กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

รายงานประชาชน ฉบับที่ 19/2567

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นนโยบายสําคัญที่ริเริ่มดําเนินการปี 2555 ในยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยจัดสรรงบประมาณตั้งต้น กระจายไปให้จังหวัดตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จำนวน 70-100 ล้านบาท/จังหวัด

สําหรับให้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อการพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการให้แก่สตรี รวมถึงพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี พัฒนาบทบาทสตรี สร้างภาวะผู้นํา คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ 

” กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี “

ทั้งนี้ มุ่งเน้นที่จะทํางานร่วมกับองค์กรสตรีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้โอกาสสตรีในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมพัฒนา เพื่อสตรีทุกคน โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสตรีต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้สตรีไทยได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ มีส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เงินและทรัพย์สินของกองทุน ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินสนับสนุนอื่นๆ ที่รัฐบาลจัดสรรให้เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน และ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือกองทุนได้รับตามกฎหมายอื่น

วัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย 2) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรี 3) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี การแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่างๆ 4) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรี

สตรีที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนประเภทบุคคลธรรมดา สมาชิกของกองทุนสามารถขอรับ “เงินทุนหมุนเวียน” โดยสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดารวมตัวกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป หรือสมาชิกประเภทองค์กรสตรีต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานตั้งอยู่ในท้องที่ที่ยื่นแบบขอรับการสนับสนุนไม่น้อยกว่า 6 เดือน โครงการที่ขอรับสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ต้องมีผลการดำเนินงานหรือผ่านการฝึกอาชีพมาก่อน วงเงินโครงการละไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปี กำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่เกิน 2 ปี และต้องชำระคืนอย่างน้อยปีละ 2 โดยการขอกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนของสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตรีเกิดพลังในการดูแลช่วยเหลือกันในรูปกลุ่ม และการกู้ยืมเงินกองทุนจึงไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หน่วยงานที่ดูแลคือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (สกส.) เป็นกลไกส่วนกลาง มีสำนักงานคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ และ กทม.เป็นกลไกขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ปัจจุบัน มีสมาชิกกองทุนประเภทบุคคลธรรมดาทั้งหมด จำนวน 15.0 ล้านคน อยู่ในภาคอีสานร้อยละ 42  โดยรวมมีอายุเฉลี่ย 44 ปี (ส่วนใหญ่ 40-49 ปี)  สมาชิกประเภทองค์กรสตรี 9.6 หมื่นองค์กร 

ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินทุนหมุนเวียน 11,074 โครงการ จำนวนเงิน 1,560.4 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 7.6 แสนคน และได้รับผลประโยชน์จากเงินทุนอุดหนุน 5,136 โครงการ จำนวนเงิน 251.03 ล้านบาท จำนวน 4.1 แสนคน

จากรายงานประเมินผลการดำเนินงานโดยกรมบัญชีกลางระบุว่า ในปี 2564 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 7,219.5 ล้านบาท หนี้สินรวม 153.0 ล้านบาท ผลการดำเนินงานได้ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการ จำนวน 11,703 โครงการ รวม 1,475.2 ล้านบาท โครงการส่งเสริมอาชีพ 2,755 โครงการ 70.2 ล้านบาท

ในด้านการจัดเก็บหนี้ กองทุนฯ มีหนี้ครบกำหนดรวมมูลค่า 612.09 ล้านบาท จัดเก็บได้ 457.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.73  นอกจากนั้นยังมีหนี้ค้างชำระมูลค่ารวม 15,815.43 ล้านบาท จัดเก็บได้ 10,658.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.39

โดยภาพรวมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีผลคะแนนการประเมินเท่ากับ 4.2434 คะแนน ลดลงกว่าปี 2563 เนื่องจากกองทุนฯ ไม่สามารถใช้จ่ายได้ตามแผนการใช้จ่ายภาพรวมที่กำหนด และไม่สามารถนำส่งรายงานของกองทุนหมุนเวียนผ่านระบบบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ (NBMS) ได้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากการจัดส่งรายงานผลการเบิกจ่ายเงินของภูมิภาค จำนวน 76 จังหวัด บางส่วนยังมีความล่าช้ามากและข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้มีความยุ่งยากในการวิเคราะห์ข้อมูล

แต่อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ “ผ่าน”

ขอแสดงความชื่นชมยินดีและเป็นกำลังใจครับ.

รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 19/2567 วันที่ 19 สิงหาคม 2567