รายงานประชาชน ฉบับที่ 18/2567
เมืองกาฬสินธุ์
ได้รับโปรดเกล้าให้ยกฐานะจากบ้านแก่งสำโรง ริมแม่น้ำปาว กาฬสินธุ์ แปลว่า “น้ำดำ”
หมายถึง น้ำใสสะอาดจนมองเห็นดินสีดำ ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด
กาฬสินธุ์มีแหล่งซากไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอสหัสขันธ์ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงด้านโปงลางและผ้าไหมแพรวา นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีทั้งลาว เขมร จีน เวียดนาม ภูไท กะเลิง ไทข่า ไทดำ และญ้อ เป็นต้น

เทศกาลและงานประเพณีที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ถูกนำมาทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี เป็นสิ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนที่อยู่ร่วมกันมาอย่างสุขสงบ อาทิ งานมหกรรมโปงลาง ผ้าไหมแพรวาและงานกาชาด, งานมหกรรมวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม, งานประเพณีสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป (ลอยกระทง) สวนสาธารณะกุดน้ำกิน, งานประเพณีบุนผะเหวด (บุญพระเวส), งานประเพณีบุญสรงน้ำ (ตรุษสงกรานต์), งานประเพณีออกพรรษา และตักบาตรเทโวโรหณะ วัดภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์,
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา, งานประเพณีบรวงสรวงเจ้าปู่ อำเภอหนองกุงศรี, งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน อำเภอท่าคันโท, งานนมัสการพระธาตุพนมจำลอง อำเภอห้วยเม็ก, งานประเพณีบุณคูณลาน อำเภอยางตลาด, งานประเพณีบุญคูนลานสู่ขวัญข้าว (บุญเดือนยี่) วัดเศวตวันวนาราม, งานนมัสการพระธาตุยาคู แสดง แสง สี เสียง ทวารวดีมิ่งหล้าเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย, งานประเพณีบุญบั้งไฟ ตะไลล้าน อำเภอกุฉินารายณ์, ประเพณีการแข่งขันเรือยาว อำเภอกมลาไสย และงาน “มหกรรมเส็งกลองร่องคำ” อำเภอร่องคำ
คึกคักด้วยเสียงกลอง
“เส็ง” เป็นภาษาอีสาน (ลาว) ที่มีความหมายว่า การแข่งขัน การประชันกัน การเส็งกลองก็คือการแข่งขันประชันการตีกลองพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่โบราณของชาวอีสานและประเทศเพื่อนบ้าน นิยมแข่งขันกันในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา และงานรื่นเริงอื่นๆ รวมทั้งการตีกลองประเพณีเพื่อขอฝนจากพญาแถน ในสมัยก่อนกลองเส็งยังใช้ตีบอกสัญญาณจากในวัดถึงชุมชน ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย เรียกระดมพล สัญญาณออกรบ และใช้ในการละเล่นบุญเดือน 3 และบุญเดือน 6 โดยสืบทอดต่อกันมานานกว่า 160 ปี
“การเส็งกลอง” คือ การตีกลองแข่งขัน วัดด้วยความแรง (ดัง) ของเสียง ในการวัดความดังของเสียง ภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมใช้ภาชนะประเภทกระถางดินปากบานหรือกะละมังดินเผาใส่น้ำให้เต็มตั้งไว้ด้านหน้ากลองที่กำลังตีอยู่ หากน้ำในภาชนะของฝ่ายใดกระเพื่อมออกมามากกว่าถือว่าชนะ แต่ปัจจุบันใช้เครื่องวัดความดังของเสียงเป็นเครื่องวัด ซึ่งค่อนข้างจะเป็นมาตรฐานมากกว่าสมัยก่อน
“กลองเส็ง” (บางพื้นที่เรียกกลองกิ่ง) เป็นกลองสองหน้า การเส็งกลองเป็นการแข่งขันตีกลองพื้นบ้านของชาวอีสานมาแต่โบราณ และประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ แขวงทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่น แขวงสะหวันนะเขต แขวงคำม่วน แขวงจำปาสัก เป็นต้น มณฑลยูนานทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีการละเล่นในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม
มหกรรมเส็งกลองร่องคำ
ทุกหน่วยงานร่วมกันจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี และส่งเสริมการละเล่นกลองพื้นบ้านอีสาน กระตุ้นการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย ขยายตลาดในการจำหน่ายผลผลิตทั้งด้านพืช และสัตว์ ของเกษตรกรในโครงการพัฒนาหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกลุ่มอาชีพในพื้นที่
กิจกรรมมีการแข่งขันประชันกลองและการโชว์กลองประเภทต่างๆ ที่เดินทางมาจากทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการแข่งขันกลองเส็งหน้าแคบ การแข่งขันกลองเส็งหน้ากว้าง การแข่งขันกลองยาว การโชว์กลองยาวภาคกลาง การโชว์กลองวงภาคใต้ การโชว์กลองสะบัดชัยภาคเหนือ การโชว์รำไหว้ครูกลองเส็งหน้ากว้าง และการโชว์กลองตุ้ม
ชาวร่องคำในฐานะเจ้าภาพ นิยมแต่งกายด้วยผ้าปักมือบ้านด่านใต้ สตรีในชุมชนที่มีความสามารถ ตัดเย็บและการปักลาย ผสมผสานรวมกันเป็นกลุ่มภายใต้ชื่อ ผลิตภัณฑ์ “ฝ้ายสองวารี” สื่อถึงการมีแม่น้ำปาวและแม่น้ำชีมาบรรจบกัน มี “ลายกลองเส็ง” ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สีดอกมันปลา (ดอกกันเกรา) มีลักษณะออกดอกเป็นช่อตาม ซอกใบ เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาว บานเต็มที่จะเป็นสีเหลืองอมแสด เป็นสีประจำอำเภอร่องคำ
การเส็งกลองของชาวอีสานในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1.กลองเส็งหน้าแคบ จะนิยมเล่นกันในแถบอำเภอร่องคำ และอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ แถบอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอจังหาร และอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด
2. กลองเส็งหน้ากว้าง จะนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุดรธานี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครพนม
3. กลองเส็งหน้าแคบขนาดเล็ก ปัจจุบันมีเล่นอยู่น้อยมากใกล้สูญหาย แต่ก็ยังมีอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดชัยภูมิ
อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ถือเป็นพื้นที่ของกลองเส็ง ซึ่งมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งเดียวในโลกก็อาจว่าได้ เพราะงานมหกรรมเส็งกลองร่องคำ ในการจัดงานแข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสานสู่มหกรรมกลองอาเซียน มีประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมมหกรรมด้วย.
รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 18/2567 วันที่ 12 สิงหาคม 2567