รัฐสภากับงานพัฒนาประเทศ

รายงานประชาชน ฉบับที่ 15/2567

ระบบรัฐสภาคู่ 

รัฐสภาไทย ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร(สส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา(สว.)  200 คน

ทุกคนต่างมีสองสถานะในการทำหน้าที่ คือ เป็น สส. หรือ สว. และเป็นสมาชิกรัฐสภา

รัฐสภาเป็นกลไกอำนาจสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย สนับสนุนนโยบายการพัฒนาชาติบ้านเมือง และตรวจสอบถ่วงดุลกับอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายตุลาการ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

” รัฐสภากับงานพัฒนาประเทศ “

โชคไม่ดีนัก ระบอบประชาธิปไตยของไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มิได้พัฒนาการอย่างราบรื่น ตรงข้ามมีความขัดแย้งแตกแยก มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆตลอดมา กระทั่งเกิดประทุเป็นความรุนแรงในระดับการนองเลือดอยู่หลายครั้ง รัฐประหารยึดอำนาจก็เกิดบ่อย จึงมีความพยายามในการปฏิรูปการเมืองกันเรื่อยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 2550 และ 2560 แต่ยังแก้ปัญหาไม่ตก

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวม 12 แผน 60 ปี ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่สังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนท้องถิ่นกลับมีปัญหาจากผลกระทบการพัฒนาหนักขึ้นทุกทีจนเข้าขั้นวิกฤติ ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านและคู่แข่งทางเศรษฐกิจต่างเติบโตขึ้นมาตามห้วงเวลา จนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง

เล่นการเมือง ลืมบ้านเมือง

ท่ามกลางสภาพดังกล่าว การเมืองไทยในฐานะ “ระบบสมรรถนะแห่งชาติ ในการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์แก่คนในชาติอย่างเป็นธรรม ยั่งยืน” กลับไม่สามารถแสดงบทบาทนำในการจัดการปัญหาของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ  

ส่วนสำคัญเป็นเพราะ นักการเมืองและพรรคการเมืองไทยมีค่านิยมแบบ “เล่นการเมือง” กันอยู่ตลอดเวลา แก้ปัญหาความยากจนไม่สำเร็จ ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างขยาย ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยาเสพติดและทุจริตคอร์รัปชันแทรกอยู่ในทุกอณูของสังคม

การปฏิรูปการเมืองในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ยังคงมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการเขียนใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้งออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแล โดยหวังว่าเมื่อแก้โครงสร้างส่วนบนแล้ว จะสามารถบังคับทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปตามนั้นได้  

แต่สุดท้ายพิสูจน์แล้วว่าการทำจาก “บนลงล่าง” ไม่ได้ผล เสมือนการสร้างพระเจดีย์ไม่มีทางสำเร็จด้วยการทำจากยอดลงมาหาฐานฉันนั้น สิ่งที่ขาดไปคือการมุ่งพัฒนาลงไปที่ตัวนักการเมืองและประชาชนผู้เป็นคนเลือกให้มีคุณภาพใหม่ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาจากฐานล่าง

รัฐสภาเพื่อการพัฒนา

เมื่อพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะทำเพื่อส่วนรวม หากเข้ามาทำการเมืองเพื่อไต่เต้า แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน อีกทั้งยังมีค่านิยมการเมืองในเชิงทำลายล้างมากกว่าการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ชอบสร้างวาทกรรมด้อยค่า ดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำสังคมแตกแยก เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น แทงกันข้างหลัง กระทั่งบ่อนทำลายความมั่นคง ความรักสามัคคี และลามปามถึงขั้นเป็นกบฏล้มล้างการปกครอง เช่นนี้ประชาชนและสังคมจึงไม่อาจคาดหวังการพัฒนาจากรัฐสภาในส่วน สส.นี้ได้

ทางด้านวุฒิสภา (สว.) ในอดีตทั้ง 12 ชุดที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยง คอยช่วยประคับประคองและกลั่นกรอง เติมเต็มการทำงานด้านนิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ได้มาจากการแต่งตั้งจากกลไกผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติความเชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ได้มากกว่าวิธีการเลือกหรือเลือกตั้งตามปกติ 

เมื่อเปรียบเทียบกัน ทางด้าน สว. ยังคงมีสภาพแวดล้อมและวิถีการทำงานในเชิงการพัฒนาและประสานการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชนได้มากกว่าฝั่ง สส. แม้ว่าขณะนี้กำลังมีแนวโน้มการแพร่ระบาดของวัฒนธรรม“เล่นการเมือง” แทรกเข้ามาแล้วก็ตาม

กล่าวโดยสรุปแล้ว การปฏิรูปการเมืองจะทำแต่โครงสร้างส่วนบนนั้นไม่พอ ต้องมุ่งในการเปลี่ยนที่ตัวนักการเมืองและพรรคการเมืองให้มีอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติโดยส่วนรวม เป็นพรรคการเมืองที่เป็นความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค มุ่งเปลี่ยนประชาชนให้มีความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และต้องมุ่งเปลี่ยน “รัฐสภาเพื่อการเมือง” ให้เป็น “รัฐสภาเพื่อการพัฒนา”

ชมรมรัฐสภาเพื่อการพัฒนา

เป็นแนวคิดที่ริเริ่มก่อตัวขึ้นจากการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภาในชุดที่แล้ว ปัจจุบันกำลังก่อตัวขึ้นที่บริเวณชายขอบชายแดนของรัฐสภา เป็นทางเลือกสำหรับสมาชิกรัฐสภาทุกคน ทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมถึงอดีตผู้สมัครสส./สว.และภาคพลเมืองที่มีความมุ่งมั่น มีจิตสำนึกสาธารณะและมีศรัทธาที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดี ที่เจริญ เพื่อเป็นฐานรองรับบทบาทของภาคีเครือข่ายที่ทำงานอยู่รายรอบรัฐสภา ทำหน้าที่เชื่อมโยงสมาชิกรัฐสภากับประชาชนและชุมชนที่อยู่ภายนอก

สถานภาพ

เป็นโครงการพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงบทบาทของสมาชิกรัฐสภา (สส.สว.) กับกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นรู้และนักพัฒนาสังคมผู้มีอุดมการณ์ในหลากหลายสาขา โดยผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรม ทั้งในระดับพื้นที่และในเชิงประเด็น

องค์กรรับผิดชอบ

บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม “ซิติเซนโซน” (citizen zone)

วัตถุประสงค์

1.เชื่อมโยงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกรัฐสภาและอดีตผู้สมัคร สส./สว. ที่สนใจ กับกลุ่ม องค์กร ชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

2.พัฒนาประเด็นงานและกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ในด้านสวัสดิการสังคม เศรษฐกิจฐานราก ท่องเที่ยวชุมชน สิ่งแวดล้อม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ธรรมาภิบาลท้องถิ่น ประชาธิปไตย ฯลฯ

3.พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการเมืองและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.

รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 15/2567 วันที่ 22 กรกฎาคม 2567