“ สายแข็งสายประสาน : ไฟธาตุอันแตกต่าง ” (05)

บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 5 โดย หมอพลเดช

องค์กร NGO ในรุ่นแรก ๆ มักเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนในชนบท โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐที่กำลังเร่งเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน

เพื่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ พาณิชย์  อุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า สร้างถนนหนทาง แต่ทำให้น้ำท่วมบ้าน ไร่นาและที่ดินทำกินของเกษตรกรส่วนหนึ่ง ถูกบังคับเวนคืนที่ดินแบบไม่เป็นธรรมโดยขาดระบบการดูแลที่เหมาะสม

เมื่อ NGO เหล่านี้เลือกยืนอยู่ข้างประชาชนผู้เดือดร้อน ต้องเผชิญหน้ากับทางราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ นานวันเข้าก็ยิ่งมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับประชาชนผู้ทุกข์ยาก จากพนมมือร้องขอ เปลี่ยนมาเป็นชูกำปั้นเรียกร้องกดดัน จากเสียงวิงวอนส่งสัญญาณ กลายมาเป็นเสียงกระทบเท้ากราดเกรี้ยวของผู้ชุมนุมประท้วง

นับวัน ภาพลักษณ์ของพวกเขาที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชนไปสู่สังคมใหญ่ยิ่งออกไปในทางลบ กลายเป็นพวกต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐ ขัดขวางความเจริญ มึงสร้างกูเผา จึงทำงานร่วมกับภาครัฐได้ลำบากมากขึ้นทุกที ไม่มีหน่วยงานรัฐใดจะมาสนับสนุนงบประมาณโดยตรง ภาคธุรกิจที่เคยเข้าใจและบริจาคสนับสนุนนับวันยิ่งหดแคบลง

“ สายแข็งสายประสาน : ไฟธาตุอันแตกต่าง ”

งานอาสาสมัครของพวกเขา จึงต้องหันไปพึ่งพาเงินสนับสนุนโครงการจากองค์กรต่างประเทศ โดยเฉพาะการชูประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และปัญหาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายขององค์กรทุนที่มาจากกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สวีเดน เดนมาร์ก อียู หน่วยงานสหประชาชาติ ตลอดจนออสเตรเลียและญี่ปุ่น

ในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ราคาที่ดินทะยานสูง เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ขยายตัวก่อนที่จะตามมาด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540  ทำให้ทั่วโลกมองว่า “ประเทศไทยพ้นจากประเทศยากจนแล้ว” แหล่งทุนต่างประเทศจึงเบนความสนใจไปช่วยประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศลดลงอย่างเป็นระบบ แต่กลุ่มเอ็นจีโอไทยยังคงยืนหยัดทำงานแม้ในความยากลำบาก

การเกิดขึ้นของกองทุนภาครัฐในยุคแรก เช่น สกว. (2535) สสส. (2545) รวมทั้งการเกิดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. (2541) มีส่วนช่วยเป็นแหล่งสนับสนุนทางเลือกและเป็นกลไกที่พยูงการดำเนินงานของ NGO ได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาผลกระทบทางสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนนักลงทุน ที่เติบโตในอัตราเร่งตามนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ ขยายวงกว้างและหมักหมมจนเกิดจุดเดือดกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค (Hot Spot)

บทบาทและแนวทางการต่อสู้ของ NGO สายแข็ง ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ในสายตาสื่อมวลชนและสังคมยังเป็นผู้ร้ายเสมอมา แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าในหลายๆกรณี บทบาทแบบ Hard Coreเช่นนี้ ก็สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนได้ไม่น้อยเช่นกัน

ด้วยสถานการณ์แนวโน้มของบ้านเมืองและสังคมเช่นนี้เอง ราวทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เอ็นจีโอผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่เคยมีบทบาทมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางจากที่เคยส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเผชิญหน้าเพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนแบบหัวชนฝา (Protection) หันมาเป็นแนวทางของการมีส่วนร่วมเพื่อการเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกันในการปฏิบัติ (Participation)  

เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่มาประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการแยกบุคลิกการดำเนินงานออกมาเป็นเอ็นจีโอสายประสาน (Collaboration) ที่เน้นการทำงานสานพลังความร่วมมือและเรียนรู้ไปด้วยกัน แบบองค์กรประชาสังคม

จากพัฒนาการและการคลี่คลายตนเองมาตามลำดับดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันเราสามารถสัมผัสธรรมชาติและบุคลิกภาพขององค์กรภาคประชาชนในประเทศไทยได้เป็น 3-4 รูปแบบ ได้แก่

  • NGO (Non-Government Organization) หมายถึง องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระที่มีลักษณะการจ้างงานเจ้าหน้าที่ทั้งแบบประจำและเฉพาะกิจ มีเป้าหมายการทำงานสาธารณะที่มุ่งเน้นในด้านพิทักษ์ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ์ของกลุ่มประชากรที่อ่อนแอ เปราะบาง ยากลำบาก รวมทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่างๆ
  • CSO (Civil Society Organization) หมายถึง องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรการกุศล และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีลักษณะการทำงานแบบจิตอาสาผสมผสานกับการจ้างงานเจ้าหน้าที่ประจำ มีเป้าหมายทำงานพัฒนาสังคมในประเด็นที่หลากหลายในลักษณะของการบูรณาการกับภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนเพื่อจัดการปัญหาสาธารณะร่วมกัน
  • CBO (Community Based Organization) หมายถึง องค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของกลุ่มประชาชนที่มีวัตถุประสงค์หรือความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการพบปะหรือสื่อสารติดต่อกันเป็นประจำ อาจอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน จะใกล้ชิดติดกันหรือไม่ก็ได้ มักมีลักษณะการทำงานแบบจิตอาสาล้วนๆ
  • Volunteer Groups หมายถึง กลุ่มจิตอาสาที่ร่วมทำกิจกรรมสังคมแบบเป็นครั้งเป็นคราว โดยไม่มีโครงสร้างกลุ่มองค์กรที่ชัดเจน.   

24 มกราคม 2567