มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม (CSDF) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางและบทบาทภาคธุรกิจเอกชนกับภาคประชาสังคมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามกรอบ ESG” เมื่อวันที่ 29 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมชัยพฤกษ์ โรงแรมแกรนด์ราชพฤกษ์ นนทบุรี
เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกรอบความคิด ESG และจัดทำโครงการในการสนับสนุนให้บริษัทที่จดทะเบียนและนักลงทุน ตลอดจนหารือรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจการลงทุนกับนักพัฒนาภาคประชาสังคม พร้อมทั้งยกร่างกรอบประเด็นและตัวอย่างเมนูโครงการรูปธรรม
ปาฐกถานำโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม อธิบายวัตถุประสงค์โครงการ และกรอบแนวคิดของ ESG (Environmental, Social, and Governance) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทาง ภาคเอกชน ภาคผู้ให้ทุน ภาคประชาสังคม
มีเครือข่ายที่เข้าร่วม อาทิ
ภาคประชาสังคม (มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม, มูลนิธิที่อยู่อาศัย, สถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์)
ภาคธุรกิจ (บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด, วัสดุกันความร้อนบริษัท ไมโครไฟเบอร์อุตสาหกรรม, app ZONE) , สสส. , สมาชิกวุฒิสภา และองค์กรอื่นๆที่สนใจเข้าร่วม






————————-
หลักการ และเหตุผล
โลกกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) อันเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่เกิดจากความผันแปรตามธรรมชาติ และยังหมายความรวมถึงอุณหภูมิสูงหรือต่ำผิดปกติ ฝนตกหนัก ฝนแล้ง ลมพายุรุนแรง เป็นต้น
กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่มีผลทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เช่น การปศุสัตว์ การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิส การใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเกินความจำเป็น การสร้างขยะ การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ย่อยสลายยาก เหล่านี้เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่าภาวะโลกร้อน (Global Warming)
ภาคธุรกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นความหวังในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม กลุ่ม NGO และผู้บริโภคขอให้ธุรกิจตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหานี้ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีความรู้เพื่อดำเนินธุรกิจโดยไม่เพิ่มปัญหา หรือยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องสร้างประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกหรือปัญหาภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ดีการติดตามข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและ Mega Trends ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างครอบคลุม การเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเพื่อนำมาวิเคราะห์ช่องว่าง อาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถหรือสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการต่อต้านของสังคม
การลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ทั่วโลกให้ความสนใจท่ามกลางวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การลงทุนจึงไม่ใช่เป็นเพียงการมุ่งหวังผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ การจัดการด้านสังคม และการจัดการด้านธรรมาภิบาล สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยพิจารณาผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือที่รู้จักกันว่า “ESG”
ปัจจุบัน “แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” (Environmental, Social, Governance: ESG) กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากได้มีข้อสรุปว่าภาคธุรกิจ เอกชน ที่ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราจะเห็นได้ว่า ผู้จัดการกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของกิจการและสังคมโดยรวมมากขึ้น เพราะทุก ๆ การตัดสินใจสะท้อนให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการด้วย
สำหรับประเทศไทย การลงทุนแบบยั่งยืนที่ว่านี้ กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในตลาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทจดทะเบียนชั้นนำหลายรายมีการนำข้อมูลทางด้าน ESG มาเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชนให้ทราบถึงการดำเนินงานของกิจการในรูปแบบของการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability reporting) ควบคู่ไปกับการรายงานข้อมูลทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการการลงทุนหลายแห่ง ที่มีการออกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง ก็ได้สนับสนุนการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ รวมไปถึงจัดทำดัชนี SETTHSI
ทั้งนี้ รายงานความยั่งยืน จะเปรียบเสมือนคัมภีร์เล่มสำคัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจของกิจการในระยะยาว เพราะหากบริษัทไหนมีความโดดเด่นในด้าน ESG นั้นย่อมหมายความว่า บริษัทนั้น ๆ มีกลยุทธ์ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานทั้งในเชิงคุณภาพ (คำนึงถึงมิติทางด้าน ESG) และเชิงปริมาณ (ผลประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน) อย่างแท้จริง
สำหรับการวัดผลทางด้าน ESG นั้น องค์กรต้องพิจารณาเลือกตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ และมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อกำหนดวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการวัดผลและจัดทำรายงาน โดยตัวอย่างของการวัดผลทางด้าน ESG ดังต่อไปนี้
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม สามารถวัดได้จากปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการผลิตและการเดินทางของผู้บริหารและพนักงาน ปริมาณการปล่อยของเสียจากการผลิต ปริมาณการใช้กระดาษ และเปอร์เซ็นต์การประหยัดพลังงานและการใช้น้ำในสถานประกอบการ
- มิติด้านสังคม สามารถวัดได้จากเปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่ได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลภายในองค์กร เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมให้ทราบถึงผลกระทบของ ESG ที่มีต่อผลประกอบการของธุรกิจ กิจกรรมหรือโครงการเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร เป็นต้น
- มิติด้านบรรษัทภิบาล สามารถวัดได้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท การดำเนินการเพื่อลดการทุจริต การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมด้าน ESG ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการมีโครงสร้างกำกับดูแลกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในส่วนของภาคประชาสังคมในประเทศไทย มีหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้โดยตรงไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาและด้านสิ่งแวดล้อม ที่พยายามรวมตัวกัน เพื่อขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) มากกว่า เช่น คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice – TCJ)เป็นเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมในประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นในราวต้นปี พ.ศ. 2551 โดยมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการดำเนินการต่างๆ ที่ส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในการเจรจาและการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศ
มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม Civil Society Development Foundation (CSDF)เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงประเด็น และเชิงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สนับสนุนบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตลอดจนส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์ การบรรเทาทุกข์ การบรรเทาสาธารณภัย และสาธารณประโยชน์อื่น ๆเช่น การศึกษา การสาธารณสุข และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแก่ประชาชนทั่วไป ทั้งในและนอกระบบ ดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงาน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อมุ่งหวังที่จะพัฒนาสังคม/ชุมชนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับ แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” (Environmental, Social, Governance: ESG) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่องค์กรภาคประชาสังคมยังไม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจเชื่อมประสานการขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่กำลังขับเคลื่อนตามกรอบความคิดการพัฒนาและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ดังนั้น มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม (CSDF) จึงจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางและบทบาทภาคธุรกิจในการพัฒนาตามกรอบ ESG” เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกรอบความคิด ESG และจัดทำโครงการในการสนับสนุนให้บริษัทที่จดทะเบียนและนักลงทุน ตลอดจนหารือรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจการลงทุนกับนักพัฒนาภาคประชาสังคม พร้อมทั้งยกร่างกรอบประเด็นและตัวอย่างเมนูโครงการรูปธรรม