แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขา และมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี จนได้รับสมญาว่า เมืองสามหมอก หน้าหนาวแม่ฮ่องสอนห่มผ้าด้วยหมอกเย็นลอยเรี่ยคลุมเขา หน้าแล้งไม้แห้งตามป่าดอยเสียดสีกันรุนแรง…
เขียนโดย จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : จุดประกาย 8 มีนาคม 2550
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เสียงใบพัดเครื่องบินครางหึ่งเบาๆ ขณะลอยตัวอยู่กลางอากาศเหนือพื้นดินหลายพันฟุตหลังจากทะยานขึ้นจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่
เมื่อมองผ่านหน้าต่างเครื่องบินลงไปเบื้องล่างจะเห็นเส้นทางถนนคดเคี้ยวอ้อมเขาลูกแล้วลูกเล่ามุ่งสู่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเคยมีคนนับโค้งถนนได้ 1,864 โค้งบนทางหลวงหมายเลข 108 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตัดจากเชียงใหม่มาทางหางดงลัดเลาะแม่สะเรียงจนมาถึงขุนยวมก่อนที่จะเข้าสู่จังหวัดในหุบเขา
![]() |
จิราพร ปันภิมล |
แม้ว่าเส้นทางสายใหม่ที่ตัดจากเชียงใหม่เข้าอำเภอปายมาตามเส้นทางแม่มาลัย-ปาย จะหดระยะทางให้เหลือเพียง 245 กิโลเมตร จากเดิม 349 กิโลเมตร แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินย่นย่อระยะทางและเวลาได้เร็วกว่านัก
-1-
แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขา และมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี จนได้รับสมญาว่า เมืองสามหมอก หน้าหนาวแม่ฮ่องสอนห่มผ้าด้วยหมอกเย็นลอยเรี่ยคลุมเขา หน้าแล้งไม้แห้งตามป่าดอยเสียดสีกันรุนแรงจนก่อไฟห่มป่ามองเห็นหมอกควันลอยกรุ่นจากป่าลึก หน้าฝนละอองไอน้ำพรมชุ่มฉ่ำร่ำร้องให้เห็ดโคนผุดต้นห่มดิน
![]() |
พรรณิภา มณีธร |
เดินทางมาแม่ฮ่องสอนเที่ยวนี้มีนัดหมายกับน้องนักเรียนในโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทที่เรียกว่า เซอร์ (SiRS) ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นโครงการที่ดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว
“เราพยายามแสวงหาช่องทางให้แก่เด็กชนบทมีโอกาสพัฒนาความรู้ เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถจัดหาครูมาอยู่ในพื้นที่ได้ง่าย บางครั้งครูก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลา ทำให้ต้องพัฒนาระบบการศึกษาอีกมาก” รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว
การเรียนการสอนตามหลักสูตร หากเทียบกันแล้ววิชาอย่างภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ สังคม คณิตศาสตร์ ฯลฯ เป็นวิชาที่พึ่งพาอุปกรณ์การเรียนไม่มากนัก ต่างกับวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำการทดลอง ซึ่งต้องพึ่งพาอุปกรณ์ต่างๆ ปัญหาข้อหลังไม่เป็นอุปสรรคสำหรับหลายชีวิตที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาของแม่ฮ่องสอน
![]() |
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ |
จิราพร ปันภิมล หรือน้องใบเตย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยืนยันว่า การเรียนรู้ที่ดีคือการที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ค้นหาคำตอบจากโจทย์ที่มีอยู่จริง มีครูทำหน้าที่ชี้นำทาง ตัวอย่างที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยนำโจทย์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาศึกษาหาคำตอบ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ในแม่ฮ่องสอนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนทำวิจัยมากขึ้น
