“ การฑูตยุทธศาสตร์ ” (09)

บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 9 โดย หมอพลเดช

ในช่วงชีวิตของนักปฏิวัติหนุ่มสาว มีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นจุดพลิกผัน จนทำให้เขา (หมอพลเดช) ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนเส้นทางเดิน

เมื่อพบว่าภายในพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) ไม่ได้เป็นเอกภาพ ในขณะที่กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เอง ก็มีนักศึกษาจำนวนมากถึง 6,000 คน ที่ล้นทะลักเข้ามาจนกลายเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ ภายใต้ผู้บัญชาการที่เป็นชาวนาและกรรมกร

ธรรมชาติขิงนักศึกษา เป็นกลุ่มผู้มีสติปัญญา มีความรู้ความคิด สามารถศึกษาค้นคว้าและคิดวิเคราะห์ เพราะได้ผ่านการทำกิจกรรมทางการเมืองและฝึกฝนตัวเองกันอย่างจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งในด้านโลกทัศน์และด้านชีวทัศน์

การปะทะทางวัฒนธรรม 

โลกทัศน์คือการมองโลก การวิเคราะห์โลก วิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง ติดตามบทบาทอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ ส่วนทางด้านชีวทัศน์คือการมองตัวเอง ขัดเกลาตัวเอง ตั้งคำถามต่อชีวิตว่าเกิดมาทำไม ควรจะใช้ชีวิตแบบไหนถึงจะมีคุณค่า อยู่อย่างยิ่งใหญ่-ตายอย่างมีเกียรติ หนักอย่างขุนเขาหรือเบากว่าขนนก จึงถูกหล่อหลอมขัดเกลาจนมีความก้าวหน้ากันมาตั้งแต่ก่อนเข้าป่า

ในด้านการจัดตั้ง กลุ่มนักศึกษาที่เข้าป่าจับปืนในยุคนั้น มีทั้งส่วนที่ถูกจัดตั้งและส่วนที่หนีภัยตามๆกันไป  ทางพรรคคอมมิวนิสต์เองก็มีขบวนการทำงานใต้ดินในเมืองมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  มีทั้งหน่วยสมาชิกพรรค และหน่วยสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.) 

การจัดตั้งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ซ้อนอยู่ในขบวนการของนักศึกษาประชาชนในยุคนั้น มีส่วนทำให้แนวคิดของพวกนักศึกษาได้รับอิทธิพลทางฝ่ายซ้ายมาจากทางด้านนี้เป็นหลัก พอเกิดการถูกปราบจึงเข้าทางของพรรคคอมมิวนิสต์ นักศึกษาหลั่งไหลเข้าไปร่วมต่อสู้ในป่าเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาสั้น ๆ ตามกระแสสถานการณ์ จึงเกิดปัญหาผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ พรรคคอมมิวนิสต์เองก็ไม่ได้คาดคิดอย่างนี้มาก่อน และไม่สามารถแสดงภาวะการนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อนักศึกษาหลั่งไหลกันเข้าไปเช่นนั้น ทำให้เกิดสภาพ 2 วัฒนธรรมเข้ามาอยู่ด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชน ซึ่งมีความแตกต่าง พอเข้าไปอยู่ในกองกำลังในพื้นที่ป่าเขา จึงได้สัมผัสเรียนรู้จากข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากทฤษฎี

กล่าวคือ ตามที่อ่านมาจากหนังสือทฤษฎีว่าชาวนา-กรรมกร เป็นชนชั้นนำของการปฏิวัติ การปฏิวัติจะต้องอาศัยชาวนา-กรรมกรเป็นผู้นำและเป็นกำลังหลัก แต่พวกนักศึกษาไปพบว่าชาวนาไทย กรรมกรไทยนั้นไม่ได้มีความก้าวหน้าทางจิตสำนึกอย่างในตำรา โดยในหลายเรื่องกลับมีความคิดและพฤติกรรมที่ล้าหลังไปกว่าพวกนักศึกษาเสียอีก ทั้งเรื่องวินัย จิตสำนึกและการขัดเกลาตนเอง ของจริงไม่ได้เป็นไปแบบทฤษฎี อันนี้จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ข้อมูลความรู้ที่รับรู้กันมานั้น มันใช่รึเปล่า ความจริงคืออะไรกันแน่

ความขัดแย้งทางสากล 

ทีนี้ก็มาอีกเรื่อง คือกระแสคอมมิวนิสต์สากล สิ่งนี้กลายเป็นตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ กระแสสากลในขณะนั้นเกิดการแตกต่างและแตกแยกระหว่างสายนิยมจีนกับสายนิยมโซเวียต  สองสายมีแนวคิด-แนวทางการปฏิวัติที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางสากลในค่ายโลกคอมมิวนิสต์ระหว่างจีนกับโซเวียตขึ้นมาอีกด้วย

ถัดลงมาในหมู่พรรคพี่น้องในประเทศรอบบ้าน อันได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์พี่น้องต่างได้ชัยชนะ เข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศกันหมดแล้ว เหลือเพียงเวียดนามใต้ ไทย พม่า และมาเลเซีย 

ในขณะนั้นสงครามอินโดจีนยังไม่จบ เนื่องจากเวียดนามเหนือมุ่งยึดไซ่ง่อนเพื่อรวมประเทศ จึงใช้พื้นที่ลาวและกัมพูชาเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ คือเส้นทางโฮจิมินห์ ส่วนพรรคจีนเองก็ได้อนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยใช้พื้นที่เมืองคุนหมิงเป็นจุดที่ตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ทำการส่งกระจายเสียงมาจากมณฑลยูนนาน

การฑูตเชิงยุทธศาสตร์

ปี 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูง เดินทางเยือนผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก นับเป็นการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับฐานอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงปลายยุคสงครามเย็น ส่งผลให้ช่องทางการสนับสนุนสงครามคอมมิวนิสต์ไทยถูกตัดขาด 

ผู้นำระดับสูงของจีน นำโดย เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ให้เป็นผู้ต้อนรับคณะจากรัฐบาลไทย ทั้งยังมีเฉียวกงหัว รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายพลจูเต๋อ ผู้นำกองทัพจีนและประธานสภาประชาชนจีนร่วมอยู่ด้วย ส่วนบุคคลสำคัญในคณะฝ่ายไทยที่ร่วมเดินทางในครั้งนั้น ได้แก่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน, พล.อ.อ. สิทธิ์ เศวตศิลา และนายนิสสัย เวชชาชีวะ.

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568