แผนเงียบเซาเทิร์นซีบอร์ด กับการแปลงโฉมภาคใต้ (1)

แม้ว่าแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan: SSB) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นแผนพัฒนาระดับภูมิภาคชุดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติในกรอบยุทธศาสตร์หลัก ตั้งแต่ปี 2532 สมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่แนวคิดที่จะรื้อแผนนี้ขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ เกิดขึ้นอีกครั้ง…

เรื่องโดย : ทิพย์อักษร มันปาติ สำนักข่าวประชาธรรม
24 มีนาคม 2550

 

แม้ว่าแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan: SSB) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นแผนพัฒนาระดับภูมิภาคชุดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติในกรอบยุทธศาสตร์หลัก ตั้งแต่ปี 2532 สมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่แนวคิดที่จะรื้อแผนนี้ขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถูกพัฒนามาจนถึงขีดสุด พื้นที่เต็มไปด้วยความแออัด สร้างปัญหามลพิษ และแหล่งน้ำมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือ จะไม่สามารถขยายตัวไปได้มากกว่านี้แล้ว

วันนี้ แผนเซาเทิร์นซีบอร์ด อาจค่อนข้างเงียบงัน ยังไม่มีใครกล้าฟันธงเสียทีเดียวว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่ นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการ คือ ศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการสร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) บรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้ และ ดร. เลิศชาย ศิริชัย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้ซึ่งทำงานคร่ำหวอดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ต่างมีมุมมองการวิเคราะห์ที่น่าสนใจต่อแผนพัฒนาดังกล่าวว่า จะเป็นทิศทางการพัฒนาแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้ง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนหลายๆ โครงการที่ผ่านมาหรือไม่

 

 


       ศยามล ไกรยูรวงศ์
ศยามล ไกรยูรวงศ์ : การพัฒนาที่สมดุล เน้นท้องถิ่นอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะรื้อแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมาดำเนินการ หลังจากที่อีสเทิร์นซีบอร์ดไม่สามารถจะขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มได้อีกแล้ว

เซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่โครงการนี้ต้องอาศัยการลงทุนร่วมระหว่างประเทศ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล ซึ่งจะมีโครงการต่างๆ เชื่อมโยง เช่น แลนบริดจ์ การสร้างอุโมงค์เพื่อขนส่งน้ำมันเชื่อมฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน อุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องใช้พลังงานและแหล่งน้ำ แต่ที่เริ่มพูดกันมากก็คือเมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น การใช้พลังงานจำนวนมากก็จะยังเน้นการใช้ถ่านหิน ซึ่งมีการวิพากษณ์วิจารณ์กันว่าเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด ดังนั้นรัฐบาลควรจะหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกที่สะอาดอย่างที่ทั่วโลกเขากำลังให้ความสำคัญกัน

 

ตอนนี้แลนบริดจ์ซึ่งอยู่ในแผนของเซาเทิร์นซีบอร์ดทำแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีการกว้านซื้อที่ดินบริเวณ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช แต่ยังไม่รู้ว่าตอนนี้มีต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนหรือยัง แต่ตอนนี้คิดว่ารัฐบาลกำลังรอการลงทุนกับต่างชาติอยู่ ถ้ามีการเข้ามาร่วมลงทุนเมื่อไหร่เชื่อว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินการในรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ชอบธรรม เพราะเรื่องนี้ต้องคุยกันหนัก เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้อาจจะหยิบแผนขึ้นมาดูก่อน แต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้เพราะงบประมาณมีไม่พอด้วย แต่พอมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดใหม่ แผนนี้ก็คงจะเอามาพูดอีกที และอาจจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้น

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่เห็นด้วยกับเซาเทิร์นซีบอร์ดเพราะจะกระทบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะฝั่งอันดามันอย่างมหาศาล

