รายงานประชาชน ฉบับที่ 9/2567
ในช่วงการทำงานระยะท้ายๆ ของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ทีมทำงานตั้งใจลงไปติดตามดูผลสัมฤทธิ์รูปธรรมในระดับพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์จากความเป็นจริง

ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะทำงานมุ่งไปดูตัวอย่างการดำเนินงานของ ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ ซึ่งในปี 2566 ได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชนไปเพียง 4 แห่ง จำนวน 39,600 บาท อยากเรียนรู้ว่าชาวบ้านเขาทำอะไรกันบ้าง ปรากฏว่าชาวบ้านสามารถช่วยกันแก้ปัญหาสมาชิก 120 ครอบครัว รวมสัญญาหนี้สิน 132 สัญญา 5,343,300 บาท ลดหนี้ 505,000 บาท ปลดหนี้ 883,000 บาท
พัฒนาชุมชนจังหวัด ในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องเจ้าของเงินงบประมาณ ได้รายงานให้ทราบในภาพรวมว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าของคำขวัญ “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ” มีประชากรรวม 1.07 ล้านคน แบ่งการปกครองเป็น 19 อำเภอ 131 ตำบล 1,074 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 138 แห่ง (อบจ.1 ทบน.1 ทบม.3 ทบต.26 อบต. 107) มีกลุ่มเกษตรกร 364 กลุ่ม 10,792 คน
สุราษฎร์ธานีมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอยู่ครบทุกชุมชน นอกจากนั้นยังมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนสัจจะออมทรัพย์ และกองทุนอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้ริเริ่มงานส่งเสริมสนับสนุนให้จัดตั้งศูนยืจัดการกองทุนชุมชนมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็งเป็นแกนหลัก และสามารถจัดตั้งยกระดับขึ้นเป็น “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” และดำเนินงานบริหารจัดการหนี้ชุมชนอย่างบูรณาการให้เห็นเป็นตัวแบบ มี 34 แห่ง
ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่มาจากตัวแทนของกลุ่ม องค์กรชุมชนในหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนที่เกิดจากการเป็นหนี้กองทุนต่างๆ ทั้งในส่วนที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านเองและกองทุนที่รัฐจัดตั้ง โดยผ่านกระบวนการจัดการหนี้ เป้าหมายคือ การลดหนี้-ปลดหนี้ของครัวเรือน
ที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองใหม่ ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง เป็นตัวอย่างของศูนย์จัดการกองทุนดีเด่นระดับจังหวัด ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 เริ่มต้นจากสมาชิก 36 คน ด้วยเงินสัจจะ 4,500 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 29 กลุ่มย่อย 2,160 ครัวเรือน มีเงินออมรวม 100 ล้านบาท
ในการดำเนินงานตามปกติของกองทุนชุมชนที่นี่ ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องเป็นผู้อยู่อาศัยจริงในตำบลวัดประดู่อย่างน้อย 2 ปี อายุไม่เกิน 60 ปี เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มย่อยมาก่อนแล้ว มาสมัครด้วยตนเอง ค่าธรรมเนียม 50 บาท ค่าประกัน 500 บาท และเริ่มต้นด้วยการออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนโดยถือเป็นสัจจะ
เมื่อเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์จะได้รับสวัสดิการ 11 ประการ อาทิ เมื่อคลอดบุตร เมื่อแรกเกิด เมื่อเป็นสมาชิกครบ 10 ปี เมื่ออายุ 65 ปี เมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล เมื่อเสียชีวิต ทุนการศึกษา กู้ยืมเพื่อการศึกษา และเมื่ออายุครบ 80 ปีขึ้นไปได้เงินผู้สูงอายุ 300 บาททุกเดือน นอกจากนั้นกองทุนชุมชนยังจัดสวัสดิการเพื่อสาธารณะประโยชน์อีก 9 ประการ เช่น พัฒนาหมู่บ้าน สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัคร อปพร. งานประเพณี งานบุญกฐินผ้าป่า รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มปุ๋ย กองทุนข้าวสาร บริการเคาเตอร์เซอร์วิส
สำหรับการจัดการกองทุนชุมชน มีวัตถุประสงค์ 1)บูรณาการเชื่อมโยงองค์กรกองทุนต่างๆในชุมชน 2)จัดการรวมหนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งสัญญา 3)บริหารจัดการหนี้นอกระบบ 4)แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5)ส่งเสริมการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพ 6)ส่งเสริมวินัยการบริหารเงิน 7)สนับสนุนวินัยการออม
ในด้านการจัดการหนี้ครัวเรือน มี 8 รูปแบบที่ชาวบ้านใช้ ได้แก่ 1)รวมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลดจำนวนสัญญาลง 2)ยืดหนี้ ขยายเวลาส่งใช้คืนเงินกู้ยืม 3)ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ให้เกินที่กฎหมายกำหนด 4)พักชำระเงินต้นในช่วงสั้นๆ 5)พักหนี้ งดต้นงดดอกในช่วงพัก 6)ยก/ผ่อนปรนค่าเบี้ยปรับ 7)รีไฟแนนซ์ ปิดหนี้เก่า โอนไปทำสัญญาใหม่ 8)อื่นๆ
ประเภทของหนี้สินที่เป็นเป้าหมายในการจัดการแก้ปัญหา ได้แก่ หนี้ที่ใช้ในการลงทุนนำไปประกอบอาชีพและทำการเกษตร หนี้ที่เกิดจากเงินกู้นอกระบบมีดอกเบี้ยสูง หนี้ที่ใช้ทางการศึกษา และหนี้ที่ใช้การกู้หลายสัญญาในครัวเรือนเดียวกัน หัวหน้ากลุ่มสำรวจปัญหาสมาชิก จัดทำข้อมูลเสนอในการประชุมกลุ่ม วิเคราะห์จัดประเภทและศักยภาพลูกหนี้ จัดลำดับยอดหนี้จากน้อยไปหามาก เสนอแผนให้คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนพิจารณา ประชุมเจรจากับเจ้าหนี้ และนำมาสู่การบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
นอกจากนั้น ศูนย์ยังมีโครงการส่งเสริม “การออมปลดหนี้” โดยสมาชิกออมเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละเท่าๆกันตลอดทั้งปีจนกว่าจะมีเงินออมเท่ากับเงินกู้ที่คงค้างกองทุนจึงดำเนินการชำระเงินต้นได้ ส่วนดอกเบี้ยชำระรายเดือนตามปกติ และมีโครงการออมรายปีเป็นพิเศษ ปีละ 1 ครั้ง การออมรายเดือนแบบเผื่อเรียกหรือออมทรัพย์ทำได้แบบไม่จำกัดวงเงินและสามารถถอนใช้ได้ทุกเดือน
ทั้งหมดนี้ สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ในด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านเศรษฐกิจฐานราก และ ด้านความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม.
รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป
ฉบับที่ 09/2567 วันที่ 10 มิถุนายน 2567