“ นักปฏิวัติหนุ่มสาว เบ้าหลอมงาน-ชีวิต ” (08)

บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 8 โดย หมอพลเดช

อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นเสมือนบ้านเกิดเมืองนอน เขาเกิด เติบโตและเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่นั่นจนถึงมัธยมต้น

มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2515

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากนั้นเรียนจบวิทยาศาสตร์บัณฑิตและข้ามฟากมาเรียนแพทย์ต่อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช เรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนเป็นเหตุให้ตัดสินใจเข้าป่าจับปืนสู้เป็นเวลา 5 ปี ในระหว่าง ปี 2519 – 2524

ช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาที่เพื่อนฝูงเรียนจบเป็นแพทย์กันหมดแล้ว และใกล้เคียงกับช่วงที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้รับรางวัลแมกไซไซ

พรรคคอมมิวนิสต์กับขบวนนักศึกษา

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว คือตั้งแต่ปี 2485  โดยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  นักศึกษาค่อย ๆ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ที่แทรกเข้ามา ได้เรียนรู้สถานการณ์บ้านเมืองพร้อมกับการศึกษาแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองของมาร์กซ์-เลนิน และสังคมนิยมกันไปด้วย

 อีกทั้งยังมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่สวิงสุดไปทางซ้ายกันมาก จนกระทั่งทางฝ่ายขวาทนไม่ไหว จึงลุกขึ้นมากวาดล้างด้วยความรุนแรง กลายเป็นเหตุการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” ในที่สุด

เมื่อนักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามเข่นฆ่า ถูกกดดันหนักมาก จนต้องหนีเข้าป่าไปจับปืนต่อสู้ โดยพึ่งพิงพรรคคอมมิวนิสต์และกองทหารปลดแอก แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน พรรคคอมมิวนิสต์เขามีวัฒนธรรมองค์กรของเขา มีวินัย มีวิธีคิด มีชุดความคิดทางทฤษฎีและปรัชญา ส่วนนักศึกษาเองแม้จะสนใจศึกษาเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ซึมซาบเข้าไปทั้งเนื้อทั้งตัวแบบนั้น

นักศึกษาส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยสำนึกพื้นฐานและความศรัทธา มีจิตใจรักชาติ รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม เห็นใจคนยากคนจน แรก ๆ ไม่มีปัญหาอะไรมาก เหมือนข้าวใหม่ปลามัน อยู่ด้วยกันได้ดี แต่พอเมื่อเวลาผ่านไปผ่านไปนานเข้า เริ่มเห็นความแตกต่าง

เปรียบเหมือนน้ำกับน้ำมันที่บรรจุอยู่ในขวดเดียวกัน ตอนที่ขวดถูกเขย่า น้ำกับน้ำมันจะปนกันจนแยกไม่ออก  ต่อเมื่อขวดถูกวางทิ้งไว้จนนิ่ง ทุกอย่างลงตัวเข้าที่ มันก็เริ่มแยกชั้นกันอย่างชัดเจน เพราะธาตุมันต่างกัน

นักศึกษาคือชนชั้นกลาง ถ้าเป็นภาษาทฤษฎีของมาร์กซ์ก็คือกลุ่มนายทุนน้อย เขามองว่านักศึกษาไม่ใช่ชนชั้นกรรมกร-ชาวนา ไม่ใช่ชนชั้นที่จะนำการปฏิวัติ อันนี้หลักทฤษฎีความเชื่อของเขาเป็นอย่างนั้น เขาวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดิ์นา มีศัตรู 3 ตัว คือจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง

เมื่อนักศึกษาเข้าไปอยู่ในป่า เรื่องการปฏิวัติประเทศไทยนั้นเห็นตรงกัน เพราะในตอนนั้นผู้ปกครองยังเป็นเผด็จการขวาจัด การสู้กับอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการเรามีศัตรูร่วมกันที่เห็นได้ชัด เป็นปัญหาร่วมจึงไปด้วยกันได้ดี แต่พอนานวันเข้า เกิดการเรียนรู้กันมากขึ้น

ความขัดแย้งทางสากล

ทางฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ไม่ได้อยู่โดด ๆ หากมีกระบวนการความสัมพันธ์ในทางสากลเข้ามาเกี่ยวข้อง  แม้ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเองก็ยังแบ่งเป็น 2 สาย 2 แนวทาง แนวหนึ่งคือนิยมโซเวียตและเวียดนามเหนือ อีกแนวหนึ่งแนวนิยมจีน ทั้งระดับศูนย์การนำมาจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ

ตอนที่นักศึกษาออกจากป่า มีปัจจัยความขัดแย้งระหว่างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและปัญหาประชาธิปไตยภายในขบวนเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นความขัดแย้งระหว่างการต่อสู้สองแนวคิด-สองแนวทางที่แตกต่างกันในขบวนพรรคคอมมิวนิสต์กับขบวนนักศึกษา

ทางด้านกองทัพฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพหรือเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียทั้งหมดเช่นกัน ภายในก็มีความหลากหลายเป็นพลวัตร (dynamics) มีทั้งกลุ่มทหารประชาธิปไตย กลุ่มยังเติร์ก มีพวกนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เก่าที่แยกตัวออกมาและถูกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยประนามว่าเป็นกลุ่มลัทธิแก้ เข้ามามีบทบาทให้คำแนะนำ

นโยบาย 66/23

นายประเสริฐ ได้ให้ความคิดแก่พวกทหารประชาธิปไตยถึงวิธีการเอาชนะคอมมิวนิสต์  ทำให้ภายในกองทัพไทยเริ่มมีกลุ่มแนวคิดใหม่ กระทั่งเกิดผู้นำกองทัพรุ่นใหม่แบบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, พลเอกสายหยุด เกิดผล ซึ่งเป็นแนวประนีประนอม ไม่สุดโต่ง ไม่เน้นวิธีปราบรุนแรง อย่างที่เรียกกันว่า “สายพิราบ” ไม่ใช่พวกสายเหยี่ยวแบบเดิม

ส่วนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเติบโตขึ้นมาจากแม่ทัพภาคที่ 2 เข้ามาสู่การเมือง เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีบนฐานสนับสนุนทางการเมืองในรัฐสภาที่แข็งแรงพอสมควร 

ในขณะที่ขบวนนักศึกษาในป่ากำลังต่อสู้ทางความคิดทฤษฎีอยู่นั้นเอง รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ออกประกาศนโยบาย 66/2523 ต้อนรับการกลับคืนเมือง ซึ่งคนที่ร่างนโยบายตรงนี้คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธกับกลุ่มทหารประชาธิปไตย จนทำให้เกิดการหลั่งไหลออกจากป่าของนักศึกษา หมอพลเดชเองก็ออกมาจากป่าในเดือนเมษายน ปี 2524 นั่นเอง.

วันจันทร์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568