เสวนาชีวิตสาธารณะ ที่ลพบุรี

ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้โครงการ วิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่จังหวัดลพบุรี ถือว่าได้เตรียมดินคือเตรียมพื้นที่ คือเตรียมคน คนที่จะลงมือ ปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความดีงาม โดยประเด็นต่างๆที่ ทางโครงการร่วมกันทำ มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประเด็นอาหารปลอดสารพิษ การอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ

โครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดลพบุรี จัดกิจกรรม
“ล้อมวงเสวนา สำนึกดี สังคมดี ลพบุรีน่าอยู่” ขึ้น
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา ณ สวนสัตว์สาธารณะลพบุรี
โดย สุคนธา สอทิพย์

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการในการขับเคลื่อนพลังทางสังคมของลพบุรี ซึ่งจัดขึ้นในงานแสดงไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดลพบุรี ประจำปี 2546

ในการเสวนาครั้งนี้มี ผู้เข้าร่วมเสวนามาจากตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดลพบุรีมากมาย ได้แก่ พระครูสุวัฒน์ จันทโชติ เจ้าอาวาสวัดยางราด คุณนิมิตร เทียมมงคล ตัวแทนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ คุณบุญชู คุ้มม่วง ตัวแทนชุมชนจากบ้านสมอคอน นาวาอากาศตรีหญิงจินตนา คชศิลา ตัวแทนชมรมสร้างสุขภาวะกองบิน 2 นายนิติกร หนุนนาค ตัวแทนเครือข่ายเยาวชน อาจารย์นริศ สืบโถพงษ์ ประธานเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุจังหวัดลพบุรี และผู้ดำเนินรายการ อาจารย์ผ่องศรี ธาราภูมิ โดยบรรยากาศตลอดการเสวนาเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน ยิ้มแย้มของผู้ที่สนใจร่วมฟังการเสวนา และในคราวนี้คนลพบุรีได้ร่วมใจกัน สวมเสื้อสีฟ้าอย่างพร้อมเพรียง เพื่อแสดงพลังของคนลพบุรีที่มีความมุ่งมั่น ในการร่วมสร้างสังคมลพบุรีให้น่าอยู่ ให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้เห็นเป็นประจักษ์ด้วย

ในงานนี้มีพี่น้องในจังหวัดลพบุรีจากหลากหลายพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ มาเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ทั้งจากชมรมรักสุขภาพ ตำบลหินปัก แกนนำชุมชนบ้านเขาสมอคอน จากอำเภอท่าววุ้ง ชมรมรักสุขภาพบ้านไผ่ขวาง ตำบลเขาพระงาม ชมรมไทเก๊ก บ้านหัวช้าง ชมรมไทเก๊ก บ้านดงสวอง แกนนำชุมชนตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง ชมรมรักสุขภาพ ตำบลโก่งธนู ชมรมรักสุขภาพ รพ.ลพบุรี ชมรมสร้างสุขภาวะ กองบิน 2 ชมรมไทเก๊ก บ้านสระมะเกลือ แกนนำชุมชนบ้านโคกประดู่ อำเภอสระโบสถ์ แกนนำชุมชนบ้านยางลาด อำเภอโคกเจริญ แกนนำชุมชนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ชมรมไทเก๊ก สวนราชานุสรณ์ ชมรมไทเก๊กบ้านโคกกระเทียม แกนนำชุมชนวัดสันเปาโล ชมรมไทเก๊กศิษย์หลวงพ่อก้ามปู เทศบาลท่าวุ้ง แกนนำบ้านโคกสลุง อำเภอท่าววุ้ง แกนนำชุมชนตำบลช่องสาริกา ชมรมรักษ์สุขภาพ เทศบาลท่าโขลง อำเภอท่าวุ้ง ชมรมรักสุขภาพ ในหลายซอย เขตำบลเขาสามยอด ชมรมรักสุขภาพ ตำบลตะลุง อำเภอเมือง ชมรมรักสุขภาพบ้านดงจำปา และแกนนำชุมชนตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง


จากวงเสวนาท่านพระครูสุวัฒน์ ได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตของคนทำงานเพื่อสาธารณะ จะต้องมีความมั่นคงทางจิตใจ และมีจิตอิสระอย่างแท้จริง คนเรามีปัญญาถ้าขาดความบริสุทธิ์ใจก็ไม่ดี บริสุทธิ์ใจแต่ขาดปัญญาก็ไม่ดี มีปัญญามีความบริสุทธิ์ แต่ไม่มีเมตตา กรุณา ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณธรรมของพระโพธิสัตว์ จึงบอกว่าต้องมี 3 อย่างนอกจากจะมีมีความบริสุทธิ์ ความอิสระทางจิตแล้ว จะต้องมีปัญญา ว่าเราทำอะไรเพื่ออะไรและมีกรุณาคือการทนเห็นสภาพอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องช่วยกัน เพราะฉะนั้นสังคมลพบุรีมีองค์กรมากมาย ต่างก็ทำเพื่อประโยชน์คนอื่นด้วยกันทั้งนั้น แต่ลพบุรีจะน่าอยู่ได้ก็ต้องมีหลายๆ ส่วนช่วยกันร่วมมือกันหลายๆ มือ ก็จะเกิดพลัง พระก็เช่นกัน มีหน้าที่ส่งเสริมรักษาจิตใจของคน แต่พระมักจะอยู่เบื้องหลัง เวลาเดือดร้อนมีปัญหาหรือเศร้าคนจะคิดถึงพระ ดังนั้นพระจะเป็นเครื่องช่วยเสริมสร้างเข้มแข็ง ทางจิตใจของคนทุกคน คราเกิดศึกสงครามสมัยก่อน พระครูธรรมโชติเป็นกองหลังช่วยบ้านเมือง สังคมไทยตั้งแต่เกิดจนตายจะอยู่กับพระมาตลอด ชีวิตพระกับญาติโยมจึงมีความผูกพันกันตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างไรก็ตามถึงเวลานี้แล้วเราทุกคนจะมาพูดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมทำด้วย เริ่มจากตัวเองก่อน

อาจารย์นริศ ผู้ที่ทำงานเพื่อสาธารณะมานานจนมาถึงวันนี้ แม้ว่าเกษรียณอายุแล้วแต่ก็ยังไม่หยุดทำงานเพื่อสังคม ท่านกล่าวถึงคำพูดของพระครูอาทรประชานาถ วัดพระพุทธบาทน้ำพุ ที่กล่าวให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำงานสาธารณะไว้ดีมาก ท่านถามว่าก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานท่าน กล่าวโอวาทครั้งสุดท้ายไว้ว่า “เดี๋ยวก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลายทำประโยชน์ตนและ ประโยชน์ผู้อื่นให้ดีพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” คนที่มีจิตสำนึกสาธารณะพวกสมาคมต่างๆ จะต้องประสานร่วมมือกันทำงาน อย่าต่างคนต่างทำ เหมือนกับนิทานเรื่องหนึ่ง มีกระทาชายคนหนึ่งเดินทางพร้อมหอบสัมภาระและเสบียงต่างๆ มากมายเดินทางไปดินแดนอันไกลโพ้น โดยกระทาชายคนนั้นนั่งอยู่บนหลังม้า ส่วนสัมภาระต่างๆ มากมายอยู่บนหลังของลา โดยระหว่างทางลาก็แบกของจนหลังแอ่น และบอกม้าให้ช่วย ม้าก็บอกว่าหน้าที่ใครหน้าที่มันไม่เกี่ยว ไม่นานนักระหว่างการเดินทางลาก็ล้มลงตาย เพราะทนต่อสัมภาระที่แบกไม่ไหว ดังนั้นข้าวของต่างๆ จึงต้องถูกลำเลียงขึ้นบนหลังม้าแทน พร้อมๆ กับเจ้าของม้าที่ขี่อยู่บนหลังม้า ซึ่งม้าก็เดินไม่ไหวและแบกภาระที่หนักกว่าเดิมขึ้นอีก ม้าจึงคิดได้ว่ารู้อย่างนี้ช่วยลาดีกว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเราอย่าปล่อยให้คืนอื่นทำงานคนเดียว ต้องช่วยกันทำงาน ไม่อย่างนั้นคนที่เป็นลาก็ตายและม้าก็ตายเช่นกัน ดังนั้นพวกเราต้องช่วยสังคมคนละไม้คนละมือร่วมด้วยช่วยกัน

นอกจากมุมมองของพระและผู้สูงอายุแล้ว ยังมีมุมมองที่น่าสนใจจากตัวแทนเยาวชนด้วย เพราะทุกวันนี้สังคมมีปัญหาที่ทับซ้อนมากขึ้น ความหวังของชาติจึงขึ้นอยู่กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยได้แสดงพลังของเยาวชนที่มีความตระหนักดี คิดดี ว่าหน้าที่ของเยาวชนนอกจากตั้งใจเรียนและเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่แล้ว เหล่าเยาวชนยังสามารถทำอะไรได้ดีอีกมากมาย เช่นการทำกิจกรรมต่างๆที่เกิดประโยชน์ ทุกวันนี้วัยรุ่นถูกหลอกง่ายมากเช่นเทคโนโลยีต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือที่รับเข้ามาโดยฟุ้งเฟ้อเกินเหตุ การลอกเลียนวัฒนธรรมตะวันตก เช่น การกอดจูบ ภาวะเช่นนี้จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่านั้นคือการที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจวัยรุ่น และไม่ให้โอกาสทางสังคมแก่บุตรหลานซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า

