ระหว่างการเมืองของผู้เลือกกับผู้ที่ถูกเลือก

การเมืองไทยในปัจจุบันประชาชนเริ่มจะถูกบีบบังคับให้ต้องมาแสดงเป็นผู้ต้องเลือก จากกระบวนการหรือระบบที่สิ้นสภาพที่จะเลือกอะไรได้ ซึ่งก็คือผู้ถูกเลือกในปัจจุบันมีอำนาจมาก มากพอที่กำหนดให้ผู้เลือกต้องเลือก ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ทำขึ้นซ้ำๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อบต. สจ. สท.ไปจนถึง สส.และ สว. เพื่อสถาปนาให้คนเหล่านี้ มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจ กุมอำนาจและวางรากฐานค้ำอำนาจตัวเอง ในที่สุด

วันนี้มีน้องนักศึกษานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้ามาสัมภาษณ์ความคิดเห็น เรื่อง การเปิดเวทีการเมือง โดยให้ตัวแทน คือหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ๆ หลักๆ เช่น นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยออกไปปะทะประชันคารมสดๆ กับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน โดยวางกรอบแนวคิดบรรยากาศคล้ายๆ กับเวทีตอบโต้สดๆ ดูปฏิภาณการเมืองอเมริกัน แล้วให้สื่อมวลชนเผยแพร่ ว่าใครจะโชว์กึ๋นและซัดฝ่ายตรงข้ามได้จับใจผู้ชมที่สุด ในคำถามสุดท้ายมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ผมในฐานะประชาชนเห็นด้วยให้มีเวทีเช่นนี้หรือไม่
 

เห็นด้วยครับ! ยกสองมือเลย

แต่ไม่ใช่ให้พิธีกรเปิดช่องแล้วให้พรรคตรงข้ามเข้าตะลุมบอน (เอามัน)  สิ่งที่ผมอยากเห็นนั้น สร้างสรรค์กว่าบรรยากาศของการเมืองอเมริกัน คือ เปิดเวทีที่มากกว่าให้ตรงข้ามซัก เพราะที่ผมคิดคือให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย ด้านความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย หรือติดตามการดำเนินนโยบาย หรือศึกษาผลดี ผลเสียในแนวทางนโยบายแบบต่างๆ และให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐโดยตรงเข้ามาซักถาม แลกเปลี่ยนร่วมด้วย ใครอยู่ข้างประชาชนก็ช่วยซัก ว่าที่นายกฯ แล้วคนใดตอบดี ตอบชัด พร้อมมีแนวทางออก ทางแก้ มีนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ ที่กล้าที่ประกาศว่าพร้อมลงมือทำสัญญาประชาคมตรงนั้นทันที ผมว่าแบบนั้นสร้างสรรค์กว่า และผมจะไปเลือกตั้งเข้าคูหากาเบอร์นั้นเป็นครั้งแรก

 

การเมืองในระบบเลือกตั้ง ผมไม่กาเบอร์ไหนมานาน ไปใช้สิทธิ์ทุกครั้งแต่งดออกเสียง ซึ่งก็คือ ไม่กาเบอร์ไหน !

การเมืองไทยในปัจจุบันประชาชนเริ่มจะถูกบีบบังคับให้ต้องมาแสดงเป็นผู้ต้องเลือก จากกระบวนการหรือระบบที่สิ้นสภาพที่จะเลือกอะไรได้ ซึ่งก็คือผู้ถูกเลือกในปัจจุบันมีอำนาจมาก มากพอที่กำหนดให้ผู้เลือกต้องเลือก ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ทำขึ้นซ้ำๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อบต. สจ. สท.ไปจนถึง สส.และ สว. เพื่อสถาปนาให้คนเหล่านี้ มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจ กุมอำนาจและวางรากฐานค้ำอำนาจตัวเอง ในที่สุด หลังเทศกาลนี้เสร็จสิ้น ประชาชนที่เคยแสดงเป็นผู้เลือกก็ถูกทิ้งไปตลอดสมัย เป็นเพียงผู้ถูกเลือกคืนบ้าง และก็มีไม่น้อยที่ไม่เคยถูกเลือกเลยจากการเมือง

