รายงานประชาชน ฉบับที่ 20/2567
ท้ายวาระการทำงานของ สว. ชุดที่ 12 ผู้รายงานได้มีโอกาสไปร่วมประชุมทวิภาคีกับประเทศยุโรปบางแห่ง
สัมผัสความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากอดีต และการต่อสู้ดิ้นรนทางเศรษฐกิจ-สังคมในช่วงกระแสโลกกำลังย้ายขั้ว-เปลี่ยนยุค
เนเธอร์แลนด์ ประเทศมหาอำนาจเก่าแก่ มีเนื้อที่เพียง 41,850 ตร.กม. (1 ใน 12 ของไทย) เป็นพื้นดิน 33,720 ตร.กม. พื้นน้ำ 8,130 ตร.กม. ประชากร 17.618 ล้านคน มีกรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองหลวง และกรุงเฮกเป็นที่ตั้งของที่ทำการรัฐบาล หน่วยราชการ ที่ประทับประจำของพระราชีนีและพระราชวงศ์ รวมทั้งสถานเอกอัครราชฑูตของประเทศต่างๆ และศาลโลก (ICJ)

ภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์เป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขาให้เห็นเลย พื้นที่ 1 ใน 4 ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เพื่อป้องกันอุทกภัยจึงพัฒนาระบบเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก ถือเป็นประเทศที่มีสิ่งก่อสร้างด้านวิศวกรรมการจัดการน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ไทย และเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์(เดิม) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตมาอย่างยาวนานถึง 420 ปี นับตั้งแต่พ.ศ. 2147 ในสมัยของพระเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ไทยส่งคณะฑูตคณะแรกไปประจำที่เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2151 ความสัมพันธ์ทั่วไปเป็นไปอย่างราบรื่นมาโดยตลอด ทั้งในระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน ปัจจุบันสถานเอกอัครราชฑูตเนเธอร์แลนด์ได้ขอเปิดสถานกงสุลประจำจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต ปี พ.ศ. 2566 มีนักท่องเที่ยวเนเธอร์แลนด์มาไทย 229,539 คน
ในด้านการเมืองการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ใช้ระบบรัฐสภาคู่ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 150 คน วุฒิสภา 75 คน แบ่งการปกครองเป็น 12 เขต (Provinces) องค์กรปกครองท้องถิ่น 408 แห่ง เขตแดนนอกอาณาจักร 3 แห่ง (Overseas) และหมู่เกาะอีก 3 แห่งในทะเลแคริบเบียน
ด้านเศรษฐกิจ เนเธอร์แลนด์มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก (ปี พ.ศ. 2565) เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง GDP มวลรวมมูลค่า 1,010.9 พันล้านUSD รายได้ต่อหัวประชากร 74,534 USD อันดับ 4 ของสหภาพยุโรป (เปรียบเทียบประเทศไทย 7,629.7 USD) นอกจากนั้นยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อัตราภาษีค่อนข้างต่ำ และประชากรมีระดับการศึกษาสูง จึงเป็นประเทศน่าสนใจและดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุน
ปัจจุบันไทยกับเนเธอร์แลนด์อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางความร่วมมือ ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่ายไทยเสนอให้มีความร่วมมือในอุตสาหกรรมต่อเรือ ส่วนเนเธอร์แลนด์เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ EU-ASEAN และส่งเสริมให้ภาคเอกชนและกลุ่มธุรกิจชาวดัชต์มีส่วนร่วมโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เช่น ระบบการจัดการน้ำ การสาธารณสุข การขนส่ง และพลังงาน
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างลงตัว มีความมั่นคงพอเพียง แต่ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาความต้องการวัตถุดิบและทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะดำเนินการร่วมกับภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ องค์กรด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สหภาพแรงงาน สถาบันการเงินและองค์กรเพื่อสังคมอื่นๆ ภายใต้แผนงานโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน(Netherland Circular in 2050) เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2593
มี 4 มาตรการหลัก ประกอบด้วย
- การลดการใช้วัตถุดิบ ลดการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้น้อยลง เพื่อความต้องการใช้วัตถุดิบน้อยลงและการแบ่งปันหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามที่ต้องการจริงๆ
- การทดแทนวัตถุดิบ หากจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบใหม่ ก็ควรใช้ด้วยกระบวนการที่มีความยั่งยืน การหมุนเวียน และใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น ชีวมวลที่เป็นวัตถุดิบเหลือใช้จากเศษอาหาร
- การยืดอายุการใช้งาน การใช้ผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบต่างๆของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม ลดความต้องการใช้วัตถุดิบใหม่ รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิค ให้ผู้บริโภคค้นหาและเข้าถึงสะดวก
- การประมวลผลคุณภาพสูง การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนากระบวนการผลิตแบบใหม่ การรีไซเคิลวัสดุและวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ จะสามารถลดกระบวนการฝังกลบและเผาขยะให้น้อยลง รัฐบาลตั้งเป้าไม่มีการเผาวัสดุรีไซเคิลอีกต่อไป.
รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 20/2567 วันที่ 26 สิงหาคม 2567