โดยตัวแทนเยาวชนได้ขอบอกกล่าวไปยังผู้ใหญ่ใจดีหลายๆท่าน ควรให้เยาวชนมีเวทีของตนเองบ้าง ให้เยาวชนได้มีโอกาสร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ ซึ่งขณะนี้เยาวชนจังหวัดลพบุรีได้รวมตัวกัน ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรมสร้างสำนึกอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ต่อต้านยาเสพติด รักษาสิ่งแวดล้อม ทำกิจรรมวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่ร่วมคิดร่วมสร้าง และอยากให้ผู้ใหญ่ไปดูกัน ในวันนี้ได้มีการนำสินค้ามาขายด้วย สิ่งที่ทำกลุ่มเยาวชนทำอยู่นี้ก็เพื่อให้แสดงออกว่าเยาวชนก็สามารถทำได้ และอยากให้สังคมและผู้ใหญ่ยอมรับ จริงๆ แล้วเยาวชนมีความคิดมีจิตใจอยากแสดงพลังและขยายผล ชีวิตคนเราก็เหมือนต้นไม้บางต้นมีกลิ่นหอม บางต้นเป็นอาหารปาก อาหารใจ เป็นสมุทรไพร คนก็เหมือนกัน มีที่มีคุณค่าต่างกัน แต่อย่างไรการที่เยาวชนจะเป็นเมล็ดพันธ์แห่งความดีงามก็ต้องอาศัยปุ๋ย น้ำ จากผู้ใหญ่และโอกาสต่างๆที่มอบให้ด้วยความจริงใจ การที่เราจะมีสำนึกดีไม่ใช่อยู่ที่การศึกษา วัยวุฒิ คุณวุฒิ ทุกคนเท่าเทียมกันหมด สามารถเกิดจิตสำนึกได้ สามารถถ่ายทอดกันได้ คนราษฎรเต็มขั้นก็สามารถทำงานเพื่อสังคมได้ เราต้องเป็นพลังของชุมชนเราเอง ความเป็นจริงในชีวิตของคนเรามีคำถามตัวเองตลอดเวลา คนหนึ่งคนมักมีตัวตนในสองด้านทั้งด้านสำนึกดี และสำนึกที่ไม่ดี

แต่อย่างน้อยเมื่อถึงเวลาหนึ่งอยากให้ทุกคนเลือกสามัญสำนึกในด้านดีของตนเอง เพราะว่าสิ่งนี้จะนำตัวเราเองและสังคมไปทางที่ดีได้

คุณนิมิตรก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่อยากให้สังคมดี ให้บ้านเมืองน่าอยู่ ในฐานะที่เป็นคนดูแลเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นผู้ประสานงาเครือข่ายเกษตรอินทร์ ท่านบอกพวกเราไว้ว่าอยากให้ทุกคนปลูกจิตสำนึก ด้วยการปลูกผักกินเอง ถ้าวันนี้เราร่างกายแข็งแรงแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองเราแข็งแรงแน่นอน การทำเกษตรอินทรีย์อย่างง่ายๆ คือการเพาะถั่วงอก อยากให้เริ่มทำง่ายๆไปก่อน เมื่อกายดีแล้ว ใจดีแล้ว ชุมชนก็จะน่าอยู่และสังคมน่าอยู่ด้วย

นอกจากนี้อาจารย์ผ่องศรีได้ให้ข้อแนะนำ 5 อ. ที่ต้องมีสำหรับทุกคนเพื่อการนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี

อ. ที่หนึ่ง คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อ. ที่สอง คือรับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่า ปลอดภัยจากสารเคมีสารพิษต่างๆ
อ. ที่สาม อารมณ์ดี ด้วยการมีพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เอื้ออาทรกัน ก็จะเป็นคนที่มาอารมณ์ดีสุขภาพจิตดี
อ. ที่สี่ อากาศดี เพราะถึงแม้จะมีอย่างอื่นดีหมด แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ก็ไม่สามารถมีสุขภาวะที่ดีได้ การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมปลูกต้นไม้จะเป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่ไหนมีที่ว่างก็ช่วยกันปลูกช่วยกันสร้างความร่วมรื่นให้แผ่นดิน
อ. ที่ห้า คือ อุจาระสะดวก พยายามขับถ่ายให้สม่ำเสมอ หากร่างกายมีครอบอย่างน้อย

