เรียกร้องรัฐยุติการแทรกแซง สื่อวิทยุชุมชน

แถลงการณ์เรียกร้องรัฐยุติการแทรกแซงและบิดเบือนกระบวนการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมภาคประชาชนเพื่อใช้สิทธิในสื่อวิทยุกระจายเสียง….

 

แถลงการณ์เรียกร้องรัฐยุติการแทรกแซงและบิดเบือนกระบวนการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมภาคประชาชนเพื่อใช้สิทธิในสื่อวิทยุกระจายเสียง

 


 

       ด้วยกรมประชาสัมพันธ์จะดำเนินการจัดระเบียบวิทยุชุมชน โดยจะออกใบอนุญาตในการออกอากาศให้วิทยุชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ยื่นความจำนงที่สำนักประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ ระหว่าง 1 พฤศจิกายน 31 ธันวาคม นี้ และภายใน 31 มกราคม 2548 จะให้มีการลงนามในสัญญา ภายใต้เงื่อนไขว่าจะหารายได้หรือโฆษณาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมร่วมโครงการปีละ 1,000 บาท และต้องชำระเงินค่าประกัน 5,000 บาท เพื่อป้องกันการทำผิดสัญญา ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการ คือ กลุ่มที่ดำเนินการอยู่แล้ว และ กลุ่มที่ต้องการดำเนินการใหม่ โดยไม่ต้องเป็นนิติบุคคล แต่เป็นเพียงกลุ่มบุคคลในชุมชน เมื่อทำสัญญาแล้ว จะเป็นวิทยุชุมชนที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของกรมประชาสัมพันธ์ แต่สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้

 

             คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และ สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เห็นว่า การกระทำของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นการดำเนินการที่อาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญโดยที่มาตรา26ในพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมระบุชัดเจนว่าภาคประชาชนนั้น ต้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ  การกระทำของกรมประชาสัมพันธ์ แสดงถึงความตั้งใจในการทำลายล้างกระบวนการเรียนรู้ และ การเตรียมความพร้อม เพื่อใช้สิทธิการร่วมเป็นเจ้าของ และเป็นผู้ประกอบการสื่อวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ ของภาคประชาชน  ผลกระทบร้ายแรงที่สุด คือ การอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิภาคพลเมือง และ สิทธิในการสื่อสาร ด้วยการพยายามใช้กลไกและวิธีการให้การสื่อสารทางคลื่นวิทยุกระจายเสียงของภาคประชาชนต้องตกอยู่ภายใต้กลไกการควบคุมของ  ภาครัฐและภาคธุรกิจโดยถาวรอย่างสิ้นเชิงนับเป็นการพยายามตัดสิทธิเสรีภาพ และทางเลือกในการสื่อสาร อย่างคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ของภาคประชาชน

ด้วยเหตุที่เรื่องนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และทิศทางการดำเนินนโยบายด้านการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์  ทั้งในด้านกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้อง และ การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งแนวทาง และท่าทีขององค์กรอิสระด้านสื่อในการปฏิบัติต่อสิทธิประชาชนในสื่อวิทยุโทรทัศน์ ทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะชนในวงกว้าง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) และ สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน จึงขอให้ กรมประชาสัมพันธ์ ระงับการดำเนินความพยายามสร้างความสับสน ความแตกแยก และการแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชนอย่างพึ่งตนเองของประชาชน และขอให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งยังดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ(กกช.) สั่งการให้มีการสอบสวนหาข้อมูล ความเป็นจริง และชี้แจงประชาชนถึงแนวนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ของรัฐบาล  รวมทั้งสอบสวนสาเหตุ หรือ เหตุผล ของกรมประชาสัมพันธ์ที่ดำเนินการอย่างเข้าลักษณะ ขัดรัฐธรรมนูญทั้งส่อวิธีการ แบ่งแยกและปกครองที่ไม่เกิดผลดี ต่อกระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชน และ ต่อการดำเนินชีวิตร่วมกันของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างประชาชน และ ระหว่างประชาชนกับภาครัฐ

 

               นับแต่มีการประกาศใช้มาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ  กรมประชาสัมพันธ์ นอกจากจะไม่แจ้งสิทธิในคลื่นของภาคประชาชน ทางสื่อสาธารณะ แล้ว ยังดำเนินการขัดขวาง แทรกแซง และแปรเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางในมาตรการผ่อนผัน ที่ในที่สุด ได้นำไปไว้ใต้อำนาจการควบคุมของตน อย่างขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่ร้ายที่สุดคือ การกระตุ้นให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ ในกระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชน  ให้จัดตั้งกลุ่มเพื่อมาอยู่ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ โดยสร้างความพึงพอใจด้วยการออกประกาศให้หารายได้ได้ ซึ่งนอกจากอาจเป็นการขัดทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบแล้ว ยังอาจเป็นการล้มล้างหลักการ คุณค่า และคำอธิบาย วิทยุชุมชน สื่อภาคประชาชนทั้งยังอาจเป็นแนวทางในการสร้างบารมีเพื่อควบคุม กำกับกลุ่มวิทยุชุมชนฉวยโอกาส ให้อยู่ในอำนาจที่ สั่งการได้อีกทั้ง ขาดความชัดเจนว่า กรมประชาสัมพันธ์ ใช้เหตุผลใดในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ทั้งที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ ในขณะที่ กลับไม่สร้างจุดยืน และ การดำเนินการใดเพื่อเตรียมการสร้างฐานงาน สื่อเพื่อบริการสาธารณะ  อันเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของตน.   

 

 

                                                                            นำแถลงโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

                                                                             รองประธาน คปส.

                                                                             ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน   

                                                                              14  พ.ย. 2547

Be the first to comment on "เรียกร้องรัฐยุติการแทรกแซง สื่อวิทยุชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.