บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 7 โดย หมอพลเดช
ในตอนที่ผ่านมา ได้เล่าถึงที่มาและพัฒนาการขององค์กรภาคประชาชนรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทย
ช่วงต่อไปจะขอเล่าถึงเส้นทางชีวิตส่วนตัวและงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
ประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน มิใช่ทฤษฎีหรือตำราเรียน หากเป็นผลึกภูมิปัญญาของบุคคลที่เกิดจากการบูรณาการความรู้ ความถนัด ทักษะ และสัญชาตญาณ ในการจัดการกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่ผ่านเข้ามาหาตัว จนสามารถลุล่วงไปได้ตลอดเส้นทาง ทำให้มีชีวิตรอดปลอดภัย ยืนยาวและสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติและโลกใบนี้
ชีวิต การทำงาน และประสบการณ์ของหมอพลเดช เขาเดินอยู่บนเส้นทาง 70 ปี นับจากยุคเบบี้บูมหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งวันนี้โลกกำลังเข้าใกล้มหาสงครามครั้งที่สามอยู่รอมร่อ (พ.ศ. 2498-2567) แบ่งเป็น 3 ช่วง

ช่วง 1. วัยหนุ่มสาว
เป็นช่วง 25 ปีแรกของชีวิต นับตั้งแต่แรกเกิด เติบโต ศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งก้าวผ่านพ้นวัยเบญจเพส
- ช่วงวัยเรียน 15 ปีแรก เป็นนักเรียนที่เรียนดีเป็นอันดับต้นของโรงเรียนและของจังหวัดภาคเหนือ กระทั่งสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ
- ช่วงอายุ 20 ปี เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาเป็นนักศึกษาแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยในยุคนั้น
- ช่วงวัยเบญจเพส เป็นช่วงชีวิตของนักปฏิวัติหนุ่มสาว ได้เผชิญกับสถานการณ์บ้านเมืองและการปกครองระบอบเผด็จการ ตัดสินใจเข้าป่าจับอาวุธลุกขึ้นสู้ จนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลาย จึงกลับมาเรียนต่อจนจบแพทยศาสตร์บัณฑิตตามความมุ่งมั่นตั้งใจเดิม
ช่วง 2. รับรับราชการ เป็นหมอบ้านนอก
ช่วงชีวิตใน 25 ปีต่อมา เป็นช่วงเข้ารับราชการ ปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมอยู่ในต่างจังหวัด เป็นชีวิตของหมอบ้านนอก และเป็นนักวิชาการภูธร
- ทำการยกเครื่อง เปลี่ยนโฉมโรงพยาบาลชุมชนที่บ้านเกิด จนสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ตามคำวิจารณ์ของชาวบ้าน กลายเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีคนไข้มารับบริการสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด ภายใน 5 ปีแรกของการทำงานราชการ
- นำทัพสู้ภัยเอดส์ในจังหวัดภาคเหนือตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยสาธารณสุขดีเด่นระดับชาติ และได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาขององค์การ unicef และ UNDP ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ประเทศเวียดนามและประเทศจีน ในช่วง 5 ปีถัดมา
- ริเริ่มขับเคลื่อนกระบวนการยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลกและกลุ่มจังหวัดสี่แยกอินโดจีน จนกระทั่งสภาพัฒน์นำเข้าบรรจุเป็นแผนพัฒนาภูมิภาคโดยมีมติ ครม.รองรับ สร้างเครือข่ายประชาคมพิษณุโลกและกลุ่มจังหวัด ร่วมกันพัฒนาภูมิภาคและท้องถิ่นจนเป็นต้นแบบงานประชาสังคมแห่งหนึ่งของประเทศในยุคเริ่มแรก
- พัฒนายุทธศาสตร์ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม รับผิดชอบขับเคลื่อนกระบวนการจัดทำเวทีวิสัยทัศน์จังหวัดสำหรับแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 9 งานสำคัญในระดับชาติ
- ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ในพื้นที่เป้าหมาย 35 จังหวัด ร่วมกับกองทุน สสส. วางรากฐานงานประชาสังคมระดับจังหวัดไปทั่วประเทศ
ช่วง 3. ทำงานการเมือง
เป็นช่วง 20 ปีหลัง เริ่มจากช่วยงานรัฐบาลในฐานะของนักวิชาการอิสระที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านชุมชนและการมีส่วนร่วม จนกระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภา
- เป็นที่ปรึกษาประจำเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยยุคแรก ได้รับมอบหมายให้ดูแลการจัดตั้งและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมทั้งช่วยงานรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในด้านการต่อสู้เอาชนะยาเสพติด นโยบายเอาชนะความยากจน และรับฟังปัญหาประชาชนจากผลกระทบไฟใต้
- เข้าร่วมบริหารประเทศในฐานะรัฐมนตรีหนุ่มใน ครม.ขิงแก่ โดยได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สังคมของประเทศ สามารถเปลี่ยนกระทรวงเกรดซีให้โดดเด่น จนอยู่ในความสนใจของสังคมและพรรคการเมืองทั่วไป
- ได้รับการสรรหาเป็นประธานกรรมการนโยบายองค์กร Thai PBS องค์การสื่อสาธารณะระดับชาติแห่งแรกของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นสถาบันเชิงนวัตกรรมแห่งหนึ่งของชาติ ร่วมวางรากฐานและวัฒนธรรมองค์กร ตั้งแต่ปรัชญาแนวคิด คุณค่า จริยธรรมวิชาชีพสื่อ อัตลักษณ์ แบรนด์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานในด้านอาคารสำนักงาน ทำเลที่ตั้ง ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และสถาปัตยกรรม
- ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นการทำงานในรูปแบบสภาที่ปรึกษาของรัฐบาล ร่วมกับสมาชิก 250 คน โดยได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
- ได้รับการสรรหาเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หนึ่งในหกองค์กรตระกูล ส. เป็นผู้บริหารหน่วยงานองค์การมหาชนระดับชาติ
- ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำงานในด้านนิติบัญญัติอย่างเต็มตัวตลอดระยะเวลา 5 ปีหลัง มีผลงานศึกษาพิจารณาและพัฒนารูปแบบงานในด้านการแก้ปัญหาความยากจน งานพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และงานติดตาม-เสนอแนะ-เร่งรัด ยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขัน
ด้วยสถานะของผู้สูงวัยที่ยังคงห่วงใยชาติบ้านเมืองและเยาวชนลูกหลาน เขาตั้งใจให้เวลาที่เหลือกับการสังเคราะห์บทเรียนรู้เพื่อเป็นวิทยาทานทางเลือก สำหรับผู้นำ นักบริหารและนักการเมืองรุ่นหลัง.
31 มกราคม 2568