เลือกทำเกษตรมูลค่าสูง

จีนแก้จน (ฉบับที่ 10)

จากการสังเกตุในระหว่างการเดินทางไปศึกษาดูงานและท่องเที่ยวทัศนศึกษาประเทศจีนในโอกาส สถานที่และภูมิภาคต่างๆ พบว่าชนบทจีนมีการทำการเกษตรในลักษณะ “ทำสวน” กันอยู่ทั่วไป

ทั้งตามหมู่บ้าน หุบเขา เนินเขา เต็มไปด้วยโรงเรือนกระจกสำหรับทำเกษตรกรรม เป็นการทำการเกษตรแบบที่ใช้ดินน้อย น้ำน้อยและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพาะปลูก 

แลหาเท่าไรก็ไม่ค่อยเห็น “การทำไร่” แบบที่ต้องบุกเบิกพื้นที่ป่าเขาเพื่อใช้เนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จนเกิดเป็นภูเขาหัวโล้นเต็มไปหมดแบบภาคเหนือของไทย  หรือไร่มันสัมปะหลัง ไร่อ้อยทั่วที่ราบสูงทางภาคอีสาน หรือแม้กระทั่งการ “ทำนา” ที่ต่อผืนกันเป็นทุ่งกว้างแบบที่ราบภาคกลางของไทยก็ไม่ค่อยเห็นเช่นกัน อันนี้น่าจะไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ 

” เลือกทำเกษตรมูลค่าสูง ” จีนแก้จน (ฉบับที่ 10)

แผนพัฒนาเกษตร ฉบับที่ 14 ของประเทศจีน

เมื่อปี 2565 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของไทย ได้ศึกษารายละเอียดของแผนพัฒนาเกษตร ฉบับที่ 14 ของประเทศจีน  พบว่ามีเป้าหมายหลัก คือ 

(1) การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาปริมาณการผลิตธัญพืชที่ระดับ650 ล้านตันต่อปี หรือมากกว่า และผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้ 89 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568  

(2) การปรับปรุงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และมีสัดส่วนอยู่ในปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตร ให้ถึงร้อยละ 64 ภายในปี 2568  

(3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เพิ่มจำนวนถนนลาดยาง และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสาธารณะ 

(4) การพัฒนาระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมในชนบทจากการทำเกษตรกรรม ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์  

(5) เพิ่มรายได้ชาวชนบทให้เติบโตต่อเนื่อง โดยการขยายตัวของรายได้ต่อหัวของคนชนบทต้องสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)  

(6) การมุ่งมั่นขจัดความยากจน ติดตามและช่วยเหลือประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้กลับสู่ความยากจน

อย่างไรก็ตาม นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ของจีนเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเรียนรู้ และที่สำคัญควรติดตามปรับตัวให้สามารถก้าวทัน 

ในปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาในเรื่องการเกษตรสมัยใหม่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทำการเกษตรในร่ม (In-door) และเทคโนโลยีเรือนกระจก(Green house technology) ที่มีความรุดหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีการก่อสร้างโรงงานปลูกพืชขนาดใหญ่ในหลากหลายพื้นที่ทั้งภายในประเทศจีนเองและในหลายภูมิภาคทั่วโลก

ตัวอย่างโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ที่ทดลองปลูกพืชกลางทะเลทราย ระหว่างประเทศจีนกับประเทศอียิปต์ โดยวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญล้วนนำไปจากประเทศจีนทั้งสิ้น นอกจากนี้ ภายในบริเวณโรงเรือนยังมีพื้นที่สำหรับคัดแยก บรรจุหีบห่อ และจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล

กุญแจสำคัญที่ช่วยให้จีนสามารถขับเคลื่อนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เช่นการเพาะปลูกพืชในทะเลทราย ให้เป็นไปได้ ก็คือ ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ทันสมัยด้านการเกษตร เพื่อเอาชนะธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดมุมมองที่สำคัญของภาคเกษตรกรรมจีน

ดังนั้นเมื่อหันมามองการเกษตรในบ้านเรา ถึงเวลาที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้ทันสมัยและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพราะจะเป็นทั้ง “ทางเลือกและทางรอด” สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนายกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย 

กล่าวคือ ต้องมุ่งให้ความสำคัญกับการเกษตรมูลค่าสูง (High Value) และการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) ที่เน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูก โดยนำเอาเทคโนโลยีและระบบเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การตรวจวัดสภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ ความเป็นกรดเป็นด่าง รวมไปถึงระบบสั่งการและควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ 

เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่  รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 23 พฤศจิกายน 2566