ยิ่งปราบยิ่งโต ยาเสพติดไทย

รายงานประชาชน ฉบับที่ 11/2567

ได้ฟังรายงานผลการปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2565 ตามที่ ป.ป.ส. มานำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาแล้วให้ความรู้สึกรวบยอดเพียงประการเดียวว่า “ยิ่งปราบยิ่งโต”

” ยิ่งปราบยิ่งโต ยาเสพติดไทย “

นับตั้งแต่ปี 2541 เมื่อตอนที่ผู้เขียนเริ่มเข้ามาร่วมทำงานพัฒนาสังคมในหน่วยงานส่วนกลางอย่างเต็มตัว จำได้ว่านักวิชาการได้ชี้ปัญหามะเร็งร้ายของสังคมไทยไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ ความยากจน ยาเสพติด และทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งผู้นำและพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรค ต่างก็ชูขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียง โดยขายฝันว่าตนสามารถเอาชนะได้ ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาล

ผลการปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในปี 2565 ได้จับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวนคดีที่จับกุม 198,203 คดี มีจำนวนของกลางที่สำคัญ ยาบ้า 331 ล้านเม็ด ไอซ์ 6,459 กิโลกรัม เฮโรอีน 541 กิโลกรัม โคเคน 25 กิโลกรัม กัญชาแห้ง 2,948 กิโลกรัม กัญชาสด 451 กิโลกรัม และพืชกระท่อม 1 กิโลกรัม ทั้งนี้โดยการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการจับกุมคดียาเสพติดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในสังกัดตำรวจ กรมการปกครอง และอื่นๆด้วย

ได้มีการขยายผลไปสู่มาตรการริบทรัพย์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มูลค่าสินทรัพย์ที่อายัดได้ 11,003 ล้านบาท และนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาสมคบ สนับสนุน ตามมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 จำนวน 2,136 ราย

ป.ป.ส. มุ่งเน้นให้มีการปราบปรามเพื่อทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติดด้วยมาตรการทางทรัพย์สิน การสืบสวนขยายผล การใช้มาตรการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ผลการดำเนินงาน จากเป้าหมาย 783 เครือข่าย ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหา 423 คนและยึดทรัพย์สิน 1,540 ล้านบาท

ในด้านสถานการณ์ยาเสพติดโลก หน่วยงาน UNODC แห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ปี 2022 พื้นที่ปลูกฝิ่นทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงแต่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตช่วยเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้มาก ขณะที่ยาเสพติดที่เป็นอนุพันธุ์ของแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากแพร่ขยายไปในหลายภูมิภาค อีกทั้งเครือข่ายผู้ผลิตยาเสพติดได้ปรับเปลี่ยนไปใช้สารตั้งต้นเป็นสารเคมีที่ถูกควบคุมน้อยกว่ามาทดแทน นอกจากนั้นภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การค้ายาเสพติดและการลักลอบขนส่งยาเสพติดระหว่างประเทศได้กลับมารุนแรง

สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียน พื้ทนที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีการผลิตยาเสพติดหลายประเภทออกสู่ตลาด สำหรับการเพาะปลูกฝิ่นที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 (ปี 2013-2020) บัดนี้พื้นที่ปลูกลดลงมาโดยตลอด โดยทิศทางการผลิตยาเสพติดสังเคราะห์กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การพิสูจน์ไอซ์ที่ถูกตรวจจับในประเทศไทย พบว่า ใช้สารอีเฟรดีนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ พบการลักลอบลำเลียงคาเฟอีนมาจากประเทศเพื่อนบ้านทางจังหวัดเลย ส่งข้ามไปแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งจังหวัดตาก ทั้งนี้บริบทสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเมียนมายังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์กรอาชญากรรมยาเสพติดก็มีศักยภาพในการเข้าถึงเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัย ส่วนในด้านยาเสพติดสังเคราะห์ประเภทเคตามีนเชื่อว่าแหล่งผลิตใหญ่ออกมาจากด้านกัมพูชา

ประเทศไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นตลาดหรือทางผ่านของยาเสพติดในระดับภูมิภาค รวมทั้งนำเข้า ส่งออก ได้แก่ ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน เคตามีน และกัญชา ลักลอบเข้ามาทางภาคเหนือตอนบน รองลงมาทางชายแดนริมน้ำโขง และชายแดนด้านตะวันตก รูปแบบการลักลอบนำเข้ามีหลายวิธีตามสภาพแวดล้อม โอกาส และมาตรการสะกัดกั้น นอกจากนั้นยาอี (เอ็กซ์ตาซี) ยังถูกลักลอบนำเข้ามาทางท่าอากาศยานนานาชาติและระบบไปรษณียภัณฑ์ระหว่างประเทศจากทวีปยุโรป เช่นเดียวกับโคเคนจากทวีปอเมริกาใต้

แนวโน้มยาเสพติดโดยรวม

  • การขยายตัวของเครือข่ายอาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติเพิ่มขึ้น
  • ยาเสพติดสังเคราะห์ในกลุ่มประเทศนอกลุ่มน้ำโขง ผ่านท่าเรือสากล ท่าอากาศยาน และพัสดุไปรษณียภัณฑ์
  • ปัญหายาเสพติดในประเทศยังคงรุนแรง
  • การปลดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 อาจเกิดผลกระทบด้านลบแก่ประชาชน เด็ก เยาวชน
  • ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีนยังคงเป็นยาเสพติดหลัก รวมทั้ง Club Drugs สูตรผสมผสาน บรรจุในซองกาแฟ
  • สถานประกอบการ ที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ ขนส่งสินค้า สถานบันเทิง เป็นแหล่งแพร่ระบาด ค้า กระจายยา
  • ปริมาณยาเสพติดที่แพร่กระจายทำให้ความต้องการในประเทศสูง
  • กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง+

รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 11/2567 วันที่ 1 กรกฎาคม 2567