จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องเกษตร ทำให้มีการขับเคลื่อนมติโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนซึ่งมีภารกิจทั้งการพัฒนานโยบายด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย และการแสวงหาชุมชนต้นแบบที่ดำเนินกิจกรรมด้านเกษตรปลอดภัยและอาหารปลอดภัย เพื่อที่จะนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเดือนธันวาคม 2559
คณะกรรมการฯ จึงได้มีกระบวนการกำหนดเลือกชุมชนต้นแบบทั้งในด้านเกษตรปลอดภัย อันหมายถึงชุมชนมีบทบาทโดดเด่นในการจัดการระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารได้ปลอดภัย มีคุณค่าทั้งทางโภชนาการ ทางวัฒนธรรม มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และมีความเป็นธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม และชุมชนอาหารปลอดภัย อันหมายถึงชุมชนที่มีระบบการจัดการอาหารที่ไม่ได้จำกัดแก่การผลิต แต่อาจเป็นเรื่อง การแปรรูป การจัดจำหน่าย การพัฒนาตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่า ปลอดภัย มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมต่อสังคม ทั้งหมดใช้เกณฑ์ คือ
1) ระดับความปลอดภัย เน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์
2) ระบบการผลิตแบบผสมผสาน กิจกรรมเด่นของกลุ่มที่มีความหลากหลายมีทั้งการผลิต ข้าว ผัก ผลไม้
3) จำนวนสมาชิก ความเป็นกลุ่ม/เครือข่ายมีกระบวนการขับเคลื่อนงานในกลุ่มชุมชน
และ 4) ความยั่งยืนและการขยายผล
เพื่อให้เห็นว่าชุมชนเหล่านี้มีจุดเด่น กระบวนการ และเงื่อนไขของความสำเร็จอย่างไรบ้างนั้น จึงได้ให้คณะผู้วิจัยดำเนินการถอดบทเรียนชุมชนทั้งหมดนี้ เพื่อมานำเสนอเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
กลุ่มเป้าหมาย
ชุมชนเกษตรกรรมปลอดภัย
พื้นที่เป้าหมายหลัก
- เครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต
- จังหวัดอำนาจเจริญ
- จังหวัดนครปฐม สามพรานโมเดล
พื้นที่เสริม
- วิชชาลัยรวงข้าว จังหวัดพัทลุง
- เครือข่ายยโสธร
ชุมชนอาหารปลอดภัย
พื้นที่เป้าหมายหลัก
- จังหวัดสุรินทร์
- จังหวัดอุตรดิตถ์
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พื้นที่เสริม
- ครัวใบโหนด สงขลา
- ตลาดอิ่มบุญ ข่วงเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่
สังเคราะห์ชุมชนต้นแบบด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย
ชุมชน หรือเครือข่ายต้นแบบด้านเกษตรและอาหารปลอดภัยทั้งหมด 11 พื้นที่ เกือบทั้งหมดสืบสานจากวัฒนธรรมเดิมจากเกษตรพื้นบ้านที่เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ มีการผลิตและบริโภคบนฐานฤดูกาล และความสมดุลธรรมชาติ ทำการค้าภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมท้องถิ่น จนเมื่อการพัฒนาเกษตรเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รัฐส่งเสริม และภาคเอกชนชักนำ ชุมชนเหล่านี้เปลี่ยนมโนทัศน์ก้าวเข้าสู่เกษตรแผนใหม่เต็มตัว ด้วยมุ่งหวังเพิ่มผลผลิต รายได้ และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัฒนธรรมสมัยใหม่ผ่านรูปธรรมเทคโนโลยี เงินตรา และการค้า
