รายงานประชาชน ฉบับที่ 10/2567
คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ไปดูแผนงาน โครงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงหนือ
ที่มีทิศทางไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง
จังหวัดอุบลราชธานีมุ่งพัฒนาไปสู่ภาคการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เชื่อมโยงการค้า การลงทุนในภูมิภาคตามแนวคิดการเป็นฐานการผลิตของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน สร้างโอกาสในขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้มีเป้าหมายอัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 5 ต่อปี

อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช เป็นชื่อยาวๆของจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งที่สืบเนื่อง ยาวนานเป็นพลวัตร จึงมีขนาดกว้างใหญ่ แม้จะแยกจังหวัดออกไปเป็นยโสธรและอำนาจเจริญแล้ว ก็ยังคงมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 5 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือ 1.869 ล้านคน แบ่งการปกครองเป็น 25 อำเภอ 219 ตำบล 2,704 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 239 แห่ง ( 1 อบจ. 1 ทบน. 4 ทบม. 54 ทบต. 179 อบต.)
จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์บริเวณแอ่งโคราช มี 3 ลุ่มแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล นอกจากนั้นยังมีลำน้ำย่อยหลายสาย เช่น ลำเซบาย ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย มีภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งแบบที่ราบสูง และแบบภูเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาสำคัญได้แก่ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาพนมดงรัก มีพื้นที่ทำการเกษตร 6.4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 4.12 ล้านไร่ และมันสำปะหลัง 0.54 ล้านไร่
ปี 2566 มีงบประมาณลงพื้นที่รวม 19,000 ล้านบาท จังหวัดมีงบบริหารจัดการ 300 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ GPP 135,617 ล้านบาท (อันดับ 1 ของกลุ่มจังหวัด) GPP/Head 78,275 บาท/คน/ปี (อันดับ 2 ของกลุ่มจังหวัด) โดยเฉลี่ยเป็นภาคเกษตรร้อยละ 19.8 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 16.7 และภาคบริการร้อยละ 63.5
อุบลราชธานีมีศักยภาพ 5 ประการ ในมุมมองทางยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่
1. ศูนย์กลางการค้าการลงทุน มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน คือสปป.ลาว และกัมพูชา มีด้านถาวร 2 ด่าน และจุดผ่อนปรน 5 จุด มีสินค้าส่งออกสำคัญคือ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม สินค้านำเข้า ได้แก่ สินค้ากสิกรรม พลังงานไฟฟ้า สินค้าพื้นบ้าน มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขยายขึ้นทุกปี
2.ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค เป็นจังหวัดที่มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมไปยังประเทศลาวและเวียดนาม สามารถพัฒนาเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ เป็นเมืองที่สามารถเชื่อมโยงเมืองภูมิสำคัญอื่นๆ ทั้งศรีสะเกษ-ช่องสะงำ สุรินทร์-ช่องจอม มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ยโสธร ขอนแก่น
3.ศูนย์กลางการพัฒนาการเกษตร มีการเกษตร ปศุสัตว์ และประมงเป็นศักยภาพสำคัญของจังหวัด เพราะพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 4.12 ล้านไร่ เป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สุดของประเทศ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรในภูมิภาค
4.แหล่งรวมประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม เป็นเมืองประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี มีสถานะเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นตำรับงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของไทย
5.แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศที่เส้นแวง ท105 องศาตะวันออก เป็นจังหวัดแรกที่จะเห็นดวงอาทิตย์ก่อนพื้นที่อื่น มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย เช่น ผาแต้ม ผาชนะได สามพันโบก เป็นจังหวัดที่แม่น้ำใหญ่สามสายมาบรรจบกัน คือ โขง ชี มูล
ดังนั้น ในแผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้กำหนดตำแหน่ง จุดยืน และยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ใน 5 ประเด็น ได้แก่
1) การพัฒนาเมืองน่าอยู่ทันสมัย มุ่งเป็นเมือง Smart city ภายในปี 2570
2) การส่งเสริมเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง มุ่งส่งเสริมพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
3) การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งสร้างมหานครแห่งโคกหนองนา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง
4) การพัฒนาศูนย์กลางการค้าการลงทุน มุ่งเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สามเหลี่ยมมรกต ด้านชายแดนช่องเม็ก นิคมอุตสาหกรรม
5) การส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวแห่งความสุขหลายมิติสู่สากล มุ่งพัฒนาเส้นทางโรแมนติก แสงแรกแห่งสยาม สี่มหัศจรรย์ ประเพณีแห่เทียนพรรษา เทศกาลผลไม้ ถนนสายวัฒนธรรม.
รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช ปิ่นประทีป
ฉบับที่ 10/2567 วันที่ 24 มิถุนายน 2567