ศาลอนุญาโตตุลาการโลก

รายงานประชาชน โดยหมอพลเดช ฉบับที่ 21/2567

กรุงเฮก เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเมืองราชการ เป็นที่ตั้งของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ รัฐสภา พระราชวังที่ประทับ 

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสถานฑูตและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 200 องค์กร มีประชากร 5.4 แสนคน 

“ศาลอนุญาโตตุลาการโลก”

คณะประชุมทวิภาคีจากวุฒิสภาไทยได้ไปประชุมและศึกษาดูงานที่ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (PCA : Permanent Court of Arbitration) ตั้งอยู่ในบริเวณวังสันติ (Peace Palace) ณ กรุงเฮก สถานที่เดียวกับสถาบันวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งกรุงเฮก ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และหอสมุดแห่งสันติภาพ

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (ระดับโลก) เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านการระงับข้อพิพาท ที่จัดตั้งโดยอนุสัญญาสำหรับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ค.ศ. 1899 และ ค.ศ. 1907 ปัจจุบันมีสมาชิก 121 ประเทศ รวมทั้งปาเลสไตน์ คอซอวอ และ 7 ประเทศกลุ่มอาเซียน คือ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

PCA มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการทำสงครามในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ปัจจุบันบทบาทและภารกิจได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยยังคงให้บริการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ และส่วนที่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนหรือข้อพิพาทเชิงพาณิชย์มากขึ้น นอกจากมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮกแล้ว PCA ยังมีสำนักงานที่มอริเชียสและสิงคโปร์ ตั้งในปี พ.ศ. 2553 และ 2561  

ณ เดือนธันวาคม 2560 คดีในความดูแลของ PCA มีทั้งหมด 131 คดี และในจำนวนนี้เป็นอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับการลงทุน 79 คดี ทั้งนี้ PCA ไม่ใช่ศาลที่พิจารณาตัดสินข้อพิพาท แต่ทำหน้าที่ด้านบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกแก่กระบวนการระงับข้อพิพาท ซึ่งรวมถึงอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) การไกล่เกลี่ย (Mediation) การประนอมข้อพิพาท (Conciliation) และหน้าที่อื่นๆ เช่น การเป็นสำนักทะเบียน การเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

โครงสร้างของ PCA ประกอบด้วย 3 ส่วน

  1. สภาบริหาร (Administrative council) ผู้แทนทางการฑูตของประเทศสมาชิกประจำเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดจะเป็นสมาชิกในสภาบริหาร โดยมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหาร ทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบายขององค์กร และจัดทำแนวทางการดำเนินงานของ PCA รวมถึงทำหน้าที่บริหารงบประมาณและค่าใช้จ่ายขององค์กร
  2. สำนักงานเลขาธิการ (International bureau) ประกอบด้วยคณะทำงานที่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายและการบริหารองค์กรจากหลากหลายเชื้อชาติ มีหน้าที่สนับสนุนศาลและคณะกรรมาธิการ เป็นช่องทางการสื่อสารและให้ความคุ้มครองด้านเอกสาร นอกจากนั้นยังให้บริการด้านการบริหารทางการเงิน โลจิสติกส์ และการส่งเสริมด้านเทคนิคสำหรับการประชุมและการพิจารณาคดี การเดินทาง เลขานุการคณะเดินทาง และล่ามภาษา ตำแหน่งเลขาธิการเป็นตำแหน่งสูงสุด มีวาระ 5 ปี ส่วนใหญ่เป็นชาติเนเธอร์แลนด์ 
  3. สมาชิก คือผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐภาคี แต่ละรัฐภาคีมีสิทธิ์เสนอชื่อได้ 4 คน เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสาขากฎหมายระหว่างประเทศ มีความประพฤติดี ให้เป็นสมาชิกรัฐภาคีในศาลอนุญาโตตุลาการถาวร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี 

สำหรับประเทศไทย ได้ลงนามใน “อนุสัญญานิวยอร์ก” ว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ปี 2501 จึงก่อให้เกิดพันธกิจแก่ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกที่จะบัญญัติกฎหมายภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับข้อบทในอนุสัญญาดังกล่าว

นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้ง PCA มาจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยประมาณ 4 คดี เท่าที่ทราบเป็นคดีเกี่ยวกับการลงทุน แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดได้ เนื่องจากข้อมูลคดีเป็นความลับ บางกรณีอาจมีการเผยแพร่ชื่อคู่พิพาทในเว็บไซต์ แต่จะไม่ปรากฏรายละเอียดของคดี

ในด้านขอบเขตอำนาจ ด้วยฐานะของ PCA ที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศและกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก เป็นการตกลงกันระหว่างคู่พิพาท ซึ่งจะมีการตกลงเลือกคณะอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจที่มีความเชี่ยวชาญขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาทนั้นและคำชี้ขาดจะมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งคู่พิพาทจะต้องปฏิบัติตาม

วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนี้ ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เนื่องจาก PCA มีการดำเนินการที่ยืดหยุ่นกว่าศาลยุติธรรม ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน รวมถึงยังได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากนานาประเทศ เนื่องจากคู่พิพาทต่างกังวลต่อการใช้วิธีการทางศาลของประเทศใดประเทศหนึ่งในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ จะเกิดความไม่เป็นธรรมเนื่องจากข้อแตกต่างทางกฎหมาย ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินข้อพิพาทอันโด่งดัง กรณีจีนสร้างแผนที่เส้นประ 9 เส้น เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด พร้อมกับเข้ายึดครองอาณาเขตทางทะเลของประเทศฟิลิปปินส์อย่างผิดกฎหมาย ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมให้สัตยาบรรณไว้ ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องคัดค้าน ซึ่งภายหลังศาลอนุญาโตตุลาการตัดสินไว้ในปี 2559 ว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ แต่ทว่าจีนยังไม่ยอมรับคำตัดสินนี้.

2 ก.ย.​ 2567