แม้จะมีผลผลิตและรายได้เพิ่มในช่วงแรก แต่ต่อมาพวกเขาเริ่มตระหนักถึงผลลบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง นิเวศเสื่อมโทรม หนี้สินพอกพูน การใช้แรงงานหนัก ลุขภาพทรุดโทรม ความสัมพันธ์ในชุมชนห่างเหิน มุ่งแข่งขันกัน ความสัมพันธ์กับผุ้บริโภคก็แปลกแยกจากการผลิตอาหารไม่ปลอดภัย ชีวิตเกษตรกรนับวันยิ่งถูกครอบงำจากตลาด พ่อค้าคนกลาง โดยไม่มีอำนาจต่อรองและทางเลือกอื่นใด ทำให้พวกเขาไม่มีความหวังต่ออนาคตเกษตรกร ไม่อยากให้ลูกหลานมาทำเกษตรที่แสนลำเค็ญเช่นพ่อแม่ สังคมเกษตรได้เข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างรุนแรง พร้อมๆ ไปกับความไม่ปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับอาหารปนเปื้อนสารเคมี ขาดความหลากหลายของอาหารตามวัฒนธรรมและธรรมชาติ ขาดคุณค่าโภชนาการ นำมาสู่ความไม่ปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่จากฐานทรัพยากร การผลิต การค้า และการบริโภค ปัญหาสุขภาพจากทุกขโภชนาการ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน แพร่ระบาดไปทั่วทุกชนชั้น
จนเมื่อสายธารแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งเกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ได้เริ่มจุดประกายขึ้นโดยการขับเคลื่อนองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน ความหวังที่จะมีทางเลือกในชีวิตที่ดีก็เริ่มเกิดขึ้น จากสุรินทร์แพร่มาถึงยโสธร อำนาจเจริญ จากเชียงใหม่ขยายตัวมาแม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ จากฉะเชิงเทรา นครปฐม ในภาคใต้ขยายจากสงขลาไปสู่พัทลุง พวกเขาได้สร้างระบบเกษตรยุคหลังสมัยใหม่ขึ้นมา เป็นเกษตรที่อิงกับธรรมชาติ อยู่บนวัฒธรรมที่ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมสมัยใหม่ และกระแสสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบการผลิตหลากหลายบทบาททั้งการผลิตเพื่อบริโภค ผลิตเพื่อการค้า ผลิตเพื่อสร้างสังคมที่ดีงาม โดยผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ จากทรัพยากรชีวภาพของท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับวิทยาการสมัยใหม่ พัฒนาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น หลากหลาย และสร้างการค้ากับผู้บริโภคด้วยความซื่อสัตย์ ไว้วางใจ และเรียนรู้ซึ่งกัน โดยมีนักพัฒนา นักวิชาการ ผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายร่วมกันมาร่วมส่งเสริม
ดังเห็นได้จาก เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ในอีสาน ที่มีฐานการผลิตข้าวเพื่อยังชีพมานาน กลุ่มเกษตรกรสุรินทร์ พวกเขาเผชิญปัญหาสารเคมีจนสุขภาพเสื่อมโทรม แต่ด้วยการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านได้สร้างต้นแบบเกษตรอินทรีย์ พวกเขาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อบริโภคและส่งออกไปต่างประเทศ และกลับมาสร้างตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นขยายตัวจนเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค
เมื่อฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่สุรินทร์ขยายวงกว้าง ก็ส่งผลมาที่ยโสธร กลุ่มเกษตรกรนาโส่เริ่มต้นจากงานด้านสมุนไพรก็พัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จทั้งการผลิตและการค้า ขยายผลต่อมาสู่ชุมชนใกล้เคียง ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน จนถึงวันนี้มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ถึง 10 กลุ่ม เกิดตลาดทางเลือกกระจายไปทั่ว เครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์ยโสธร ได้ผนึกพลังร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาของจังหวัด เกิดเป็น “ยโสธรโมเดล” เมืองแห่งเกษตรอินทรีย์