เซาเทิร์นซีบอร์ดจะกระทบกับการท่องเที่ยวแน่นอนอยู่แล้ว และกระทบอย่างอื่นอีกมากมายด้วย ถ้ารัฐบาลยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยังมีวิสัยทัศน์เชิงเศรษฐกิจ เอาค่าจีดีพีของประเทศเป็นตัวตั้ง รัฐบาลต้องคิดวางแผนการใช้ที่ดินให้เป็นในระยะยาว มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนเรื่องการใช้น้ำ เรื่องสิ่งแวดล้อม รัฐบาลและผู้ประกอบการต้องลงทุนสูงหน่อยในด้านนี้มากกว่านี้ ไม่ใช่เอาแต่ต้นทุนต่ำอย่างเดียวซึ่งไม่ได้สามารถป้องกันมลพิษ แต่หลายโครงการที่ผ่านมา ไม่ได้เข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เพราะรัฐบาลกลัวต่างชาติจะถอนการลงทุน จึงไม่เข้มงวดในด้านการควบคุมเรื่องมลพิษ ทำให้มาตรการเรื่องนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันประชาชนก็ดำเนินการตรวจสอบยาก ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

มีความคิดเห็นอย่างไรต่อแนวโน้มทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวม

ถ้ารัฐบาลคิดว่าอุตสาหกรรมส่งออกเป็นสิ่งที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการประมงพื้นบ้านของชาวบ้าน ก็เป็นการมองแบบเอารายได้ประชาชาติเป็นตัวหลัก มันก็หลีกหนีไม่พ้นที่คุณจะพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน หากรัฐบาลจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ไม่เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ให้มองที่ประชากรทุกคนว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้อย่างไร มันก็จะมีทางเลือกมากขึ้น เช่น การสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้ได้อย่างหลากหลายโดยที่ไม่ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาประเทศหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะต้องเจอปัญหาแบบนี้มาตลอด

“ความจริงการพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถสร้างความสมดุลกับท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมได้ เหมือนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเอามาปฏิบัติการที่ต้นเหตุจริงๆ เป็นเพียงการสร้างภาพเฉยๆ รัฐบาลเองก็ไม่ได้คิดถึงการกระจายรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง”

คิดอย่างไรต่อการที่รัฐบาลมักอ้างปัญหาความขัดแย้ง และความยากจนในพื้นที่ภาคใต้ แล้วเอาเรื่องเศรษฐกิจมาแก้

มันไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้ง หรือความยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น การไม่ได้รับความเป็นธรรมการการใช้อำนาจรัฐ การใช้อิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นการสร้างอุตสาหกรรมและการสร้างรายได้ ไม่ได้แก้ปัญหาในทุกๆ ประเด็นที่กล่าวมา และในความเป็นจริงที่ผ่านมาก็บอกชัดแล้วว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ได้มีการกระจายรายได้อย่างแท้จริง แต่รายได้กลับกระจุกตัวมากกว่า ในกลุ่มองค์ความรู้ที่มีฝีมือ ในขณะที่ความเป็นจริง ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรายได้ที่ไม่มีความรู้ ดังนั้นชาวบ้านจะไม่ได้รับประโยชน์กับตรงนี้เท่าไรนัก หรือน้อยมากที่จะได้ประโยชน์

แนวคิดที่จะแปลงโฉมภาคใต้ทั้งหมดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม จะทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่มหาศาล ทำลายป่าเขตร้อนเป็นจำนวนมากในภาคใต้ รัฐบาลต้องคิดถึงระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในชัดเจน ถ้าพลาดไปแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากวันนี้ไปอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้าอันไหนคุ้มกว่ากัน ประชาชนก็ต้องเรียนรู้ เลือกคนที่จะมาบริหารให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการ

“เราต้องคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้างในอนาคต หากประชาชนรู้สึกว่าเขายังไม่ได้รับผลกระทบก็จะไม่ทำอะไร การพัฒนาประเทศให้มีทั้งอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้ แต่ต้องใช้กฎหมายมาควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด นำแนวคิดในหลวงมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เชื่อว่ารัฐบาลสามารถสร้างความสมดุลได้ทั้ง 2 แบบ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะทำหรือไม่ จะยอมเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาประเทศหรือไม่”

 

