บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 2 โดย หมอพลเดช
องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ หรือ NGO (Non Government Organization) เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไร เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2510 ด้วยวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักในการทำงานพัฒนาชนบท

ผมขออนุญาตแนะนำตัวอย่างองค์กรบางส่วน ซึ่งก่อตั้งมาตั้งยุคบุกเบิกและยังคงดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2510 โดย ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับบุคคลในวงราชการและธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่ง มุ่งมั่นที่จะรวบรวมและประสานความคิด กำลังกายกำลังใจและทรัพยากร ทั้งของภาคราชการและภาคเอกชน บูรณะและพัฒนาให้ชาวชนบทไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ปี พ.ศ. 2512 จัดตั้งสำนักบัณฑิตอาสาสมัครขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การศึกษาอบรม ฝึกฝนการให้บริการแก่ชุมชน และสร้างเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับท้องถิ่นชนบท ให้แก่บัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากทุกสาขาวิชาและไม่จำกัดสถาบัน
สภาคาธอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา
เป็นหน่วยงานฝ่ายสังคมของศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 โดยมติของคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ ให้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกงานพัฒนาในวงการคาทอลิก
ประกอบด้วยศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑล 10 แห่งและองค์การคาทอลิกด้านการศึกษา สงเคราะห์และพัฒนาคณะนักบวชอีก 25 องค์การ มีบทบาทโดดเด่นต่อการก่อกำเนิดและพัฒนาการด้านแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาตั้งแต่ยุคแรก
สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA)
เป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ที่จัดตั้งขึ้นโดยนายมีชัย วีระไวทยะ เมื่อปี พ.ศ. 2517 มุ่งงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทและเขตเมือง ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 300 โครงการ ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
งานของสมาคมฯ ครอบคลุมตั้งแต่งานวางแผนครอบครัว งานรณรงค์ป้องกัน HIV/AIDS งานบรรเทาสาธารณภัย งานพัฒนาแหล่งน้ำและสุขาภิบาล งานพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ งานด้านความเสมอภาคเท่าเทียม งาน CSR งานพัฒนาอาชีพและรายได้ งานเสริมสร้างความเข้มแข็งและพลังชุมชน
ขบวนการแพทย์ชนบท
เป็นกลุ่มแพทย์และเครือข่ายที่มุ่งทำงานเพื่อพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท เริ่มก่อตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 จากงานสัมมนาใหญ่ที่อำเภอสูงเนิน กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการบังคับชดใช้ทุนกับนักศึกษาแพทย์ เกิดโครงการสัมผัสชนบท ต่อมาเปลี่ยนเป็นศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย
แพทย์ใช้ทุนรุ่นแรกๆที่ออกไปปฏิบัติงานในชนบทต่างประสบความยากลำบาก ส่วนใหญ่ประสงค์จะเรียนต่อเมื่อหมดสัญญาชดใช้ทุน ในปี พ.ศ. 2519 แพทย์ชนบทจำนวนหนึ่งจึงปรับทุกข์และเชิญชวนกันยืนหยัดทำงาน ก่อตั้ง ‘สหพันธ์แพทย์ชนบท’ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ เช่นปัจจุบัน
กลไกสำคัญของขบวนการแพทย์ชนบทประกอบด้วยชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท และที่ประชุมกลุ่มสามพราน มีผลงานเชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากลคือการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย รวมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันการคอรับชั่นในกระทรวง โดยล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) ประจำปี พ.ศ. 2566
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
มีจุดเริ่มมาจากโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ภายในสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2523 เมื่อคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมารวมตัวกันในยุคสมัยแห่งการแสวงหาและกระแสคลื่นเยาวชนระดับโลกที่มาพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคมภายในบ้านเมือง ต่อมาเป็นมูลนิธิฯ
ณ ที่นี่ เป็นเบ้าหลอมของนักพัฒนาสังคมที่กระจายออกไปทำงานทั่วประเทศ นำพาให้เกิดการตื่นตัว อยากรู้ อยากเห็น อยากทำ ด้วยความปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จากกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย สู่หมู่บ้าน ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้และอีสาน ได้เห็นได้สัมผัสได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้านชุมชนอันแตกต่างไปจากความเข้าใจเดิมๆ
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)
จากนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก พัฒนาเกษตรพาณิชย์ ขยายการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก เศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด แต่ตามมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรง ชาวนาชาวไร่ไร้ที่ดินทำกิน ระบบนิเวศและฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนพึ่งพิงดำรงชีพถูกทำลาย สิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรถูกปิดกั้น วิถีประเพณี ความรู้ท้องถิ่นถูกมองว่าล้าหลัง
ปัญญาชนส่วนหนึ่งที่สนใจปัญหา แสวงหาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นทางเลือกใหม่ เกิดกระบวนการเรียนรู้ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” หน่วยงานการพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา (CIDA) เห็นความสำคัญจึงร่วมกับกลุ่มผู้นำสังคม มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.เสน่ห์ จามริก, ศ.ระพี สาคริก, ศ.นพ.อารีย์ วัลยเสวี และ นายเอนก นาคะบุตร ก่อตั้งกองทุนช่วยการพัฒนาท้องถิ่น (Local Development Assistant Program: LDAP) ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2527-2532
มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนชนบท” (กป.อพช.) ในปี พ.ศ. 2528 โดยมี กป. 4 ภูมิภาคเป็นกลไกช่วยพิจารณาและกระจายทุนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กไปทั่วทุกภูมิภาค โดยต่อมาจัดตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาขึ้นในปี 2533 นับเป็นกองทุนหนึ่งเดียวในเวลานั้น ที่มุ่งส่งเสริมองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กโดยตรง ช่วยให้ขบวนเอ็นจีโอเติบโตขึ้น.
11 มกราคม 2568