บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 6 โดย หมอพลเดช
องค์กรภาคประชาชนเป็นการจัดตั้งรวมกลุ่มของผู้คนที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางสังคมร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจมารวมตัวเพื่อทำงานส่วนรวมของกลุ่มเป็นการเฉพาะหรือของสังคมในขอบเขตที่กว้างออกไป
การดำเนินงานของกลุ่มอาจเป็นไปในลักษณะระยะสั้นเฉพาะหน้า หรือเป็นแบบระยะยาว ส่วนในด้านกิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของผู้นำกลุ่ม ฐานทุนความเข้มแข็งขององค์กรและทักษะการบริหารจัดการ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความถนัด เงินทุน กำลังคน และอุปกรณ์เครื่องมือตามที่มีอยู่

ที่มา ความหมาย และคุณค่า
องค์กรภาคประชาชนในระยะแรก ๆ มักเริ่มจากการช่วยเหลือกันเองจากปัญหาพิบัติภัยที่ประสบเคราะห์กรรมร่วมกัน รวมทั้งภัยจากธรรมชาติ โรคระบาด ความขัดแย้งทางสังคม และสงคราม ลักษณะงานจึงเริ่มการสังคมสงเคราะห์และสาธารกุศล กล่าวคือเป็น “งานเย็น”
ต่อมาเกิดมีพิบัติภัยแบบใหม่ที่มักเกิดกับคนหมู่น้อยที่ได้รับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์จากนโยบายหรือโครงการพัฒนาของรัฐหรือผู้ปกครองที่ทำเพื่อประโยชน์ในระดับภาพรวม (macro) แต่ขาดการดูแลจัดการปัญหาของกลุ่มผู้เดือดร้อนอย่างเหมาะสม
จากสภาพที่ต้องดิ้นรนจัดการแก้ไขปัญหากันไปเองตามลำพัง ประกอบกับผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารที่มาจากระบบการเลือกตั้งโดยรูปแบบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก อีกทั้งกลไกราชการที่ต้องคอยสนองนโยบายโดยละเลยปัญหาเล็กๆจากกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้
ทำให้กลุ่มคนทุกข์และผู้ที่เห็นอกเห็นใจพวกเขาจำเป็นต้องรวมตัวกันเองเพื่อดูแลช่วยเหลือกันไปตามยะถากรรม เช่นนี้จึงเกิดสภาพเป็น “งานร้อน”ของสังคม (hot spots) ซึ่งสะสมตัวและมีจำนวนที่มากขึ้นตามลำดับเวลา จนกลายเป็นปัญหาคู่ขนานมากับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและความด้อยประสิทธิภาพของกลไกราชการ
ภาพรวมขององค์กรภาคประชาชน
ในภาพรวมขององค์กรภาคประชาชน (people organization) จากข้อมูลการรายงานผลการศึกษาพิจารณาของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา โดยอ้างอิงการสำรวจรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิพัฒนาประชาสังคมในปี 2563/2564 พบว่ามีองค์กรภาคประชาชนอย่างน้อย 28 ประเภท จำนวนรวม 317,040 องค์กร
ในจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO), องค์กรประชาสังคม (CSO), องค์กรชุมชน (CBO) และ กลุ่มพลังพลเมืองจิตอาสา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของปัจเจกชนพลเมืองแบบไม่มีโครงสร้างที่แน่ชัด ไม่มีระบบบริหารจัดการที่เป็นทางการ
โดยภาพรวมแล้ว องค์กรประชาชนเหล่านี้ ล้วนเป็นรูปธรรมของการพึ่งตนเองในการจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนากลุ่ม ชุมชนและท้องถิ่นของตน จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและสังคมไทยเข้มแข็งในระยะยาว
ดังนั้นการมองแบบเหมารวมโดยยึดติดภาพลบของเอ็นจีโอสายแข็งว่า องค์กรภาคประชาชนเป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด ย่อมเป็นการผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริงอย่างมาก และอาจนำไปสู่การตัดสินใจทางนโยบายและการบริหารงานที่ไม่เที่ยงธรรม รวมทั้งจะยิ่งก่อปัญหาใหม่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับองค์กรชุมชน (CBO) เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด กล่าวคือในเชิงปริมาณ ปี 2560/2561 พบมีองค์กรชุมชนรวมทั้งสิ้น 266,155 องค์กร ในจำนวนนี้ได้รับการประเมิณคุณภาพอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานแม่ข่ายแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพบว่ามีความเข้มแข็งในอัตราร้อยละ 31.15
ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และองค์กรประชาสังคม (CSO) กล่าวเฉพาะในส่วนที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปแบบมูลนิธิและสมาคม มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 20,000 องค์กร ซึ่งในจำนวนนี้ มีกลุ่มสายแข็งรวมอยู่ด้วย ในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
แหล่งทุนงานพัฒนา
ในด้านแหล่งทุนสนับสนุนงานพัฒนา ปัจจุบันมีแหล่งทุนสนับสนุนงานพัฒนาสังคมที่หลากหลายและมีจำนวนที่มากเพียงพอ ซึ่งองค์กรภาคประชาชน รวมทั้งเอ็นจีโอไทย สามารถเลือกใช้ช่องทางและรูปแบบการทำงานกับแหล่งทุนเหล่านี้ได้ตามความสนใจ
นอกจากนั้น ยังมีทั้งองค์กรระหว่างประเทศ องค์การมหาชน ส่วนราชการ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นทางเลือกที่หลากหลาย รวมทั้งยังมีพรรคการเมืองที่สนใจทำงานด้วย หรืออาจจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมของตนเองขึ้นมาหารายได้และหาทุนทำงานสาธารณะแบบพึ่งพาตนเองก็ได้
สำหรับแหล่งทุนภาครัฐ ปัจจุบันมีหน่วยงานประเภทกองทุนและองค์การมหาชนมากมาย ที่มีระบบการทำงานและการสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมสาธารณะร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่เปิดกว้างและเอื้ออำนวยมากกว่าส่วนราชการ เรียกรวม ๆ ว่า “กองทุนหมุนเวียนของภาครัฐ” ซึ่งจากรายงานของกรมบัญชีกลางในปี 2567 พบว่ามีจำนวนรวม 113 กองทุน แบ่งเป็น 5 ประเภทตามวัตถุประสงค์ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 5.031 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาชนเองก็พึงต้องตระหนักทราบและเรียนรู้จากความเป็นจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนแบบไหนก็ล้วนมีปัญหาข้อจำกัดบางอย่างที่พร้อมจะกลายเป็นเงื่อนไขพ่วงตามมาด้วยเสมอ จึงควรต้องเรียนรู้และปรับตัวกันตามสภาพที่เป็นจริง.
28 มกราคม 2568