ดร. เลิศชาย ศิริชัย : ความขัดแย้ง 3 เส้า ในทิศทางมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ

มีบทเรียนที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายโครงการสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่น แต่ตอนนี้เซาเทิร์นซีบอร์ดยังค่อนข้างเงียบอยู่

เนื่องจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดยังไม่ได้ถูกทำเป็นเรื่องเป็นราว บางกรณีเมื่อมีข้อขัดแย้งขึ้นมาก็ถูกทำให้หายไป แต่ว่าในทุกจุดมันก็มีคู่ขัดแย้งอยู่ เช่น กรณีแลนบริดจ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน แต่ความขัดแย้งเรื่องแลนบริดจ์ยังไม่ปรากฎชัดเจน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะว่าวิธีการของรัฐในการจัดทำโครงการรุ่นใหม่จะเปลี่ยนคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนมาทำให้ชาวบ้านกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง โดยทำให้มีกลุ่มบางกลุ่มลุกขึ้นมาสนับสนุนโครงการรัฐเพราะได้ประโยชน์ กลุ่มนี้จะมีตัวตนชัดเจน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. กลุ่มที่จะขายที่ดินได้ กลุ่มทุนธุรกิจที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้วไปจัดแจงเตรียมตัว แล้วมันจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในท้องถิ่นได้ ดังนั้นถ้าโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มผลประโยชน์แบบนี้ เสียงคัดค้านจะอ่อน เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบก็ขยับลุกขึ้นมาคัดค้าน แต่พอไปเผชิญหน้ากับกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่มเสียงคัดค้านเลยค่อนข้างเงียบ


ดร. เลิศชาย ศิริชัย

 

ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ประเด็นที่เป็นผลกระทบจากแลนบริดจ์ แต่ยังเห็นไม่ชัดก็เพราะว่า เป็นประเด็นในทางวิชาการที่ชาวบ้านอาจจะยังไม่เห็น แต่ถ้าเป็นโครงการที่เกิดผลกระทบชัด ความขัดแย้งจะรุนแรง เช่น กรณีตัวอย่างโครงการที่อยู่ในแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดอีกโครงการหนึ่งคือ การสร้างเขื่อนน้ำจืดคลองกลาย โดยมีกรมชลประทานเป็นเจ้าของโครงการ เขื่อนดังกล่าวจะสร้างขึ้นเพื่อไปสนับสนุนท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยวางแผนที่จะสร้างเขื่อนน้ำจืดที่บริเวณต้นน้ำคลองกลาย ทีนี้มันจะไปมีผลกระทบกับคนชัดเจน เพราะการสร้างเขื่อนดังกล่าวจะทำให้น้ำท่วมผืนป่าอุดมสมบูรณ์เป็นหมื่นไร่ รวมทั้งพื้นทำการเกษตร และที่ปลูกสวนยางของประชาชน ก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ก็จะมีคนลุกขึ้นมาคัดค้านอย่างชัดเจน

ดังนั้นเมื่อพูดถึงประเด็นทางวิชาการในพื้นที่นี้ ชาวบ้านก็จะนึกภาพออกเพราะมันกระทบกับเขาชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีคู่ขัดแย้งของกลุ่มพัฒนาที่ดิน คือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นซึ่งสนับสนุน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า หากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้น มันจะต้องจะถูกคัดค้านจากทุกจุด เพราะมีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและเคลื่อนไหวรออยู่แล้ว ทั้งประเด็นท่าเรือพาณิชย์ และนิคมอุตสาหกรรม ในขณะนี้มันมีปัญหาเดิมที่เป็นปัญหาวิกฤติในตัวมันเองอยู่แล้ว เช่น ปัญหาทะเลเสื่อมโทรม ปัญหานากุ้ง ป่าถูกทำลาย เป็นต้น ดังนั้น ผมคิดว่า เซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้นยากในพื้นที่ภาคใต้ ถ้าแอบเกิดนิดหน่อยในเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่กระทบกระเทือนมากนัก โดยมีกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ปกป้อง เรื่องอาจจะเงียบ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบชัดเจนเมื่อไหร่ มันก็จะเกิดความขัดแย้ง 3 เส้า ระหว่างรัฐ อิทธิพลท้องถิ่น และ ชาวบ้าน