ผมเคยคิดว่าการเมืองภาคประชาชน คือทางออกหนึ่งที่จะสามารถฟื้นฟูอำนาจผู้เลือก ดั่งคำขวัญ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินแต่กระบวนการของการเมืองภาคประชาชนยังจำกัดที่จะหาหนทางให้กับนโยบายที่ส่งผลถึงส่วนรวมอย่างแท้จริง และให้กับสถานะแห่งความชอบธรรมกับผู้ที่ได้รับถูกเลือกสามารถใช้อำนาจ อย่างบริบูรณ์ได้ การงดออกเสียงคือทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่จะแสดงจุดยืนทางการเมือง ว่า ประชาชนยังไม่เห็น ยังไม่พบผู้ที่ถูกเลือกที่มีความเหมาะสม และขอ งด ออกเสียงไว้เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ ถ้าหากวันหนึ่ง ผู้ที่ถูกเลือกอ้างว่า ตนคือตัวแทนประชาชนของปวงชนชาวไทย 

ระบบประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันเริ่มกัดกร่อนตัวเอง จนแทบจะทำให้ประชาชนสิ้นหวังลงไปมาก เนื่องจาก ไม่สามารถเยียวยาปัญหาที่รุมเร้าประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงและทัดเทียม ถึงที่สุด ความใฝ่ฝันถึงสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียมและสันติสุขจากอำนาจหรือพลังทางการเมืองก็ยังไปไม่ถึง กลับกันการเมืองกลับยิ่งทำให้พลังที่ไม่เป็นธรรม การดูดกลืนแย่งชิงทรัพยากรจากทุน การครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติ การใช้อิทธิพลคอร์รับชั่น ตลอดจนการใช้อำนาจกดดันทิศทางนโยบายการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและกลุ่มพวกพ้อง สิ่งเหล่านี้นี่เองที่อยู่เบื้องหลังระบบการเมืองในระบบการเลือกตัวแทน และนับวันกลับยิ่งเด่นชัดและฉ้อฉลโจ่งแจ้งมากขึ้น 

ถามว่า ประชาชนคนเล็กคนน้อย กระจ้อยริดเช่นผมและคนอื่นๆ แตกต่างอย่างไรระหว่างเลือกใคร กับไม่เลือกใคร ระหว่างประทังชีวิตอย่างสิ้นหวังกับอาจจะอดตาย ระหว่าง ประชาธิปัตย์ ไทยรักไทย ชาติไทย มหาชน หรืออื่นๆ เพราะมันไม่ใช่การเลือกใครไปทำอะไรในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง แต่ถึงที่สุดแล้วมันคือการเลือกใครไปตักตวงผลประโยชน์อะไร จากแผ่นดินนี้มากกว่า

ที่ไม่เลือกเพราะผมจะเป็นผู้เลือกตลอดไป เป็นผู้เลือกที่มีอำนาจและจุดยืนชัดเจน เป็นประชาชนที่ยังแสดงสิทธิ์รักษาอำนาจไว้ก่อน และต้องการบอกการเมืองระบบตัวแทนในขณะนี้ ว่า ประชาชนมีอำนาจ มีสิทธิ์เสียง และยังกุมไว้ในมืออยู่ตลอดเวลา ซึ่งพร้อมจะแสดงตนเป็นผู้เลือกทันที ที่การเมืองเล่นลิงหลอกเจ้าต่อหน้าประชาชนหรือหลอกประชาชน

เพราะหลังจากเลือกตั้งไปแล้ว ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมักจะเผชิญสภาพบรรยากาศที่แสนอึดอัด กับการทำงานของผู้นำประเทศ อึดอัดจนไปสิ้นสมัยรัฐบาล พอเสร็จพิธีการเลือกอีกครั้งใหม่ก็อึดอัดอีก อึดอัดที่ใช้สิทธิ์เสียงในฐานะอื่นๆ ไม่ได้ เปลี่ยนแปลง ท้วงติงไม่ได้ ลงชื่อถอดถอนหรือ ? ก็ไม่เกิดขึ้นจริงเลยตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540  การเมืองไทยกับวัฒนธรรมการถอดถอนยังไม่มีกระบวนการสร้างขึ้นอย่างสำคัญ เช่นวัฒนธรรมการเลือกตั้ง นอกจากนั้น การยื้อไว้ด้วยเงื่อนไขกฎระเบียบและข้อกฎหมาย ทำให้ประชาชนใช้อำนาจที่ควรจะมีได้อย่างจำกัดและถูกกีดกันที่สุด ดังนั้น จึงที่จะเป็นประชาชนที่แสดงจุดยืนว่า จะไม่เลือก !

