รายงานประชาชน ฉบับที่ 13/2567
กระบวนการเลือกตัวแทนระดับชาติทุกครั้ง ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการให้ความรู้แก่ประชาชน ยกระดับจิตสำนึกของสังคม
และฝึกฝนวิถีชีวิตความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับการเลือก สว. ครั้งนี้ ตอนแรกที่ทราบผลการนับคะแนนเบื้องต้น มีเสียงเสียงเอะอะโวยวายของผู้ร่วมแข่งขันมากกว่าทุกครั้ง แต่พฤติกรรมและกลยุทธ์ในการแข่งขันรณรงค์ของฝ่ายต่างๆ ทำให้ โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่า “การเมืองไทยก็เป็นเช่นนี้” ใครแพ้ใครชนะเป็นเรื่องธรรมดา โวยวายกันสักพัก สุดท้ายก็เงียบไปเอง

เพราะการเลือกผู้แทนทุกครั้ง ต่างฝ่ายต่างศึกษากฎกติกามารยาทมาเป็นอย่างดี แม้เครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งส่วนที่เป็นอิสระและส่วนที่มีสีเสื้อสังกัด ก็ยังยินดีเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน ในเมื่อทุกคนต่างมีกลเม็ดเด็ดพรายในการเอาชนะการแข่งขัน ทั้งแบบใต้ดิน บนดิน ชกใต้เข็มขัด และสารพัดวิธีตุกติกนอกกติกา เมื่อผลออกมาฝ่ายสีน้ำเงินได้รับการชูมือแบบถล่มทลายในทุกกลุ่มอาชีพจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่เมื่อได้ตรวจดูรายชื่อและคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือกเป็น สว. 200 คน แบบพินิจพิเคราะห์เป็นรายคน จึงเห็นถึงคุณสมบัติผู้เป็นตัวแทนความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพที่ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างมากมายจนน่าเป็นกังวล
ยิ่งเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากปากของบุคคลที่ได้เข้าร่วมเวที รับรู้บรรยากาศสถานการณ์จริงที่หน้างาน รวมทั้งวัตถุพยายานอีกนับสิบนับร้อย ประกอบกับความหละหลวมในการตรวจสอบคุณสมบัติและการจัดการปัญหาระหว่างทาง เป็นที่น่ากังขาในความสุจริตและเที่ยงธรรม ผลการเลือกจึงอยู่ในสภาพที่ “ยอมรับได้ยาก”
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือ พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 แต่เกิดจากระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นกฎหมายระดับอนุบัญญัติที่ออกโดยหน่วยงาน
โดยเฉพาะการกำหนดความนิยามที่ห้อยท้ายทุกกลุ่มอาชีพ ว่า “หรืออื่นๆในทำนองเดียวกัน” ทำให้เปิดกว้างให้สามารถวิ่งย้ายกลุ่มกันได้อย่างอิสระเสรี รวมทั้งการเปลี่ยนวิธีให้รับรองตัวเอง เป็นพยานรับรองกันเองโดยลงลายมือชื่อ แทนที่การให้องค์กร มูลนิธิ สมาคม หรือหน่วยงานรับเป็นผู้รับรองแบบเดิม
ดูแบบหนึ่ง เหมือนพยายามอำนวยความสะดวกแก่ผู้สมัคร แต่มองอีกแบบหนึ่งกลายเป็นการปัดภาระความรับผิดชอบ เอาง่ายเข้าว่า กกต. ใช้วิธีขู่ว่าถ้าใครรับรองเท็จระวังมีโทษหนักนะ ซึ่งวิธีนี้ได้ผลกับคนประพฤติดีเกรงกลัวกฎหมาย แต่กับคนที่จ้องละเมิดไม่มีใครเขากลัว แม้ในวันเลือกรอบสุดท้ายที่เมืองทองธานี ก็มีการเดินโพย ซื้อขายแลกเปลี่ยนคะแนน ทำผิดกันอย่างโจ๋งครึม ท้าทาย มีหลักฐานในกล้องวงจรปิดและพยานบุคคลมากมาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กกต. เอง แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ ผลลัพธ์จึงเกิดบานปลายกันอย่างที่เห็น
เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ผมเห็นว่าปัญหาการเลือก สว. ครั้งนี้ ถ้าปล่อยผ่านไปเหมือนครั้งก่อนๆ แบบ “รับรองไปก่อน แล้วสอยภายหลัง” ในที่สุดจะเป็นการทำลาย “ความเป็นสถาบัน” และความน่าเชื่อถือของ กกต. อย่างรุนแรงที่สุด
จึงขอเสนอทางออกทางเลือก 3 แบบ ในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ให้ผลการเลือกเป็นโมฆะทั้งหมด จัดการเลือกใหม่ทั้งระดับเวทีอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดรับผู้สมัครเพิ่ม ใช้วิธีตรวจสอบคุณสมบัติและคัดกรองผู้สมัครเดิม จำนวน 48,000 คน จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการเวทีระดับต่างๆตามโปรแกรมเดิม
แนวทางนี้อาจดูสุดโต่งไปสักหน่อยและต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีก 1,500 ล้าน แต่ถ้าถือว่านี่เป็นการลงทุนในกระบวนการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาวิถีชีวิตประชาธิปไตยสำหรับพลเมือง ก็นับว่าคุ้มค่า อีกทั้งคนไทยจะได้วุฒิสภาที่ทุกฝ่ายยอมรับกันมากขึ้น
ทางเลือกที่ 2 ให้เป็นโมฆะเฉพาะผลการเลือกระดับชาติ จัดให้มีการเลือกใหม่เฉพาะเวทีเมืองทองธานี โดยนำรายชื่อผู้ผ่านเวทีจังหวัด จำนวน 3,000 คน มาตรวจสอบคุณสมบัติและคัดออกตามเกณฑ์ ในรายที่สังคมกังขากันมากก็ต้องดูแลให้ถี่ถ้วน จากนั้นจัดกระบวนการเลือกที่โปร่งใส เข้มงวด พิถีพิถัน และประกาศรับรองผลโดยไม่ชักช้า
วิธีนี้สามารถประหยัดเวลาและงบประมาณได้มาก รวมทั้งผลลัพธ์ย่อมเป็นที่ยอมรับได้มากกว่าเดิม
ทางเลือกที่ 3 คล้ายทางเลือก 2 แต่ไม่ต้องจัดให้มีกระบวนการเลือกใหม่ หากใช้วิธีตรวจสอบคุณสมบัติผู้ผ่านเข้ารอบ 800 คนสุดท้าย โดยเฉพาะกลุ่มว่าที่ สว. 200 คนแรกกับสำรอง 100 คน รวมทั้งอีกทุก 100 คนที่อยู่ในลำดับถัดๆไป เพื่อไล่ลำดับขึ้นมาทดแทนกันอย่างเป็นระบบในกรณีมีการคัดออก
แบบนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ใช้เวลาอีกนิดหน่อย ท่าน สว. ชุดใหม่จะได้เข้ามาทำงานเร็วขึ้น แม้ผลออกมาอาจเป็นที่ยอมรับได้น้อยลงกว่าสองแบบแรกก็ตาม.
รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 13/2567 วันที่ 9 กรกฎาคม 2567