคนในทุกด้าน ไม่เฉพาะวิชาการ แต่รวมไปถึงพฤติกรรม ทัศนคติและการอยู่ร่วมกัน

สองชั่งโมงแรกของแต่ละวันในระดับประถมและมัธยม จะเป็นการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งที่ต่อเนื่องกันไป ตลอด 3-6 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นวิชาอื่น  หลังจากวิชาหลักในสองชั่วโมงแรกแล้วจะเป็นวิชาประจำซึ่งต้องเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดปี ทุกวันเวลานั้นๆ เป็นต้นว่า ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดนตรี งานไม้ หัตถกรรม

รูปแบบการเรียนรู้ไม่ได้เป็นไปแบบนั่งฟังและลอกตามกระดานดำ แต่ผ่านการเคลื่อนไหว ปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถ่ายทอดผ่านศิลปะ 

ที่นี่ไม่ใช้การสอบเป็นวิธีวัดประเมินผล โดยที่เด็กในแต่ละห้องมีจำนวนไม่มาก ประกอบกับครูรู้จักเด็กแต่ละคนในห้องเป็นอย่างดี จึงสามารถสังเกตุและประเมินได้ว่าการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไรโดยไม่จำเป็นต้องประเมินด้วยการสอบ ครูจะคุยกับผู้ปกครองและเขียนรายงานผลการเรียนของเด็กส่งให้

นอกจากนั้น ที่นี่ยังไม่มีการติวนักเรียนสำหรับการสอบใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากการเรียนการสอนของโรงเรียนนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อเตรียมเด็กไปสอบเข้าที่นั่นที่นี่ ทว่าเป็นการเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับชีวิต.

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป 
ฉบับที่ 06/2567 วันที่ 20 พฤษภาคม 2567