รายงานประชาชน ฉบับที่ 12/2567
เมื่อได้นั่งทบทวนประสบการณ์การทำงานฟื้นฟูชนบทและพัฒนาสังคมในระยะ 40 ปี เห็นชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยทำแบบ “บนลงล่าง” ไม่สำเร็จ แม้สำเร็จก็ไม่ยั่งยืน
โดยส่วนตัวจึงมีความโน้มเอียงในการทำงานแบบ “ล่างขึ้นบน” เปลี่ยนวิถีการทำงานจากระดับมหภาคสู่จุลภาคมากขึ้น

หมายรวมถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหาความยากจน การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ
ในยุคแรกๆ ที่ทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เราเคยเชื่อว่า “ตำบล” เป็นหน่วยชุมชนที่มีขนาดพอเหมาะที่สุดในการทำงาน จึงโฟกัสลงไปเสริมสร้างตำบลเข้มแข็ง ด้านการแก้ปัญหาความยากจนก็มุ่งไปที่ระดับ “ครัวเรือน” เป้าหมาย ต่อมาการทำงานร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานระดับกระทรวงต่างๆที่ส่วนกลางมากขึ้น เห็นช่องโหว่ระหว่างหน่วยงานวางแผนระดับชาติกับหน่วยดำเนินการขับเคลื่อนที่อยู่ในระดับตำบลฐานราก จึงหันไปสร้างสร้างกลไก “เครือข่ายประชาคมจังหวัด” ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อต่อ-รอยเชื่อม
ในช่วงหลังสุด การทำงานด้านนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกวุฒิสภา งานติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปการเมือง การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ยิ่งมองเห็นประเด็นปัญหาการบูรณาการ อันทำให้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่สวยหรู ไม่อาจเกิดขึ้นจริง
จึงเป็นที่มาของแนวคิด “ยุทธศาสตร์อำเภอบูรณาการ” อันเป็นคำตอบจากผลึกประสบการณ์ส่วนตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมไทย เพราะอำเภอเป็นเสมือนประเทศขนาดจิ๋ว มีกลไกการปกครอง กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชนฐานราก วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โรงพัก ฯลฯ จึงอยู่ในวิสัยที่จะเกิดการบรรจบกันระหว่างแนวคิดแบบ “บนลงล่างกับล่างขึ้นบน” และ “มหภาคพบจุลภาค”
ดังตัวอย่าง
1.ขยายโมเดลโรงเรียนร่วมพัฒนา สร้างพลเมืองในคุณภาพใหม่
- ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โมเดลโรงเรียนร่วมพัฒนาที่มีโรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ และเครือข่ายโรงเรียน 300 แห่งใน 69 จังหวัด เป็นต้นแบบ
- โรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นรูปแบบการปฏิรูปการศึกษาที่ใช้โรงเรียนเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบจากที่เคยเป็นแค่ห้องเรียนสำหรับเด็กให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของคนทุกวัยในชุมชน ช่วยแก้ความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมทั้งสร้างพลเมืองคุณภาพใหม่ที่มีจิตใจรักเพื่อนมนุษย์ เป็นคนดี มีจิตสาธารณะ ซื่อสัตย์ซื่อตรง รับผิดชอบ รักชาติบ้านเมือง มีวินัยในชีวิต และเป็นผู้ประการรุ่นเยาว์
- ถ้าทั่วประเทศมีโรงเรียนเช่นนี้สัก 1,000 แห่งกระจายอยู่ในทุกอำเภอ โดยเฉพาะในอำเภอบูรณาการอาจมีโรงเรียนแบบนี้เกิดขึ้นในทุกตำบล เช่นนี้ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆในพื้นที่ได้เข้าเรียนผ่านระบบการศึกษาที่มีคุณภาพใหม่ได้อย่างครอบคลุม
2.ขยายโมเดลฝายแกนดินซีเมนต์ กระจายแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก
- ปัจจุบันพื้นที่การเกษตร 149.2 ล้านไร่ มีเพียง 33 ล้านไร่(22%)เท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน ส่วนที่เหลืออีก 78% ยังต้องพึ่งพาน้ำฝนและน้ำใต้ดินในการทำเกษตรและบริโภค ที่สำคัญยังมีพื้นที่ 21.1 ล้านไร่ที่ตกอยู่ในภาวะแล้งซ้ำซากระดับรุนแรงมากและรุนแรงปานกลาง
- โมเดลฝายแกนดินซีเมนต์เป็นเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมมากที่สุด เพราะไม่มีโครงสร้างแข็ง ไม่มีเหล็ก หิน หรือคอนกรีตใดๆเป็นส่วนประกอบ สามารถทำได้ง่ายและเร็วมาก (5-7 วัน) จึงทันสถานการณ์และสามารถเก็บกักเก็บน้ำส่วนที่อยู่ใต้พื้นลำธารขึ้นมาใช้ได้โดยทันที ใช้ร่องน้ำตามธรรมชาติเป็นที่กักเก็บน้ำเหนือดิน เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดป่าเปียกขึ้นโดยรอบ ลด PM 2.5
- ปัจจุบันมีต้นแบบฝายแกนดินซีเมนต์ 683 แห่ง ในจังหวัดภาคเหนือและอีสาน ทำกันเองโดยชุมชนและท้องถิ่น ถ้ามีฝายแกนดินซีเมนต์เช่นนี้ในลุ่มน้ำสาขาขนาดเล็กๆสัก 100,000 ตัว ซึ่งใช้งบประมาณอุดหนุนชาวบ้านเพียง 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอำเภอบูรณาการสามารถ 1,000 ตัวได้แบบสบายๆ ประเทศไทยจะเอาชนะปัญหาแล้งซ้ำซากได้ทั้งประเทศ สามารถเป็นแหล่งอาหารของโลกได้ เกษตรกรจะมีงานทำตลอด 365 วัน
3.ส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 195 เมืองระดับรอง
- การขยายและกระจายฐานเศรษฐกิจให้กว้าง คือการเปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และแรงงานสามารถมีแหล่งงานมีรายได้ในพื้นที่ใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายด้านค่าครองชีพ ที่อยู่อาศัยและการเดินทาง เมืองคือชุมชนท้องถิ่นขนาดใหญ่ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเมืองจึงเป็นการพัฒนาจากฐานล่างที่ยังยืน
- เทศบาลเมือง (ทม.) เป็นเมืองระดับรอง มีประชากรขั้นต่ำ 10,000 คน ปัจจุบันมีเมืองระดับรองประมาณ 195 เมืองกระจายอยู่ตามจังหวัดเล็กและอำเภอใหญ่ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมามักขาดโอกาสในการพัฒนา เพราะแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างมุ่งไปสู่เมืองหลัก เมืองใหญ่ และสมาร์ทซิตี้
- ถ้าแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งบรรดาแผนท้องถิ่นทั้งหลาย หันกลับมาตั้งเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและเมืองระดับรองของตนอย่างมีกรอบประเด็นและอย่างต่อเนื่อง โดยทำติดต่อกันสัก 5-10 ปี ทั้งในด้านปฏิรูปอุตสาหกรรมท้องถิ่น ท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชน แหล่งน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน ปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็ก ปฏิรูปการอาชีวะศึกษาของจังหวัด ฯลฯ เมื่อนั้นก็จะได้เห็นเมืองเหล่านี้กลายเป็นเครื่องจักรกลขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเต็มภาคภูมิ.
รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 12/2567 วันที่ 8 กรกฎาคม 2567