5 อ. นี้ก็จะมีสุขภาวะที่ดี ไม่เพียงแต่สุขภาวะทางกายเท่านั้น แต่สุขาภาวะทางสังคมก็ต้องดีด้วย เช่น สิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ศิลปินท้องถิ่นวัฒนธรรม ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนทุกคนทั้งชาติ
ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดลพบุรี ถือว่าได้เตรียมดินคือเตรียมพื้นที่คือเตรียมคน คนที่จะลงมือปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความดีงาม โดยประเด็นต่างๆที่ ทางโครงการร่วมกันทำมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประเด็นอาหารปลอดสารพิษ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์โบราณสถาน ป่าชุมชน ประเด็นเรื่องการสร้างสรรค์เยาวชน พัฒนาคนและกระบวนการ ในช่วงนี้ยังมีเวลาอีกยาวนาน แต่โครงการจะไม่จบแค่ปี 48 เพราะการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ คนลพบุรีจะช่วยทำกันตลอดชีวิต เพราะว่าการที่ได้เกิดมาในครั้งหนึ่งเท่าที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้เราจะต้องทำประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อประโยชน์ของทุกคน ถ้าสังคมน่าอยู่พวกเราก็จะมีความสุขด้วย

สุดท้าย ท่านพระครูสุวัฒน์ จันทโชติ ได้ให้ปัญญาและทางสว่างแก่ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาไว้ว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ทำงานหลายอย่าง คนบางคนสวมหมวกมากใบแล้วหมวกก็หลุดหมด ในที่สุดหมวกนั้นก็ไม่มี ไม่ได้หมวกสักใบ ท้ายสุดก็ไม่ได้อะไร ความจริงมีหมวกหลายใบไม่สำคัญ สำคัญว่าเราใส่หมวกเป็นหรือไม่เพราะเราไม่ได้สวมทีละหลายๆ ใบในเวลาเดียวกัน เราจะทำสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นหมวกมีหลายไม่สำคัญ ที่สำคัญคือใส่ให้เป็น ใส่ทีละใบก็เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด กว่าเราจะแก่ได้ต้องใช้เวลาหลายปี น่าจะภูมิใจที่ต้องยอมรับความเป็นจริงที่แก่ ถ้ายอมรับความจริงแล้วก็จะมีกำลังใจที่แท้จริง คนที่จะมีกำลังใจที่แท้จริง คือคนที่รู้เห็นตามความเป็นจริงเสียก่อน พระพุทธเจ้าทำงานโดยไม่หวังอะไรจากใคร แม้กระทั่งคำว่าขอบใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทำงาน และครองราชย์เพื่อ คุ้มครองปวงชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุขมานานท่านก็ไม่ได้หวังอะไร ดั่งเด็กคนหนึ่งเข้าไปหาแม่ แม่แบกจอบเพิ่งกลับจากทำนา ลูกชายวิ่งเข้ามาเอากระดาษให้แม่
ในข้อความเขียนว่า ค่าแม่ใช้ซื้อขนม 2 บาท ค่าเลี้ยงน้อง 4 บาท ค่ากวาดบ้านถูกบ้าน 5 บาท ค่าเฝ้าบ้าน 3 บาท รวมแล้วแม่ยังค้างชำระ 19 บาท แม่อ่านเสร็จแล้วแม่ไม่ว่าอะไร แม่พลิกกระดาษอีกด้านแล้วเอาปากกาเยียนให้ลูก ข้อความแม่เขียนว่า ลูกอยู่ในท้องแม่เก้าเดือน แม่ไม่คิดเงิน ยามลูกป่วยไข้แม่หารถไปส่งโรงพยาบาล แม่ไม่คิดเงิน ยามลูกเข้าโรงเรียน ลูกไม่มีหนังสือ แม่ซื้อให้ แม่ไม่คิดเงิน ยามลูกเสียค่าเทอม แม่ไม่คิดเงิน รวมแล้วความรักของแม่ที่มีต่อลูกเป็นความรักอันบริสุทธิ์ แม่ไม่คิดเงิน สังคมดีเพราะสำนึกดี สำนึกดี สังคมดี

“สำนึกดี สังคมดี ลพบุรีน่าอยู่ ตระหนักรู้ในคุณค่างานสร้างสรร ร่วมเรียนรู้ ร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมแบ่งปัน รู้เท่าทันแก้ปัญหา อาสางาน พัฒนาคน กระบวนการ ขยายผล สร้างโอกาส สร้างคน เชื่อมประสาน รวมพลังสร้างความสุขจิตเบิกบาน ร่วมสืบสาน ด้วยปัญญา น่ารื่นรมย์”

เรียบเรียงโดย
สุคนธา สอทิพย์

Be the first to comment on "เสวนาชีวิตสาธารณะ ที่ลพบุรี"

Leave a comment

Your email address will not be published.