หลายคนมองว่าแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นการแย่งชิงทรัพยากรในทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นรายได้ทางเศรษฐกิจอีกตามเคย

เป็นเรื่องชัดเจนเลย มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งยังมีกลุ่มๆ หนึ่งชัดเจน ที่เคลื่อนไหวเพื่อขูดรีดทรัพยากรที่เหลืออยู่ไปตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมกระแสหลักอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกันก็จะมีกลุ่มสิ่งแวดล้อมนิยมที่ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เขาก็จะเคลื่อนไหวเต็มที่ ดังนั้น ถ้าหากเซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดภาคใต้ จะเป็นพื้นที่ประลองกำลังกัน ผมคิดว่าความขัดแย้งจะเยอะ ซึ่งไม่ใช่เพียงคนภาคใต้โดดๆ ที่จะลุกขึ้นมาสู้ แต่รวมไปถึงขบวนการสิ่งแวดล้อมนิยมที่ตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ จะเข้ามาใช้เวทีนี้เป็นเวทีเรียนรู้ เวทีการตอบโต้ทางความคิด 2 ฝ่าย ซึ่งผมคิดว่า ต่อไป ถ้ารัฐคิดจะทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทำนองนี้ในพื้นที่รอบนอกก็คงไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะเป็นการเปิดพื้นที่ของความขัดแย้ง ซึ่งผมคิดว่ารัฐไม่กล้าทำ เพราะแค่ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐก็เอาไม่อยู่ หากเอาเซาร์เทิร์นซีบอร์ดเข้ามาอีก ไฟภาคใต้ลุกเป็นจุณแน่ เท่าที่ผมได้ทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ รับรองว่าชาวบ้านไม่ยอม เพราะมีกลุ่มเครือข่ายการเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่แล้ว ชาวบ้านไม่ได้เคลื่อนไหวโดดๆ

อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ว่า รัฐกำลังพยายามผลักดันโครงการโดยเอาปัญหาความยากจน และความขัดแย้งในภาคใต้มาเป็นข้ออ้างทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้

เป็นการอ้างดื้อๆ เพราะกรณีความขัดแย้งของภาคใต้ ก็ถูกประเด็นนี้ออกมาโจมตีด้วยเช่นกัน กรณีที่ว่า การเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนในพื้นที่ และสั่งสมมาเป็นเวลานานและระเบิดออกมา จนกระทั่งปัญหาถูกนำมาผูกโยงกันหมด คำถามคือ ทำไมชาวบ้านที่อาจจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าข้างรัฐ? นั่นก็เพราะว่าชาวบ้านไม่เคยรู้สึกว่ารัฐปกป้องเขา ทั้งการประมง ป่า ที่ดิน ล้วนแต่เป็นคนข้างนอกที่ไปกอบโกยแย่งชิงเอามาจากชาวบ้าน แล้วพอรัฐบาลทักษิณเข้ามาแก้ปัญหา กลับไปทุ่มเงินกับอุตสาหกรรมโดยไม่สนใจว่าอยู่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำการประมง อาศัยทะเลหาเลี้ยงชีพอยู่ ปัญหาทำนองนี้ บวกกับวิธีคิดในทำนองนี้ที่จะมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภาคใต้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีตรรกะในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ เช่น กรณีท่อก๊าซ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จนป่านนี้รัฐกับชาวบ้านก็ยังเผชิญหน้ากันอยู่เลย

รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาประเทศเสียใหม่?

