บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 4 โดย หมอพลเดช
ลองพิจารณามุมมองจากเว็บเอ็นจีโอ เพื่อประกอบกัน …
เอ็นจีโอ อยู่ในหมวดขององค์กรเอกชน ที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ รู้จักกันในอีกหลากหลายชื่อ เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศตามระเบียบวาระ ทิศทางและนโยบายขององค์กรเพื่อมุ่งบริการสาธารณะประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไร
ความหมายของเอ็นจีโอนั้นค่อนข้างกว้างและครอบคลุมองค์กรเกือบทั้งหมดที่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์และงานพัฒนาในทุกๆด้านของสังคม การศึกษาชื่อ The International Classification of Development NGOs จำแนกประเภทตามรูปแบบกิจกรรม อุดมการณ์และเป้าหมายขององค์กร เป็น 11 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มวัฒนธรรมและการฟื้นฟูที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม
2. กลุ่มที่ทำงานด้านการศึกษาและงานวิจัย
3. กลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพอนามัย
4. กลุ่มที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์
5. กลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
6. กลุ่มที่ทำงานด้านการพัฒนาและการเคหะ
7. กลุ่มที่ทำงานด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและการเมือง
8. กลุ่มที่ทำงานด้านการเชื่อมประสานและการส่งเสริมอาสาสมัคร
9. กลุ่มที่ทำงานด้านกิจกรรมระหว่างประเทศ
10. กลุ่มที่ทำงานด้านศาสนา
11. สมาคมต่างๆ
เอ็นจีโอในประเทศไทยมีบทบาทในสังคมมายาวนานกว่า 40-50 ปี เคยมีคนจัดกลุ่มประเภทของเอ็นจีโอไทยไว้ ดังนี้
กลุ่มแรก เป็นองค์กรเล็กๆ ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
อาจเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม คนที่ทำงานในองค์กรเหล่านี้บางคนอาจมาจากภาครัฐบาลหรือภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ คนเหล่านี้ส่วนมากจะทำด้วยใจรัก เสียสละทั้งแรงกายและแรงเงิน
กลุ่มที่สอง เป็นโครงการ กลุ่มหรือชมรมที่ใหญ่กว่า
มีเจ้าหน้าที่ประจำ 2-3 คน บางแห่งอาจขออาสาสมัครจากที่อื่นมาช่วยโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้หรือจ่ายให้บางส่วน เช่น อาสาสมัครจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรืออาสาสมัครจากต่างประเทศมาช่วยทำงานระยะสั้น
กลุ่มที่สาม เป็นองค์กรที่พัฒนาขึ้นมาอีก มีเจ้าหน้าที่ประจำมากขึ้น
มีโครงการมากกว่า 1 โครงการ มีงบประมาณที่ได้จากการเสนอโครงการ รวมทั้งได้รับจากภาครัฐ เช่นกองทุนสิ่งแวดล้อมกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือแหล่งทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันหาแหล่งสนับสนุนยากขึ้น
กลุ่มที่สี่ เป็นองค์กรที่คนของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดตั้งขึ้น
มีทั้งที่ตั้งเป็นโครงการ เป็นชมรม และที่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือสมาคม โดยที่ตั้งมักอยู่ในหน่วยงานของรัฐนั่นเอง บางครั้งก็จัดสรรเงินจากหน่วยงานรัฐนั้นมาให้ทำงาน คนของรัฐตำแหน่งสูงจะเข้ามาสวมหมวกเป็นประธานมูลนิธิ เป็นนายกสมาคม อาศัยชื่อเสียงหรือตำแหน่งเป็นเครดิตขอทุนจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ อาจมีการจ้างเจ้าหน้าที่มาทำงานเฉพาะโครงการตามระยะเวลาของโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนมา เช่น 1-2 ปี หรือมากกว่านั้น เอ็นจีโอในคราบของรัฐอย่างนี้เห็นได้ในกระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มสุดท้าย คือ องค์กรระหว่างประเทศ (INGO)
มักมีองค์กรแม่อยู่ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นองค์กร CARE นานาชาติ, มูลนิธิเพิร์ล เอส บัค, วายเอ็มซีเอ, เอฟเอชไอ และกรีนพีซ องค์กรเหล่านี้มีทั้งที่เข้ามาสนับสนุนหรือร่วมมือกับเอ็นจีโอในประเทศไทย และที่เข้ามาทำกิจกรรมเอง โดยการจัดจ้างคนในประเทศเป็นเจ้าหน้าที่ ระดับหัวหน้ายังเป็นชาวต่างประเทศที่ส่งเข้ามา งบประมาณส่วนมากมาจากองค์กรแม่ในต่างประเทศซึ่งได้ทุนมาจากการรณรงค์รับบริจาคทั่วไป
เอ็นจีโอในยุคแรก กลุ่มศาสนามีบทบาทมากที่สุด โดยอุดมการณ์ทางศาสนาให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก อีกกลุ่มคือนักศึกษาตามสถาบันต่างๆรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครออกไปช่วยสร้างห้องสมุด สร้างโรงเรียนหรือสอนหนังสือตามพื้นที่ชนบท จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมการออกค่ายอาสาในปัจจุบัน
ทิศทางการทำงานของเอ็นจีโอจะแปรผันและปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละยุคสมัย เช่น ใน “ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน” (พ.ศ. 2516-2519) เป็นยุคที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ เกิดการตื่นตัวปัญหาที่ที่ดำรงอยู่ในสังคมหลากหลายมากขึ้น จากที่เคยให้ความสำคัญเพียงปัญหาในพื้นที่ชนบทก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น และเริ่มมุ่งเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการละเมิดสิทธิ
หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง องค์กรเอ็นจีโอหลายกลุ่มได้ลดบทบาทตัวเองลงจากสภาพปัญหาทางด้านการเมืองและการควบคุมจากรัฐบาล ในช่วงนี้กลุ่มด้านศาสนาได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งโดยการใช้หลักธรรมในการสร้างแนวทางสันติวิธี
อย่างไรก็ตาม องค์กรพัฒนาเอกชนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างหลากหลายในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ทำงานหลากหลายหน้าที่ตามแต่แนวทางและวิสัยทัศน์หรือประเด็นที่องค์กรขับเคลื่อน ด้วยรูปแบบของการระดมชาวบ้านเพื่อลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ชอบธรรมบางอย่าง ทำงานวิจัย ทำข่าว ทำสื่อ หรืออื่นๆ เป็นเสมือนตัวแทนพลังอำนาจของประชาชนเพื่อเข้ามาคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและภาคธุรกิจให้เป็นไปอย่างชอบธรรม.
20 มกราคม 2567