“ ภูมิรัฐศาสตร์สลับขั้ว ” (11)

บนเส้นทางประชาสังคม ตอนที่ 10 โดย หมอพลเดช

“ภูมิรัฐศาสตร์สลับขั้ว”

เพื่อความเข้าใจในบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ในขณะเวลานั้น

ควรพิจารณาข้อมูลของสงครามอินโดจีนและสงครามย่อยอื่น ๆ ที่ประกอบเข้าด้วยกันในภาพรวมโดยสังเขป ดังนี้

อะไรเป็นอะไร

สงครามอินโดจีนครั้งแรก คนเวียดนามเรียกว่า “สงครามฝรั่งเศส” เริ่มขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินต่อมาจนกระทั่งถึงการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสต่อเวียดนามเหนือที่สมรภูมิเดียนเบียนฟู ในปี ค.ศ. 1954 จนต้องล่าถอยออกจากการยึดครองและการเป็นเจ้าอาณานิคมกลุ่มประเทศอินโดจีน

ส่วนสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 คนเวียดนามเขาเรียกว่า “สงครามอเมริกา” เริ่มขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1950 และจบลงในปี ค.ศ. 1975 โดยสหรัฐที่เคยสนับสนุนฝรั่งเศสในสงครามครั้งแรกได้เข้าสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้เพื่อต่อกรกับเวียดกงและเวียดนามเหนือซึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนทางทหารและการเงินจากจีนและสหภาพโซเวียต

 นอกจากนั้น ยังรวมถึงการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา ระหว่างกองทัพรัฐบาลที่สหรัฐสนับสนุน กับฝ่ายเขมรแดงที่เป็นคอมมิวนิสต์ บางคนเรียกส่วนนี้ว่า “สงครามกลางเมืองกัมพูชา” และในลาวซึ่งมีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลที่สหรัฐสนับสนุน กับกองทัพประชาชนเวียดนามและขบวนการปะเทดลาวที่เป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่รู้จักกันในชื่อ “สงครามกลางเมืองลาว”

อีกทั้งยังมี “สงครามระหว่างกัมพูชา–เวียดนาม” ซึ่งเป็นสงครามติดพันกันต่อมาอีกระยะหนึ่ง เมื่อเวียดนามได้เข้าบุกกัมพูชาและขับไล่การปกครองของเขมรแดงออกไป สงครามดำเนินตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 จนถึงปี ค.ศ. 1989

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์

เพื่อเข้าใจเหตุการณ์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ลองพิจารณาไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์ของสงครามเวียดนามหรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวการสนับสนุนอย่างเต็มตัว โดยทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มประเทศอินโดจีนและเกี่ยวข้อง-ยึดโยงกับสงครามปลดปล่อยในประเทศต่างๆ รวมทั้งในบ้านเรา ซึ่งมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โดยสังเขป ดังนี้

  • ปี พ.ศ. 2513  นายพลลอนนอลทำรัฐประหารโค่นล้มเจ้าสีหนุ ตั้งรัฐบาลที่ประกาศตัวนิยมสหรัฐอเมริกาสุดตัว ต่อต้านเวียดนามเหนือ สูญเสียความเป็นกลาง  ทำให้เวียดนามเหนือถูกคุกคามกดดันจากรัฐบาลเขมรลอนนอลจากด้านทิศตะวันตก และจากอเมริกากับเวียดนามใต้มาทางด้านทิศใต้ 
  • เวียดนามเหนือส่งกองทัพเวียดกงเข้าไปช่วยป้องกันฐานที่มั่นเขมรแดง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ (เส้นทางโฮจิมินห์) ส่งเสบียงและอาวุธสนับสนุนการปลดปล่อยเวียดนามภาคใต้
  • 17 เมษายน พ.ศ. 2518  เขมรแดง (พอล พต) ตีกรุงพนมเปญแตก รัฐบาลลอนนอลพ่ายแพ้ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เขมรแดงตั้งรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย 
  • 30 เมษายน พ.ศ. 2518  กองทัพเวียดนามเหนือขับไล่สหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ รัฐบาลไซง่อนล่มสลาย มีการรวมประเทศเวียดนามเหนือ-ใต้
  • 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 สงครามกลางเมืองลาวสิ้นสุดลง พรรคประชาชนปฏิวัติลาวซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนลาวที่อยู่ในเวียดนามเหนือ ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือและสหภาพโซเวียต นำโดยเจ้าสุภานุวงศ์ ล้มล้างรัฐบาลของเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
  • รัฐบาลพอลพตเริ่มปราบปรามชนกลุ่มน้อยเชื้อสายขะแมร์กรอม ปี พ.ศ. 2521 พอลพตไปเยือนจีน  ฝ่ายเวียดนามเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารภายใต้สนธิสัญญากับสหภาพโซเวียต หนุนผู้แปรพักตร์จากรัฐบาลเขมร ตั้งกองกำลังพลัดถิ่นกู้ชาติกัมพูชา (UFNSK) มีเฮงซำริน-ฮุนเซนเป็นผู้นำ 
  • 7 มกราคม พ.ศ. 2521  กองกำลัง UFNSK ที่มีทหารเวียดนามปะปนมาด้วย 1 แสนคน บุกโจมตีรัฐบาลเขมรแดงจนต้องถอยออกจากพนมเปญ 
  • ทางด้านประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้ตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย(สปท.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นกระบอกเสียง ส่งกระจายเสียงด้วยระบบคลื่นสั้น (short wave) รับฟังได้ทั่วประเทศ แรกๆส่งสัญญาณมาจากฮานอย ต่อมาย้ายไปตั้งสถานีที่คุนหมิง 
  • ผลจากการเจรจาทางการฑูตกับรัฐบาลไทยในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 รัฐบาลจีนต้องปิดสถานี สปท. เพื่อแลกกับการอนุญาตให้รัฐบาลจีนส่งอาวุธผ่านทางไปให้เขมรแดงสู้กับเวียดนาม ทำให้ สปท.ต้องย้ายมาออกอากาศจากดอยผาจิ(พะเยา) และภูหินร่องกล้า ก่อนที่จะถูกทางการยึดได้แบบเบ็ดเสร็จในปี พ.ศ. 2524  

ด้วยเหตุปัจจัยและบริบทเหล่านี้ รวมทั้งงานเจรจาขอความร่วมมือทางการทูตระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนนับจากยุครัฐบาลคึกฤทธิ์ถึงรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ได้ส่งผลให้จีนตัดการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งจีนถือเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพี่-พรรคน้อง

การเล่น 2 หน้าแบบนี้ กระทบอย่างรุนแรงต่อการปฏิบัติการในภาคสนามของพรรคคอมมิวนิสต์และ ทปท. ยิ่งเสริมให้นโยบาย 66/2523 ของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ผลดีเกินคาด จนถึงขั้นทำให้ “ป่าแตก” และในที่สุดสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ก็ต้องปิดตัวลงในราวปี พ.ศ. 2524 นั้นเอง.

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568