แน่นอน เรื่องที่พูดกันมากในขณะนี้คือ เศรษฐกิจพอเพียง โดยฝ่ายประชาชนก็พยายามจะฉกชิงนิยามความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นความเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อปกป้องฐานทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของพวกเขา ดังนั้น เมื่อเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเข้ามา ก็จะต้องเจอกับขบวนการเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่เป็นฐานความอยู่รอดของชุมชน ผมเชื่อว่าชุมชนจะหยิบตรงนี้ขึ้นมาสู้

“ถ้ารัฐคิดจะพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ดให้เป็นเหมือนกับอีสเทิร์นซีบอร์ด ขอให้เลิกคิดไปได้เลย เพราะอันดับแรกจะเข้ามาพร้อมกับความขัดแย้ง และความขัดแย้งจะตามมาอีกมาก คนจะแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ชาวบ้านก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม บรรยากาศจะคุกรุ่นมาก”

หากรัฐต้องการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็ย่อมสามารถสร้างความสมดุลให้ท้องถิ่นยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ไปพร้อมๆ กันได้

อันดับแรกให้รัฐบาลยกตัวอย่างมาเลยว่าโครงการไหนบ้างที่คุณสามารถสร้างความสมดุลแบบนี้ได้ รัฐต้องเลิกคิดฝ่ายเดียว ถ้าเราจะหาทางออกให้ได้ว่าทำอย่างไรให้ภาคใต้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่ความสมดุล ต้องเอาการพัฒนาแผนใหม่เข้ามาประกอบกับภูมิปัญญาชุมชน พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เปิดเวทีเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางและหาทางออกร่วมกัน แต่ประเภทที่คิดมาเบ็ดเสร็จมาแล้วนั้น เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมหลอกชาวบ้าน

หากรัฐบาลคิดว่าทรัพยากรในภาคใต้มีศักยภาพพอที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรม คุณก็ต้องเคารพคนในท้องถิ่น ต้องเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกำหนดหาความหมาย และความรู้ด้วยกัน แต่ถ้าคิดมาเสร็จแล้วมาบอกว่า อุตสาหกรรมแบบใหม่ไปกับชุมชนเข้มแข็งได้ เศรษฐกิจพอเพียงไปกับการส่งออกได้ ผมก็อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าแนวคิดสำเร็จรูปแบบนี้ไม่มีทางไปกันได้ และไม่มีใครเชื่อ อย่างไรก็ตาม ทางออกที่สามารถไปร่วมกันโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้น รัฐต้องเชื่อในศักยภาพของชุมชน และมาสร้างเวทีเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่มีเป้าหมายเรียบร้อยแล้วค่อยมาให้คนเห็นด้วยทีหลัง ซึ่งในที่สุดแล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าจะค้นพบอะไร ต้องหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการที่หลายฝ่ายมาร่วมคิดร่วมวางแผนกันมากว่า หากรัฐบาลนี้ หรือชุดใหม่สามารถทำตรงนี้ได้จะเป็นทางออกที่ดี แต่ถ้าคิดแบบสำเร็จรูปมาแล้ว ย่อมเกิดการเผชิญหน้าอยู่คนละขั้วแน่นอน

ภาคประชาชนจะเตรียมตั้งรับมืออย่างไร เพราะยังไม่อาจรู้แน่ว่าโครงการจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้

ตอนนี้สิ่งที่กำลังทำกันอยู่คือ ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ขณะนี้จึงมีการเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันชัดเจน แม้ว่าเซาเทิร์นซีบอร์ดจะยังไม่เกิดขึ้นก็มีปัญหาดักหน้าเอาไว้อยู่แล้ว เช่น ปัญหาทางทะเลเกี่ยวกับอวนรุน อวนลาก การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มีการขยายการปลูกไปยังที่นา และป่าพรุ รวมเป็นพื้นที่แสนกว่าไร่ อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีการเคลื่อนไหวกันอยู่ เช่น ที่ จ. ตรัง มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเรื่องสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน ป่าสาคู การคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