ที่อำนาจเจริญ การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางเช่นกันในรูปเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยความชัดเจนในเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ริเริ่มเกษตรอินทรีย์จากการตระหนักถึงพิษภัยสารเคมี จากจุดเล็กๆ ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางพัฒนาเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่สามารถกำหนดอัตลักษณ์ของจังหวัดให้เป็นเมือง “ธรรมะเกษตร” และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น จังหวัดจัดการตนเอง การปกป้องพื้นที่และชุมชนอาหารจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น
มาสู่ภาคกลาง เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ฉะเชิงเทรา เกิดขึ้นในภาวะที่ชาวบ้านประสบความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจากการปลูกพืชไร่ นักพัฒนาเอกชนได้เข้ามาส่งเสริมการออมทรัพย์ การพึ่งตนเอง การแสวงหาทางเลือก พื้นที่ไร่มัน ไร่อ้อย ที่เสื่อมโทรมได้ถูกพลิกฟื้นมาทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งการปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ พวกเขาสร้างฐานการผลิตที่เข้มแข็ง สร้างผู้นำและสมาชิกเกษตรอินทรีย์เชื่อมโยงหลายจังหวัด สร้างตลาดอาหารอินทรีย์จนเป็นที่ยอมรับ ทุกวันนี้ส่งข้าวและพืชผักขายได้รายได้สูง พร้อมไปกับการมีนิเวศและสุขภาพที่ดี
สามพรานโมเดล แห่งนครปฐม แม้มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกันไป
แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าชื่นชมเช่นกัน เริ่มต้นโดยผู้ประกอบการสามพรานที่สนใจสุขภาพ ปรารถนาที่จะให้ลูกค้าบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่า จึงเข้าไปสร้างความเข้มแข็งและทางเลือกให้กลุ่มเกษตรกรด้วยแนวทางอินทรีย์ เปิดตลาดสุขให้ค้าขาย เชื่อมต่อตลาดทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า โรงแรม ทำให้เกษตรกรที่ปลูกผลไม้มีหวังว่าสินค้าของเขาจะขายได้ พร้อมไปกับสร้างสุขภาพที่ดี จึงร่วมกันเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานเคียงคู่กับผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม กลายเป็นรูปแบบสร้างสังคมใหม่ที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีส่วนร่วมสร้างสังคมดีงามผ่านอาหารอินทรีย์ที่มีมาตรฐานโดยเกษตรกรและผู้บริโภคมีส่วนร่วม
ชาวสวนแห่งจันทบุรีก็มีความหวังจากนักพัฒนาอดีตราชการออกมาทำงานสร้างทางเลือกการสวนผลไม้อินทรีย์ ท่ามกลางสวนไม้ผลเคมีที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุน ชาวสวนได้ร่วมกันพัฒนาทางเลือก สร้างความรู้ เครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนเป็นผู้รู้ ผู้นำเกษตรกรหลายๆ คน เครือข่ายชาวสวนได้กลายเป็นความหวังที่จะฟื้นนิเวศ เศรษฐกิจชุมชน และสร้างตลาดไม้ผลที่ปลอดภัย มีคุณค่าออกไปกว้างขวาง
ลงมาสู่คาบสมุทรสทิงพระ กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ แห่งสิงหนคร ได้เริ่มต้นบุกเบิกสร้างเศรษฐกิจอาหารพื้นบ้าน อาหารอินทรีย์ และตลาดทางเลือก บนฐานทรัพยากรโหนด (ตาลโตนด) นา และเล (ทะเล) พวกเขาได้รับแนวคิดจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จึงเริ่มจากธุรกิจชุมชน และพัฒนาสู่การสร้างร้านค้าที่ชื่อว่า “ครัวใบโหนด” ที่ไม่เพียงแต่เป็นร้านค้าอาหารพื้นบ้าน แต่ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเกษตรกร เชื่อมสัมพันธ์ในชุมชนระหว่างคนรุ่นเฒ่ากับเยาวชนผ่านกิจกรรมอาหาร ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนทั้งการผลิต การบริโภคอาหาร ถึงวันนี้ผลิตภัณฑ์อาหารจากครัวใบโหนดกลายเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเรียนรู้
