บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 3 โดย หมอพลเดช
คราวนี้มาถึง องค์กรประชาสังคม เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไรอีกแบบหนึ่ง ส่วนใหญ่ทำงานช่วยเหลือประชาชนในด้านมนุษยธรรม ผู้ประสบสาธารณภัย
รวมทั้งงานพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ทั้งในรูปแบบเป็นเอกเทศและร่วมงานกับรัฐ มักมีต้นแบบมาจากองค์กรการกุศลและองค์กรสาธารณประโยชน์ เหล่านี้…

สภากาชาดไทย
เป็นองค์กรการกุศลเพื่อมนุษยธรรม ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2436 (ร.ศ.112) เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีการสู้รบเกิดขึ้น ทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บทุกข์ทรมานจำนวนมาก กลุ่มกุลสตรีไทยที่สูงศักดิ์ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของเพื่อส่งไปช่วยเหลือ
ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้นในปี พ.ศ. 2436 ต่อมารัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราช เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น จึงทรงพระดำริให้จัดตั้งโรงพยาบาลของสภากาชาดในปี พ.ศ. 2457 ขนานนามว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้เป็นโรงพยาบาลของสภากาชาดสยาม
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
เป็นมูลนิธิบรรเทาสาธารณภัย มีกำเนิดมาจาก “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2452 โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ จุดประสงค์เพื่อเก็บศพไร้ญาติทุกชาติภาษาและนำไปฝังที่ป่าช้าวัดดอน ถนนเจริญกรุง ที่ชาวจีนได้เรี่ยไรเงินซื้อที่ดินไว้ ต่อมาปี พ.ศ. 2480 ได้ร่วมกับบรรดาสมาคมและหนังสือพิมพ์จีนปฏิรูปองค์กร จัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม “ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” เป็นลำดับที่ 11 ของประเทศสยาม
กิจกรรมหลักแรกเริ่ม คือการเก็บศพไร้ญาติจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาความยากจนและการรักษาพยาบาลโดยโรงพยาบาลหัวเฉียวและหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ต่อมาขยายวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคน จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
มูลนิธิราชประชาสมาสัย
มีจุดเริ่มมาจากสถาบันราชประชาสมาสัย รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อ ร.9 ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์ ณ สถานพยาบาลพระประแดง ในปี พ.ศ. 2501 ชื่อนี้มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นกลไกสำคัญในการขจัดโรคเรื้อนที่สังคมรังเกียจให้หมดจากประเทศไทย
นับตั้งแต่นั้นมาได้รับความช่วยเหลือจากองค์การต่างประเทศหลายองค์การ เช่น องค์การอนามัยโลก กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ มูลนิธิฮาร์ทเดเก้นแห่งประเทศเยอรมนี และซาซากาวาแห่งประเทศญี่ปุ่น
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ไม่ติดเชื้อเหลืออยู่น้อยมาก ที่กำลังรับการรักษามีอัตราเพียง 0.3 คน/ประชากร 10,000 คน ทรงชุบชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อนที่สิ้นหวังในชีวิต มูลนิธิให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ ฟื้นฟูความพิการของผู้ป่วยที่หายแล้ว สร้างโรงเรียนราชประชาสมาสัยเพื่อรองรับดูแลลูกหลานผู้ป่วยที่ถูกรังเกียจกีดกันให้มีโอกาสใช้ชีวิตไปตามปกติสามัญเยี่ยงประชาชนธรรมดาได้
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ปี 2505 พายุโซนร้อน “แฮเรียต” พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายรุนแรงแก่ 12 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ไม่มีบ้านเรือนราษฎรหลงเหลืออยู่เลย มีผู้เสียชีวิต 1 พันคน ศพลอยเกลื่อนน้ำไม่มีที่ฝัง
พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย เครื่องบินจากกองทัพอากาศรีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน โปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับเงินและสิ่งของด้วยพระองค์เอง ตลอดเวลา 1 เดือนมีผู้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศล 11 ล้านบาท และสิ่งของอีก 5 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยกันแบบอาสาสมัครโดยกลุ่มนิสิต นักศึกษา ลูกเสือ และนักเรียน
มูลนิธิร่วมกตัญญู
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2513 เกิดขึ้นจากพ่อค้าขายกาแฟชาวจีน มุ่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกว่า ในบริเวณชุมชนแออัดตรอกโรงหมู กล้วยน้ำไท โดยเฉพาะกับคนจนที่ตายแล้วไม่มีเงินซื้อโลงศพ ใช้ชื่อ “ศาลหลวงปู่เปี่ยม” ในการดำเนินงาน ต่อมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ
ในเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในปี พ.ศ. 2517 ได้ขยายงานเพิ่มในส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและศูนย์วิทยุสื่อสาร รวมถึงงานด้านการศึกษา
มูลนิธิชัยพัฒนา
เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่าง ๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนอาจเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องหรือทันกับสถานการณ์
เป็นตัวช่วยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ให้กระบวนการพัฒนาพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นเกิดความสมบูรณ์ขึ้น เกิดนวัตกรรมและต้นแบบการพัฒนาเป็นที่ประจักษ์จำนวนมากมาย ดังกระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ความว่า
“ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ … เป็น เมืองไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนาตามที่ได้ตั้งชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี”.
18 มกราคม 2568