เพราะฉะนั้นจึงชี้ให้เห็นว่ามีความแตกต่างระหว่างอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดขึ้นแล้ว กับเซาเทิร์นซีบอร์ด ตรงที่ความรู้เท่าทันของประชาชนในตอนนั้นยังไม่มีมากเท่ากับตอนนี้ กรณีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้ชาวบ้านที่ ต.ทุ่งค่าย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่เล็งกันว่าจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงพิษภัยจากการพัฒนาอุตสาหกรรม แม้ว่าชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ว่าในแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดมีอะไรบ้าง เพราะมันยังเป็นแผนที่ลึกลับ แต่ถ้าชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะมีท่าเรือพาณิชย์เกิดขึ้นที่ จ.ตรัง 4 แห่ง ตามแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด เชื่อว่าชาวบ้านจะเริ่มเรียนรู้ ศึกษารวบรวมข้อมูล และพร้อมที่จะเคลื่อนไหว

“ผมเชื่อว่าถ้าหากมีการกำหนดแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดออกมา จะเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่มาก เพราะประสบการณ์ของชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ มีบทเรียนมาเยอะที่ได้เรียนรู้ความเจ็บปวดของเครือข่ายพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้ เช่น มาบตาพุด ท่อก๊าซจะนะ เป็นต้น ผมคิดว่ารัฐบาลไม่กล้าทำ ขืนมาเปิดศึกตอนนี้ก็คงมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอีกหลายจังหวัด อยากจะเตือนรัฐบาลว่าไม่ควรเด็ดขาด หากเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้นมา ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาบนความว่างเปล่า แต่ในพื้นที่ภาคใต้มีพื้นฐานปัญหาที่อีรุงตุงนังเรื่องการที่ประชาชนถูกแย่งชิงทรัพยากรอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ และขบวนการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว

หากเซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นมาโดยไม่มีการถามไถ่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อน การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็จะต่อยอดจากปัญหาเดิม เกิดความขัดแย้งที่รัฐบาลแก้ไม่ได้และคิดไม่ถึงด้วย ผมคิดว่าเราคงไม่อยากเห็นบรรยากาศความขัดแย้งทั้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านลุกขึ้นมาขัดแย้งกันเอง เพราะแค่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ประเทศเราขยับไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ายังสร้างปัญหาตรงนี้ขึ้นอีกโดยไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหน ยิ่งจะทำให้เราไม่มีทางออกสำหรับประเทศหรือส่วนรวมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น มิติใหม่ในการหาทางออกก็คือ การเคารพท้องถิ่น ชาวบ้าน ชุมชน และเปิดเวทีการเรียนรู้ร่วมกัน แบบนี้ยังพอมีโอกาส.

หมายเหตุ : โปรดติดตาม “แผนเงียบเซาเทิร์นซีบอร์ด กับการแปลงโฉมภาคใต้ (2)” ได้ในตอนต่อไป

 

ที่มา-ที่ไปของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด

โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ทรัพยากรในภาคใต้ จัดทำโดย Hunting Technical Service เมื่อปี พ.ศ. 2518 และศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาภาคใต้ตอนบนในระดับอนุภาค จัดทำโดย JICA ใน ปี พ.ศ. 2528 และได้มีการทบทวนรายงานการศึกษาเพื่อเตรียมแผนปฏิบัติการพัฒนาภาคใต้ตอนบน โดย ADB ในปี พ.ศ. 2530

จากนั้น สศช. ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม. สัญจรที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2532 ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนา “สะพานเศรษฐกิจ” เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ด้วยระบบคมนาคมขนส่งร่วมแบบผสมผสาน ประกอบด้วยระบบถนน รถไฟ ท่อน้ำมัน ระหว่างฝั่งอันดามัน (กระบี่) และอ่าวไทย (อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช)

และต่อมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2532 เห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในระยะต่อมา ทั้งนี้ สศช. ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนแม่บท และได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยมีลำดับ ดังนี้ (1) ม.ค. 2534 – มิ.ย. 2535 สศช. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา Bechtel (สหรัฐ อเมริกา) Nippon Koei (ญี่ปุ่น) AEC (ไทย) และSEATEC (ไทย) ศึกษาจัดทำแผนแม่บท

 

 

ที่มา :สำนักข่าวประชาธรรม  

Be the first to comment on "แผนเงียบเซาเทิร์นซีบอร์ด กับการแปลงโฉมภาคใต้ (1)"

Leave a comment

Your email address will not be published.