ผ่า กทม. เพิ่มประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม

รายงานประชาชน ฉบับที่ 16/2567

รัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยเฉพาะ พ.ศ. 2560 2550 และ 2540 ต่างให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจในรูปแบบการปกครองท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบทั่วไป

คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล กับรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ พัทยา

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางของประเทศ มีทั้งบุคลากร องค์กร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพ มีความเหมาะสมสามารถบริหารจัดการเมืองได้ด้วยตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมิได้มีโครงสร้างที่ส่งเสริมให้เป็นไปในรูปแบบการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

” ผ่า กทม. เพิ่มประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม “

โครงสร้างกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเป็นฝ่ายบริหาร มีข้าราชการประจำเป็นผู้บังคับบัญชาในแต่ละเขต และฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่สภากรุงเทพมหานคร มีสมาชิกเขตละ 1 คน รวม 50 คน  มีข้อจำกัดในด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทำให้ศักยภาพของปัจเจกชนพลเมือง ชุมชน และสังคมขาดโอกาสในการบริหารจัดการโดยตนเอง

คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ในวุฒิสภาชุดที่แล้ว ได้ดำเนินการศึกษาพิจารณาโครงสร้าง กทม. ตามแนวทางการกระจายอำนาจว่าควรจะเป็นในรูปแบบใด ใช้เวลาเก็บข้อมูลอยู่ 2 ปี ด้วยวิธีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ การรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกกลุ่ม และการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น 

สรุปประเด็นสำคัญไว้ 4 ประการ ดังนี้

1. โครงสร้าง กทม. ไม่กระจายอำนาจ

เนื่องจากโครงสร้างระดับฐานของ กทม. ประกอบด้วย 50 เขต เป็นโครงสร้างของระบบราชการประจำ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในเขตเข้ามาร่วมบริหารจัดการกิจกรรม-กิจการสาธารณะในเขตได้โดยตรง จึงไม่ตอบสนองต่อหลักการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ 2560

2. ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับเขต

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ยังไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะมีโครงสร้างในการเลือกผู้บริหาร กทม. แบบชั้นเดียว เขตต่างๆ ที่เป็นฐานเมืองของ กทม. ยังคงเป็นภารกิจของข้าราชการประจำที่เป็นผู้บริหารหน่วยงาน ประชาชนขาดโอกาสทางการเมืองที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารของเขตโดยตรง

3. การมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมสาธารณะมีข้อจำกัด

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนของ กทม. ถือเป็นหัวใจของการปกครองแบบประชาธิปไตย สำหรับการเปิดช่องทางให้ประชาชนใน กทม.ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ให้ประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมกิจกรรม และร่วมติดตามตรวจสอบ ทั้งในรูปแบบบุคคล กลุ่มคน ชมรม สมาคม และองค์การอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องรวมกันบรรจุเป็นนโยบาย ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นข้อจำกัด เป็นช่องว่าง

4. ความไม่สมดุลในระบบบริการสาธารณะ

ด้วย กทม. เป็นเมืองหลวงของประเทศ จึงมีภารกิจที่มากกว่าและแต่งต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ภาระงานของ กทม. ยังคงมุ่งตอบโจทย์ต่อโครงการมหภาคมากกว่า จึงทำให้งานบริการสาธารณะในระดับเขตถูกมองเป็นเพียงภาระงานรอง งานบริการสาธารณะส่วนใหญ่มุ่งไปในโครงการระดับมหภาคในมิติต่างๆเป็นสำคัญ ทำให้สัดส่วนงานและงบประมาณที่ต้องใช้ในการบริการสาธารณะต่อชุมชนภายในเขตต่างๆ กลายเป็นปัจจัยรองและมีข้อจำกัด

ด้วยประเด็นสำคัญทั้ง 4 ประการข้างต้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแนวทางในการปรับโครงสร้างการบริหารงาน กทม. จึงต้องให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ นั่นคือ ควรกำหนดเป็นโครงสร้างเป็นแบบ 2 ชั้น (TWO-TIER SYSTEM) แบบเดียวกับเมืองมหานครใหญ่ของโลกตามแนวทางการกระจายอำนาจหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประเทศเหล่านั้น เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว

กทม. ควรมีโครงสร้าง 2 ชั้น โดยโครงสร้างส่วนบน (Upper Tier) ดูแลโครงการระดับมหภาค ผู้บริหารได้แก่ ผู้ว่าราชการ กทม. และฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภา กทม. 50 คน 50 เขต ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง  ส่วนโครงสร้างส่วนล่าง (Lower Tier) ซึ่งเทียบเท่าเทศบาลนครนั้น ให้ประกอบด้วยด้านบริหารคือนายกนคร มาจากการเลือกตั้ง โดยตรง

สำหรับโครงสร้างการบริหารและพัฒนาพื้นที่ระดับนครในขั้นเริ่มแรก เสนอให้แบ่งเป็น 4 พื้นที่ เพื่อให้การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานโดยตรงต่อประชาชน พัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนในด้านนิติบัญญัติ ให้มีสภานครที่มาจากการเลือกตั้ง ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน มาจากพื้นที่พัฒนาละ 6 คน และที่สำคัญจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด นอกจากนั้นยังเสนอให้มี “สภาพลเมือง” เป็นเสมือนกลไกที่ปรึกษา เพื่อมาสนับสนุนการบริการสาธารณะในพื้นที่นคร ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ.

รายงานประชาชน โดย หมอพลเดช
ฉบับที่ 16/2567 วันที่ 29 กรกฎาคม 2567