รายงานประชาชน ฉบับที่ 17/2567
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่วัดป่าดงเมือง หมู่ 1 บ้านกุดลิง ตำบลร่องคำ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
มีงานพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอร่องคำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน (พิพิธภัณฑ์วัดป่าดงเมือง)
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ได้เกียรติรับเชิญจากท่านเจ้าอาวาสไปร่วมเป็นประธานพิธีฝ่ายฆราวาส โดยมี พระธรรมวัชราจารย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์, พระราชวัชรธรรมโสภณ (หลวงปู่มหาศิลา สิริจนฺโท) อุปถัมภ์, พระอาจารย์อุดล อคฺธมฺโม พร้อมศิษยานุศิษย์ และบริษัท คชาวุธ 4289 อมูเลท จำกัด อุปถัมภ์

ในวันนั้น มีญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาทั้งคนไทยและพี่น้องฝั่งลาว ต่างมาร่วมงานกันอย่างคราคร่ำ แน่นขนัด ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายจากฟากฟ้าลงมาแดนดินจนชุ่มช่ำ มีหลวงพ่อเกจิชื่อดังของภาคอีสาน 12 รูป ให้ความเมตตามาร่วมประกอบพิธีอธิฐานจิต “เหรียญหลวงพ่ออุดล อคฺคธมฺโม รุ่นนกหัสดีลิงค์” อาทิ หลวงปู่มหาศิลา สิริจันโทวัดพระธาตุหมื่นหิน, หลวงพ่อสุริยันต์ โฆสปญฺโญ วัดป่าวังน้ำเย็น มหาสารคาม, หลวงพ่อสายทอง วัดดอนเกลือ ร้อยเอ็ด, หลวงพ่อสมสิทธิ์ วัดป่าสักดาราม ร้อยเอ็ด, พระครูปลัดอาจาริยวัฒน์ วัดป่าวังน้ำเย็น, หลวงลุงวุฒิ วัดยอดแก้ว หนองคาย และ หลวงพ่ออุดล อคฺคธมฺโม วัดป่าดงเมือง กาฬสินธุ์
นกหัสดีลิงค์ ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทระบุว่าเป็นนกขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์สี่ชนิด คือ ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3–5 เชือก รวมกัน หนังสือไตรภูมิ บรรยายว่าทำหน้าที่คาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตตรกุรุทวีปสกปรก รวมทั้งนำพระบรมศพของมหาราช กษัตริย์ และบุคคลสำคัญสู่สรวงสวรรค์
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีอธิฐานจิต คณะกรรมการได้ นำเหรียญรุ่นนกหัสดีลิงค์ ออกให้คณะญาติธรรมที่ศรัทธาได้เช่าบูชาเพื่อนำรายได้ ร่วมสมทบทุนสร้างพิพิธพันธ์วัดป่าดงเมือง เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงเหรียญทั้งหมดที่เปิดเช่าบูชาได้มีผู้เช่าไปจนหมด เมื่อรวมเงินบริจาครายใหญ่อีก 3 ราย รวมน้อมถวายในงานเป็นจำนวน 15,080,000 บาท สำหรับเป็นทุนการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาด้วยพลังศรัทธาแบบบ้านๆขนานแท้
สำหรับวัดป่าดงเมือง เป็นวัดป่าที่ตั้งอยู่ใจกลางเทศบาลตำบลและตัวอำเภอร่องคำ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ ไม้พื้นเมือง สถานที่สงบ ร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่ศึกษาสมุนไพรพื้นเมือง เช่น ตากวาง ปลาไหลเผือก โลดทะนง กำแพงเจ็ดชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ ทิ้งถ่อน จันทน์ผา มะขามป้อม รางจืด หญ้าหนวดแมว สมอ อบเชย พิลังกาสา ผีเสื้อ และอื่นๆ มากมาย มีพันธุ์สัตว์พื้นเมืองต่างๆ เช่น กระรอก กระแต บ่าง นก นานา ชนิด และสัตว์อื่นๆมากมาย
ท่านเจ้าอาวาส พระอุดล อคฺคธมฺโม เดิมเป็นคนร้อยเอ็ด เกิด 23 มิถุนายน 2517 การศึกษาปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ปริญญาโท ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประวัติการทำงาน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญวัดปฐมแพงศรี เป็นครูสอนศีลธรรม พระวิปัสสนาจารย์ ในอุปถัมภ์กองทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย และเป็นอาจารย์พิเศษคณะแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ท่านมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการขึงหน้ากลองและการเส็งกลอง จึงเป็นแรงหนุนให้เกิดเป็นงานประเพณี “มหกรรมเส็งกลองร่องคำ” ได้รับการยกย่องเป็นผู้มีบทบาทดีเด่นและผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ปี 2554
กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่อยู่ในเกณฑ์พื้นที่ยากจนเรื้อรังติดต่อกันมา 5 ปี สัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 31.26 มีผลผลิตการเกษตรหลักคือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย กุ้งก้ามกราม ยางพารา โรงงานผลิตแป้งมัน,แป้งข้าวโพด โรงงานน้ำตาล ในปี 2564 มีขนาดเศรษฐกิจ (GPP) 60,997 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 45 ของประเทศ ปี 2566 ใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 16,247 บาท/เดือน/ครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 164,052 บาท จำนวนผู้สูงอายุ 19.17 % ดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.63 คิดเป็นอันดับที่ 45 ของประเทศ แต่สังคมชุมชนมีความเป็นอยู่แบบเกื้อกูล พอเพียง และเต็มไปด้วยความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและธรณีวิทยา
คติธรรมหลวงพ่ออุดล ศิษย์สายกัมมัฏฐานของหลวงพ่อชา สุภัทโท
“เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ
เธอจงระวังความประพฤติของเธอ เพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ
เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ
เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ เพราะอุปนิสัยของเธอกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต”
รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 17/2567 วันที่ 5 สิงหาคม 2567