30 ปีสลายคนตุลา?

30 ปี 6 ตุลา เวียนมาจ๊ะเอ๋ คปค.เข้าพอดี ในบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิมแม้แต่น้อย เพราะครั้งนี้คนเดือนตุลาแบ่งเป็น 3 ฝ่าย 3 ขั้ว  ขั้วหนึ่งคงไม่ต้องพูดมากเพราะตกเวทีประวัติศาสตร์ไปกับทักษิณ ขั้วที่ 2 ที่กำลังขึ้นเวที คือคนเดือนตุลาฝ่ายพันธมิตรฯ…ส่วนขั้วที่  3 ที่กำลังเริ่มแสดงบทบาท คือขั้วที่ไม่เอาทักษิณ และไม่เอารัฐประหาร….

30 ปีสลายคนตุลา?
8 ตุลาคม 2549 กองบรรณาธิการ

30 ปี 6 ตุลา เวียนมาจ๊ะเอ๋ คปค.เข้าพอดี ในบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิมแม้แต่น้อย เพราะครั้งนี้คนเดือนตุลาแบ่งเป็น 3 ฝ่าย 3 ขั้ว

ขั้วหนึ่งคงไม่ต้องพูดมากเพราะตกเวทีประวัติศาสตร์ไปกับทักษิณ ขั้วที่ 2 ที่กำลังขึ้นเวที คือคนเดือนตุลาฝ่ายพันธมิตรฯ ซึ่งนอกจากจะเชียร์รัฐประหารสุดตัวแล้ว บางคนยังเข้าไปร่วมวางแผนก่อการกับฝ่ายทหาร ส่วนขั้วที่ 3 ที่กำลังเริ่มแสดงบทบาท คือขั้วที่ไม่เอาทักษิณ และไม่เอารัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของขั้วที่ 2 ที่สลัดทิ้งอุดมการณ์ที่มีแต่เดิม

ใครถูก-ใครผิดกาลเวลาคงพิสูจน์ แต่ ณ วันนี้ งาน 30 ปีแม้จะไม่มีใครชกปากกัน ก็คงไม่มองหน้ากันไปหลายราย


“ขมขื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

 

พลเดช ปิ่นประทีป

หมอพลเดชเป็นกรรมการจัดงาน 30 ปี 6 ตุลา ที่เจ้าตัวกระซิบว่าแย่หน่อยเพราะปีนี้หาทุนลำบาก ทุกปีที่ผ่านมามักจะได้เงินจากคนเดือนตุลาในรัฐบาล ไม่ใช่งบประมาณก็เงินส่วนตัว เช่น ตอน 25 ปี สปอนเซอร์สำคัญคือเมียหมอเลี้ยบ บอดี้เชพ แต่ปีนี้เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ก็ไม่มีการพูดคุยกัน

หมอพลเดชยังกระซิบขันๆ ว่า ที่จริง คปค.ก็ติดต่อมา ไม่ใช่ห้ามจัดงาน-แต่ถามว่าต้องการเงินทุนสนับสนุนไหม คปค.พร้อมจะให้ แต่กรรมการรับไม่ได้ ขืนรับไปก็โดนด่าหูชา

ทัศนะต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่แปลกใจว่าหมอพลเดชจะมองอย่างหมอประเวศ ในฐานะศิษย์เอกที่ทำงานภาคประชาสังคม

 

“อันแรกผมมองว่า ต้องมองประชาธิปไตยเป็นพัฒนาการ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง หมายความว่ามันเริ่มตั้งแต่ปี 2475 ก็มีเหตุการณ์มีความเคลื่อนไหว บางครั้งไปได้ราบรื่น-บางครั้งก็เกิดการปะทะ เกิดการนองเลือด ปี 2500 ปี 2516 ปี 2519 ปี 2535 จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และก็มา 2549 ผมถึงมองมันเป็นลักษณะของกระบวนการที่ลื่นไหลไปเหมือนสายธาร สายธารประชาธิปไตย มันเหมือนการเดินทาง การยึดอำนาจการรัฐประหารในทางรูปแบบมันตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย แต่ถ้าเรามองทั้งรัฐประหารและประชาธิปไตยมันเป็นพัฒนาการ มันเป็นเครื่องมือไปบรรลุจุดมุ่งหมาย คือความเป็นธรรมในสังคม การกินดีอยู่ดี เรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลของการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้ามองแบบนี้ก็จะไม่ทุกข์กับมันมาก”