วิชชาลัยรวงข้าว พัทลุง ก็เป็นหนึ่งในสายธารของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ที่เติบโตขึ้นจากกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาสารเคมี จึงมุ่งมั่นหาทางเลือกด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐ ทำให้พวกเขาเริ่มรวมกลุ่ม ทำปุ๋ยอินทรีย์ แม้ในช่วงแรกเกษตรกรรอบข้างจะไม่สนใจ แต่เมื่อแนวทางเกษตรอินทรีย์ได้พิสูจน์ตนเองจนเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งแล้ว และการสร้างกระบวนการเรียนรู้กับเกษตรกรอย่างจริงจังในรูปแบบวิชชาลัยรวงข้าว อันเป็นระบบการเรียนรู้ที่พวกเขารังสรรค์ขึ้น กลุ่มเกษตรอินทรีย์จึงขยายฐานสมาชิกออกไปได้กว้างขวาง
การใช้ประเด็นสุขภาพเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโรงพยาบาลลับแล อุตรดิตถ์ที่เปลี่ยนจากมิติสุขภาพเชิงรับภายใต้กรอบคิดทางการแพทย์ มาสู่โรงสร้างสุขภาพด้วยมิติอาหารปลอดภัย ด้วยการเชื่อมต่อกับกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคผ่านตลาดสีเขียวที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางอาหารและเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างพลังร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค
ในความเป็นจริง ยุทธศาสตร์เรื่องตลาดสีเขียวหรือตลาดทางเลือกไม่ได้เพิ่งกลายกระแส ข่วงเกษตรอินทรีย์ หรือเดิมคือตลาดอิ่มบุญ เชียงใหม่ ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537 จากการตกผลึกทางความคิดของขบวนการนักพัฒนาเอกชนที่จะเชื่อมร้อยพลังภาคชนบทและเมือง เชื่อมผู้ผลิตกับผู้บริโภคให้เกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน การผลิตที่มั่นคง และการค้าที่เป็นธรรม ยุทธศาสตร์เรื่องตลาดจึงถูกคิดค้นและทดลองมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำให้ข่วงเกษตรอินทรีย์เป็นภูมิทัศน์ของอาหารปลอดภัย และเป็นต้นทางการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรยั่งยืนและความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่อง
ต้นแบบชุมชนและกลุ่มที่ทำเกษตรหรืออาหารปลอดภัยเหล่านี้ ได้พลิกฟื้นวิถีชีวิตเกษตรกรให้กลับมาทรงคุณค่า ยั่งยืนในทางนิเวศ มั่นคงทางในทางเศรษฐกิจ สร้างอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัย พัฒนาตลาดที่เป็นธรรม เกษตรกรมีอำนาจต่อรอง ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบและมาเรียนรู้ หนุนเสริมซึ่งกัน เกิดเป็นทางเลือกใหม่ที่ก่อตัวระดับท้องถิ่นและเชื่อมต่อกันไปอย่างกว้างขวาง วิถีเกษตรกรกำลังทวีคุณค่า และมีส่วนสำคัญในการกำหนดวาระทางสังคม และผลักดันนโยบายให้รองรับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรถูกเอาเปรียบอย่างรุนแรงจากระบบตลาดและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ผู้บริโภคไร้ทางเลือก กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์กว่าสิบแห่งเหล่านี้คือ ความหวังที่จะเป็นจุดเปลี่ยนทางสังคม ที่จะนำไปสู่สังคมอาหารที่ยั่งยืน รับผิดชอบ และเป็นธรรมร่วมกัน บัดนี้ได้เริ่มสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ลำพังพลังของชุมชนต้นแบบคงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาหารทั้งระบบที่ถูกผูกขาดด้วยการควบคุมทรัพยากรของรัฐ และการกำกับตลาดของทุนได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีต่างๆ จะต้องขยายต้นแบบออกไปให้กว้างขวาง เชื่อมร้อยกันเป็นขบวนการทางสังคมที่ก้าวหน้าที่สร้างระบบอาหารที่ความมั่นคง ยั่งยืน ปลอดภัย และเป็นธรรม หรือเป็นประชาธิปไตยทางอาหารที่แท้จริง
กฤษฎา บุญชัย
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา