บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 1 โดย หมอพลเดช
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพามาขอสัมภาษณ์เจาะลึกหมอพลเดช ขอให้เล่าถึงประวัติศาสตร์การทำงานขององค์กรเอ็นจีโอ (NGO) ในประเทศไทย

โดยเฉพาะในช่วงที่มีกระบวนการปรับตัวครั้งใหญ่ภายหลังสถานการณ์เงินทุนสนับสนุนโครงการจากต่างประเทศเริ่มลดลง สาเหตุเนื่องมาจากไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตจนก้าวพ้นเส้นความยากจนและกำลังจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย หรือ NICs
ช่วงเวลาที่ทีมวิจัยรู้สึกว่าเป็นปัญหาจริง เริ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจกำลังบูม ทำจีดีพี (GDP) ประเทศสูงมาก เติบโตถึง 10% ภาพลักษณ์ของไทยกลายเป็นประเทศที่เจริญแล้ว พ้นระดับความยากจนกลายเป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง จึงมีนโยบายลดการช่วยเหลือลงแบบกระทันหัน
ในเวลานั้น เอ็นจีโอสายที่ผูกพันกับแหล่งทุนจากประเทศ โดยเฉพาะทางยุโรป ต่างได้รับผลกระทบกันมาก เพราะประเทศผู้เคยให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาอย่างเยอรมันซึ่งหมายรวมถึงประชาชนคนเยอรมันทั่วไป เริ่มมองว่านโยบายของเขาน่าจะหันไปให้ทุนกับประเทศที่ยังลำบากกว่า ทำให้เอ็นจีโอไทยอยู่ในสภาวะถูกบีบให้พึ่งตัวเองภายในประเทศ
กลุ่มนักพัฒนารุ่นเก่าต่างทราบและตระหนักกันดีว่า แม้องค์กรไม่ได้ทำงานเพื่อสะสมทุน ไม่มุ่งแสวงกำไร นอกจากการทำงานที่ต้องใช้อุดมการณ์แล้ว ยังต้องใช้เงินทุนในการทำงานพัฒนาสังคมตามวัตถุประสงค์ขององค์กร แม้ว่าจะเป็นเพียงโครงการขนาดเล็กก็ตาม
ในตอนนั้น เอกสารงานวิจัยหลายชิ้นชี้ประเด็นตรงกันว่า ยุคทศวรรษปี 2520 เอ็นจีโอไทยได้กลายเป็นคู่กัดกับภาครัฐอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ไม่เอาทุนนิยมอีกด้วย สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ทั้งแหล่งทุนภายนอก ภายในและเอ็นจีโอไทยเอง ต่างมีปัญหาที่ต้องปรับตัวกันอย่างมาก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่และมีพัฒนาการกันมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ
ในฐานะผู้ถูกสัมภาษณ์เอง จากประเด็นคำถามของคณะผู้สัมภาษณ์ได้ชักจูงให้หมอพลเดชกลับไปหวนคิดถึงประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของตนตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวมักจดบันทึกเรื่องราวและสรุปสังเคราะห์บทเรียนรู้การทำงานเอาไว้เป็นระยะเพื่อใช้ประโยชน์เป็นส่วนตัว อีกทั้งยังได้นำมาเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาในกลุ่มนักพัฒนาสังคมที่ใกล้ชิด โดยมิเคยได้เผยแพร่ในวงกว้าง
เขาเคยถูกตั้งคำถามในเชิงกังขาจากฝ่ายต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเอ็นจีโอและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมาจนนับครั้งไม่ถ้วน ข้าราชการบางท่านสงสัยว่าเป็นพวกเอ็นจีโอที่แทรกเข้ามาทำงานกับรัฐ ฝ่ายเอ็นจีโอบางส่วนก็หวาดระแวงในจุดยืนการทำงานว่าอยู่ข้างไหนกันแน่ ทางฝ่ายความมั่นคงอาจมองเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ต่างขั้ว-ต่างสีนั้นย่อมมีทั้งมองแบบเป็นมิตรและเป็นศัตรู
ด้วยอุดมคติการดำเนินชีวิต การทำงานและภารกิจทางสังคม ทำให้การเดินทางไกลของหมอพลเดชได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์และบทเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบตามวิถี ซึ่งได้นำมาใช้ในการปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาตนเองมาตามลำดับเวลา รวมทั้งเรื่องราวขององค์กรเอ็นจีโอ ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ตามที่จะนำมาถ่ายทอดไว้บางส่วนในเรื่องเล่าชุดนี้
จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปมาก เอ็นจีโอไทยสามารถทำงานกับแหล่งทุนที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม มีทั้งองค์การมหาชน ส่วนราชการ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งพรรคการเมือง และการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมของตนเองขึ้นมาหาทุนแบบพึ่งพาตนเอง
อย่างไรก็ตาม แหล่งทุนสนับสนุนการทำงานทุกประเภทต่างก็มีวัตถุประสงค์ เป้าหมายและปัญหาข้อจำกัดบางอย่างเป็นเงื่อนไขพ่วงมาด้วยเสมอ ทำให้เอ็นจีโอขาดความเป็นอิสระที่จะทำงานพัฒนาไปตามแนวคิดแนวทางของตนอย่างเอกเทศ ดังนั้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและพัฒนาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสบการณ์ในการจัดการกับทางออกทางเลือกในบริบทและเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา ล้วนเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนรู้และปรับตัวสำหรับผู้ใฝ่ศึกษา.
4 มกราคม 2568