จนกว่าระบบการเมืองไทยจะเปิดช่องทางให้ประชาชนที่รู้สึกว่าตนเลือกผิดและขอเปลี่ยนแปลงมติตนเองได้ทันทีที่ตรวจสอบพบว่า ตัวแทนของตนไม่รักษาคำสัญญา หรือไม่ดำเนินนโยบายให้เกิดความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงเท่าเทียมจริง และเมื่อสำนึกที่รู้สึก เลือกผิด มีทางออกโรคอึดอัดทางการเมืองจึงจะทุเลาและยอมร่วมสังสันท์ทางการเมืองกันได้ และนั่น มันจึงน่ากากบาทอีกครั้ง

การสถาปนาความสำคัญในระบบตัวแทนหรือผู้แทนขึ้นมา สำคัญมากในระบอบประชาธิปไตยในยุคแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตามที แต่ในปัจจุบันระบบผู้แทน หรือตัวแทนกำลังสถาปนาตัวเอง ผ่านสื่อมวลชน ผ่านโพลล์ ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญผ่านการกากบาทลงที่เบอร์ และสิ่งที่เป็นจุดเสื่อมมากกว่าจุดสร้างสรรค์คือ การนำข้อกฎหมายมาบังคับและมีบทลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เสียง ไม่ยอมรับเสรีภาพในการแสดงจุดยืน แม้ว่าแต่เดิมอาจจะอ้างประชาชนยังโง่ นอนหลับทับสิทธิ์ ไม่รู้จักการเมือง ไม่รักประชาธิปไตย ซึ่งแต่เดิมนั้นฟังได้เพราะต้องการสู้กับวัฒนธรรมเผด็จการ และสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันประชาชนมีความคิดดีๆ  รู้จักการเมือง เท่าทันผู้นำที่ตนเองเลือกเข้าสภาฯ อีกทั้งยังมีวิสัยทัศน์ที่เฉียบแหลมมากกว่านักการเมืองหลายคนในปัจจุบัน ดังนั้น การไม่ไปเลือกตั้ง คือ ขบวนการสร้างการเมืองของภาคประชาชนอีกมิติหนึ่ง ที่กำลังแสดงท่าที กับระบอบที่ให้อำนาจความชอบธรรมกับผู้ที่จะเข้าไปเป็นผู้นำการบริหารประเทศ และถ้าประชาชนที่งดออกเสียง นั้นมีเกินครึ่ง อำนาจนั้นปราศจากความชอบธรรมไปตั้งแต่ต้นแล้ว

การอ้างเรื่อง ผมผ่านเลือกตั้งมาฟังไม่ขึ้น !

ผมเป็นประชาชนที่รักการเมือง จึงต้องคิดหาวิธีการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบทอนกระแสหลัก เบียดเอาหรือแย่งชิงเอา กระบวนการที่เข้าไปรับรองความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ที่สำคัญคือชิงเอาพื้นที่แห่งความชอบธรรมทางการเมือง ประชาชนต้องชิงมาไว้ในมือให้ได้ เพื่อเตือนสตินักการเมืองและเป็นดุลอำนาจตรวจสอบอีกสถาบันหนึ่ง ที่มาจากระบบตัวแทนให้ตระหนักและจงทำงานอย่างซื่อสัตย์ต่อหน้าประชาชนเสียที ไม่อย่างนั้นประชาชนเองจะลำบากหากปราศจากอำนาจต่อรองในมือ เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่า การเมืองที่ไปเลือกตั้งกับการเมืองที่ไม่ไปเลือกตั้งมันต่างกันยังไง

ถ้าถามผม การเมืองที่ไม่ไปเลือกตั้งช่วยทุเลาโรคอึดอัดทางการเมืองได้ดีกว่าครับ

โดย : อัฎธิชัย  ศิริเทศ

 

ที่มา :

www.esanvoice.org

Be the first to comment on "ระหว่างการเมืองของผู้เลือกกับผู้ที่ถูกเลือก"

Leave a comment

Your email address will not be published.