สำหรับใบเตยเอง ต้นไม้ที่อยู่รอบตัวเธอคือ อุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้ทดลองได้ และอาจพัฒนาถึงขั้นเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน
ใบเตยและกลุ่มเพื่อน ช่วยกันพัฒนาไหมขัดฟันจากเส้นใยธรรมชาติเพื่อสุขภาพช่องปาก เพื่อให้ได้ไหมขัดฟันราคาถูกสำหรับใช้เองในครัวเรือน เนื่องจากไหมขัดฟันที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีราคาสูง
![]() |
โจทย์ของการวิจัยอยู่ที่การค้นหาเส้นใยธรรมชาติที่สามารถให้เส้นใยแทนไนลอนได้ หลังจากสืบเสาะทดลองหาอยู่พักหนึ่ง ทางกลุ่มได้เลือกเส้นใยธรรมชาติจากพืช อาทิเช่น ใยไผ่ ใยจากต้นกล้วย เพื่อนำมาศึกษาลักษณะเส้นใยที่มีความเหนียว และคุณสมบัติที่ต้องการ คือเส้นใยจะต้องมีขนาดเล็กและไม่ขาดง่ายเมื่อเปียกน้ำ พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมถึงสมุนไพรในกลุ่มที่มีคุณสมบัติในการแต่งกลิ่นเสริมเพื่อกลบกลิ่นปาก เช่น ใบฝรั่งและกานพลู ร่วมด้วย
“กระบวนการทดลองจำเป็นต้องประยุกต์ใช้วิธีการทดลองที่ง่าย ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการมากนั้น เนื่องจากในโรงเรียนมีแต่อุปกรณ์พื้นฐาน ต่างจากระดับมหาวิทยาลัยที่สามารถทำการทดลองในแบบเดียวกันได้ โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่ให้ผลรวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดดังกล่าวช่วยให้เราสามารถปรับกระบวนการคิดและสร้างรูปแบบการทดลองขึ้นมาใหม่ ที่ให้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน” นักวิจัยน้อย กล่าว
ใบเตยบอกว่าหากผลงานการพัฒนาไหมขัดฟันแล้วเสร็จ ทีมงานตั้งเป้าว่าจะนำไปมอบให้กับชาวไทยภูเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองได้ดีขึ้น
![]() |
-2-
บ่ายวันเดียวกันนั้น เราได้เจอกับนักพันธุศาสตร์รุ่นเยาว์ มีชื่อเสียงเรียงนามว่า ปฏิวัติ นองชัย นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านแพะวิทยา แม่ฮ่องสอน ปฏิวัติมาในชุดนักเรียนสไตล์ชาวเขา มาเล่าให้ฟังถึงการผสมพันธุ์เป็ดระหว่างเป็ดเทศกับเป็ดไข่พื้นเมือง เพื่อหาสายพันธุ์เป็ดที่มีภูมิต้านทานโรค และออกไข่ครั้งละมากๆ สำหรับเลี้ยงไว้กินในครัวเรือนและขายที่ตลาดหากไข่เป็ดมีจำนวนมากพอ
ปฏิวัติ เล่าด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาปนเขินอายกับคนแปลกหน้าว่า เขากับเพื่อนทดลองผสมพันธุ์เป็ดไข่ 2 สายพันธุ์ เนื่องจากเป็ดพันธุ์ไข่และเป็ดเทศต่างมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว เมื่อนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของเป็ดทั้งสองชนิดมาผสมกัน น่าจะได้ลูกเป็ดพันธุ์ผสมที่มีลักษณะเด่นตามที่ต้องการ
หลังจากที่ทดลองผสมพันธุ์เป็ดมาจนถึงรุ่นที่ 2 พบว่าเป็ดมีลักษณะดีคือ มีภูมิต้านทานโรคสูงกว่าเป็ดทั่วไป เป็ดออกไข่มากกว่าเดิม 2 เท่า ต่างจากรุ่นแรกที่ลูกเป็ดออกมาไม่แข็งแรงและตัวเมียไม่ฟักไข่
“ทางกลุ่มยังคงตั้งเป้าปรับปรุงสายพันธุ์ต่อไป โดยหวังว่าจะได้เป็ดไข่พันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงและไม่เป็นโรคสำหรับชาวบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมถึงนำไปขายที่ตลาด เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง” นักปรับปรุงพันธุ์รุ่นจิ๋วกล่าว
นอกจากนักวิจัย “ขาสั้นและคอซอง” แล้ว โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทยังมีนักเรียนรุ่นเล็กระดับประถมศึกษาปีที่ 6 อย่าง พรรณิภา มณีธร จากโรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นักวิจัยน้องเล็กสุด เจ้าของโครงการสาบแฮ้งแรงฤทธิ์พิชิตปลวก บอกว่า ทางกลุ่มได้ศึกษาสมุนไพรธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก โดยพบว่า สมุนไพรสาบแฮ้ง หรือสาบเสือ สามารถช่วยให้เลือดปลวกแข็งตัวและตายภายใน 25 นาที
การทดลองอย่างง่ายจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยการนำสาบเสือมาผสมกับขมิ้นผงเพิ่มกลิ่นและขี้เลื่อยซึ่งเป็นอาหารที่ปลวกโปรดปราน นำมาทดลองพัฒนาเป็นสเปรย์จากสารละลายสาบแฮ้ง ซึ่งเป็นสมุนไพรราคาถูกที่ใช้แทนสารเคมีสังเคราะห์
“ปลวกสร้างปัญหาให้กับบ้านเรือนทางภาคเหนือที่ส่วนใหญ่ใช้วัสดุที่ทำจากไม้ ถ้าเราสามารถลดประชากรปลวก และหยุดการขยายพันธุ์ของปลวกได้ ก็จะช่วยสามารถรักษาบ้านทั้งหลังไว้ได้แน่นอน” นักวิทย์น้อยกล่าวเสียงใส
ผลงานที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองสามหมอก จาก 90 ผลงาน ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน 33 โรงเรียน โครงงานดังกล่าวมาจากฝีมือการคิดวิเคราะห์หาเหตุผล และทดลองโดยกลุ่มนักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับวิถีชีวิตเมืองในหมอก ที่จัดขึ้นติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 7
-3 –
“10 ปีที่ผ่านมาเห็นวิวัฒนาการเด่นชัด คุณภาพโครงงานวิทยาศาสตร์ดีขึ้น เด็กเริ่มคิดเก่งขึ้น เริ่มถามคำถามเป็น หัดเรียนรู้ในสิ่งที่สงสัย อาจารย์เองก็รวมตัวกันได้ โดยส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคลในพื้นที่” รศ.ดร.ศักรินทร์ จากสวทช. กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ
ดร.เฉลิมพล เกิดมณี ที่ปรึกษาโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทเสริมว่า เหตุผลที่ทำให้แม่ฮ่องสอนได้รับเลือกเป็นต้นแบบของโครงการฯ คือ ลักษณะที่ตั้งของแม่ฮ่องสอน พื้นที่ส่วนใหญ่ หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป็นภูเขา และยังเป็นจังหวัดที่ยังไม่ถูกรุกล้ำด้วยเทคโนโลยีและวิถีชีวิตแบบเมืองใหญ่
“สภาพพื้นที่ซึ่งมีการผสมผสานของวัฒนธรรมระหว่างชาวเขาในชนเผาต่างๆ รวมถึงชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องเร่งพัฒนาคนอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อยู่มากมาใช้ให้เกิดประโยชน์” ดร.เฉลิมพล กล่าว
โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท เป็นโครงการที่คู่ขนานไปกับโครงการวิทยาศาสตร์กับการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีโรงเรียนที่ร่วมอยู่ในโครงการแล้วกว่า 300-400 โรงเรียน ในส่วนของเซอร์เองได้เข้าร่วมอยู่ประมาณ 100 โรงเรียน
“กุญแจสำคัญในการพัฒนาคนคือ การปรับกระบวนการคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลังจาก 10 ปีที่เข้ามาปฏิรูปการศึกษา โดยใช้โครงงานเป็นตุ๊กตา ให้เด็กและครูคิดเป็นเหตุผล มีการเลือกให้โจทย์ในท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน” ดร.เฉลิมพล กล่าวถึงหลักการ
ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีครูที่เป็นแกนหลักเพิ่มขึ้นจากระยะเริ่มต้นที่มี 7 โรงเรียน เป็น 12 โรงเรียน และ 31 โรงเรียนครอบคลุมทั้งจังหวัดได้ใน 2 ปี อาทิเช่น โรงเรียนห้องสอนศึกษา โรงเรียนปายวิทยาคาร โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา โรงเรียนสบเมยวิทยาคม เป็นต้น
“พัฒนาของเด็กที่เข้าโครงการไปได้เร็วมาก เมื่อเทียบกับเด็กทั่วไป อย่างเด็กที่อยู่ ชั้น ม.3 มีความคิดเทียบเท่าเด็กปกติที่อยู่ชั้น ม.4 เด็กที่เคยขี้อาย ไม่กล้า เริ่มเห็นการแสดงออกและให้เหตุผลมากขึ้น แม้ในตอนแรกเหตุผลที่ให้ยังไม่ตรงประเด็น แต่คำถามที่ตอบก็ได้อาศัยหลักการคิดให้เห็นมากขึ้น” ดร.เฉลิมพล กล่าว
ต้นแบบของกระบวนการคิดเป็นวิทยาศาสตร์ในขั้นที่ 2 คือการกระจายหลักการคิดนี้ไปยังทุกหมวดวิชา โดยเริ่มทดลองใช้ที่โรงเรียนบ้านแพะเป็นแห่งแรก โดยเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดในลักษณะเดียวกัน
“ปัจจุบันเรามีครูที่แข็งสามารถทำให้กิจกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้โดยไม่ยากนัก จะเห็นว่าโรงเรียนในแม่ฮ่องสอนสามารถทำกิจกรรมจัดแข่งขันประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ได้เอง โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากส่วนกลางเหมือนแต่ก่อน ประกอบกับตัวเด็กเองก็มีความสนใจมากขึ้น ทำให้มีเด็กเข้าร่วมในโครงการกว่า 5,000 คน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ”
ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า แม้ปัญหาหลักๆ ของเด็กในพื้นที่คือการขาดปัจจัยพื้นฐานทั้งด้านการเรียน อาหาร สุขภาพ แต่เมื่อดูจากผลงานการทำโครงงานจะเห็นได้ว่า เด็กเริ่มคิดโจทย์จากสิ่งที่ขาด และนำกลับมาพัฒนาเป็นงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ อาทิเช่น ขนมปังจากว่านหางจระเข้ สีเมจิกจากสารสกัดธรรมชาติ
ผลงานหลายชิ้นที่สร้างสรรค์โดยเยาวชนมีการต่อยอดจากภาคธุรกิจ อาทิเช่น เครื่องหว่านเมล็ดถั่วเหลือง เครื่องร่อนกระเทียม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการวิจัยและการยอมรับจากสังคม ตลอดจนมีการศึกษาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคพื้นฐาน โดยอาศัยความเข้าใจเชิงภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพ ใช้อย่างพอประมาณ เข้ากับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงแบบสมดุล
โครงการมีความโดดเด่นและเริ่มฉายแววเป็นที่ประจักษ์ในเวทีการประกวดทั้งในระดับโรงเรียน ระดับภาค ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนหลังเขาที่น่าจับตามองไม่แพ้เด็กในเมือง
– 4 –
นงค์เยาว์ จันทร์อ้าย อาจารย์จากโรงเรียนสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน บอกว่า โครงงานของนักเรียนมีการเชื่อมโยงและข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว แต่ควรมีการพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อสนับสนุนความต้องการชุมชนอย่างแท้จริง เช่น โครงการพัฒนากะปิจากถั่วเน่า พัฒนาการผลิตมังสวิรัติจากถั่วเน่า
อย่างไรก็ดี ยังมีครูในพื้นที่ที่ยังไม่เข้าใจการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลาง รวมถึงขาดทักษะความสามารถและรอบรู้ และทักษะการจัดกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งครูควรจะต้องสร้างขึ้นให้เกิดขึ้นในตัวเองและสามารถหยิบมาใช้ในการพัฒนาระบวนการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
“โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในกิจกรรมการสอนที่จุดประกายให้ครูเป็นแบบอย่างให้เด็กเกิดความกระตือรือร้น ที่จะเรียนรู้ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์เอง และวิชาอื่นๆ” อาจารย์โรงเรียนสบเมยกล่าว
โครงการในลักษณะเดียวกันกำลังกระจายสู่จังหวัดอื่นๆ ในลักษณะคู่ขนานไปกับโครงการในพระราชดำริ เช่น จังหวัดน่าน ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศลาว จังหวัดสกลนครที่มีชุมชนหลากหลาย จังหวัดนครราชสีมาที่มีชายแดนติดประเทศกัมพูชา จังหวัดนราธิวาสที่มีชายแดนติดประเทศมาเลเซีย เพื่อเร่งสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ โดยมีแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดต้นแบบ
Be the first to comment on "กันดารคือ สินทรัพย์ (ฉบับแม่ฮ่องสอน)"