ประกันภัยเกษตรกรรม

รายงานประชาชน ฉบับที่ 14/2567

ความเดือดร้อนของเกษตรกร เป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลอีกเรื่องหนึ่งที่ประทุขึ้นมาเป็นระลอก จนกลายเป็นธรรมเนียมที่พรรคการเมืองต้องขายนโยบายที่ประดิดประดอยขึ้นมาเพื่อแลกกับคะแนนเสียง

และใช้งบกลางเป็นเงินก้อนใหญ่เพื่อชดเชยเยียวยาให้แก่เกษตรกรแบบให้เปล่าหมดไป รวมทั้งเงินอุดหนุนเป็นเบี้ยประกันภัย

ประเทศไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมมาจากสังคมเกษตร มีประชากรที่เกี่ยวข้อง 25 ล้านคน (ร้อยละ 40) ภาคเกษตรกรรม มี GDP 1.83 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 8.81) จึงเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรส่วนข้างมาก

“ ประกันภัยเกษตรกรรม ”

ปี 2563 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารในอันดับที่ 11 ของโลก สอดคล้องกับนโยบาย “ครัวไทย ครัวโลก” มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกตลาด ทั้งจีน อาเซียน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ยางพารา น้ำมันปาล์ม ผลไม้ เนื้อไก่ นม ปลา ปลาหมึกและกุ้ง ส่วนที่ลดลง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเนื้อสุกร

อย่างไรก็ตาม จากดัชนี Oceanic Nino Index บ่งชี้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้เข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา  ทำระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ เกษตรกรไทยยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงภัยที่ไม่แน่นอน จากกลุ่มภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยตรง ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก เกิดภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ตกต่ำลง เป็นภาวะหนี้สินเรื้อรังที่ยากจะแก้ไข

ในด้านการเฝ้าระวัง กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำข้อมูลรายงานความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย 12 อย่างอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง ศัตรูพืชระบาดและโรคระบาด วาตภัย อัคคีภัย พายุลูกเห็บ ช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร อากาศหนาว อากาศแปรปรวน ดินทรายทับถม และการกระทำจากกองกำลังต่างชาติ ซึ่งระหว่างปี 2550-2565 พบว่ารัฐต้องใช้วงเงินช่วยเหลือ 1,393-10,631 ล้านบาท

เกษตรกรไทยร้อยละ 90 มีหนี้สิน เฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ร้อยละ 41 อยู่ในมาตรการพักหนี้เกิน 4 ปี เป็นหนี้โดยเฉลี่ย 3.8 ก้อน ทั้งจากสถาบันการเงินของรัฐ สถาบันการเงินชุมชน แหล่งเงินกู้นอกระบบ และบริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 57) ปริมาณหนี้เกินศักยภาพที่จะชำระ ที่สำคัญมีพฤติกรรมหมุนหนี้ในวงกว้าง หนี้เก่าไม่ลด หนี้ใหม่พอกพูนเป็นวงจรหนี้

ในด้านมาตรการของรัฐที่เข้าช่วยเหลือ มีทั้งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และมาตรการระบบประกันภัยที่สอดคล้องกับ พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการความเสี่ยง จัดการผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งคาดการณ์และป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินได้ด้วยตนเอง

ในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ได้นำเสนอแนวทางการยกระดับระบบประกันภัยเกษตรกรรม รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ในช่วงต้นปี 2567 โดยเห็นควรมีแนวทางในการยกระดับกลไกการดำเนินงานระบบประกันภัยเกษตรกรรม ได้แก่ 

1) ตรากฎหมายประกันภัยเกษตรกรรมเป็นกฎหมายเฉพาะ แทนที่จะรวมอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ พรบ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ดังเช่นตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

2) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายประกันภัยเกษตรกรรม โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีกลไกสนับสนุนการทำงานอีกอย่างน้อย 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกันภัยเกษตรกรรมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับคณะอนุกรรมการออกแบบระบบการประกันภัยเกษตรกรรม

 3) จัดตั้งกองทุนประกันพิบัติภัยเกษตรกรรม เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและความเสียหายต่อการประกันภัยเกษตรกรรมโดยการรับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันภัยและทำประกันภัยต่อ รับช่วงความเสี่ยงที่มีความเสียหายสูง หรือการทำการประกันภัยต่อในรูปแบบการคุ้มครองความเสียหายส่วนเกิน

4) พิจารณาแนวทางลดสัดส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากภาครัฐ และเพิ่มสัดส่วนการร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยจากเกษตรกร ทั้งในรูปแบบร่วมจ่ายและจ่ายเองทั้งหมด โดยสร้างระบบแรงจูงใจ เพิ่มคุณค่า รวมถึงสร้างความตระหนักถึงผลประโยชน์ของการประกันภัย

5) จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบการประกันภัยเกษตรกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นทุนใช้จ่ายในการพัฒนาระบบการประกันภัยเกษตรกรรม พัฒนาเทคโนโลยี ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ความเสี่ยง รวมทั้งให้ความรู้แก่บุคลากร โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยนำส่งเงินเข้ากองทุนตามสัดส่วนของเบี้ยประกันภัยเกษตรกรรม.

รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 14/2567 วันที่ 15 กรกฎาคม 2567