“ผมไม่รู้สึกทุกข์กับมันเลย ถามว่าเราต้องการรัฐประหารเหรอ-ไม่ใช่ อันนี้ตรงกัน แต่ว่าเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา บางทีแม้แต่ในรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา บางคนก็มองในลักษณะที่มันหยุดนิ่ง มันเป็น end เป็นจุดสุดท้าย เป้าหมายสุดท้าย ไม่ได้มองว่าเป็น mean พอมองว่าเป็น end ปั๊บ หมายความว่ามันต้องสู้กันเพื่อรักษาตรงนี้ แพ้ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้ามองเป็นลักษณะกระบวนการ สายธารที่ต่อเนื่องอย่างนี้ บางครั้งมันก็สะดุดบ้าง ผมว่าเอนก (เหล่าธรรมทัศน์) เขาพูดดีนะ ที่เขาเปรียบเทียบกับฝรั่งเศสที่ปฏิวัติประชาธิปไตยแล้วผ่านมาตั้ง 200 กว่าปี ตอนนั้นก็เกิดวิกฤติ เดอโกลด์ต้องเข้ามาปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นมาก็สู่ความสมดุล ซึ่งผมก็มองอย่างนั้นเหมือนกันว่า เราอาจจะไม่ใช้เวลามากเหมือนฝรั่งเศสก็ได้ ถ้าโชคดี ผมว่าถ้าเทียบกับระหว่างสภาพสังคม ในปี 2549 กับปี 2519 สังคมก็เคลื่อนมามากแล้ว เรื่องความตื่นตัว ความเข้าใจ ความสำนึก สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ระบบการสื่อสารต่างๆ ทำให้รู้เท่าทันกันหมด นักศึกษาที่ผมเคยหนักอกหนักใจว่ามันยากที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ กลับกลายเป็นว่าในช่วงที่ผ่านมาทำให้พวกเขาตื่นตัวขึ้นมา ตอนที่เกิดสึนามิ ผมก็มีกำลังใจขึ้นมากเลยนะ เพราะว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่นาที ตรงนี้ทำให้กระแสนักศึกษาตื่นตัวขึ้นมา จิตใจอาสาสมัครที่มันเงียบหายไปนาน มันเฉาไปนาน กลับฟูขึ้นมาได้ น่าแปลกมากที่เด็กนักศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งทีมไปให้คำแนะนำพวกต่างชาติที่ไปเที่ยวและรอดตายกลับมาพักที่ธรรมศาสตร์ ฟังเด็กพวกนี้คุยกับคนเหล่านั้น เฮ้ย เขาพูดแบบนั้นก็เป็น ในความโชคร้ายก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ผมว่าในรอบปี 2549 ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ 7.3 หมื่นล้านมันไปกระตุ้นต่อมอะไรบางอย่างในสังคม กระแสตรงนี้ก็เกิดขึ้นได้”

“กลับมาที่ถามว่ามองกรณีคนตุลาในช่วงนี้อย่างไร ผมรู้สึกว่ามันแยกเป็นหลายเสี่ยง ตอนนี้รู้สึกจะไม่ต่ำกว่า 3 เสี่ยงเป็นอย่างน้อย ตรงนี้ถ้ามองมันเป็นสายธาร ผมว่าประชาธิปไตยของเรามันน่าจะต้องยกระดับขึ้นไป อ.ประเวศท่านบอกว่า น่าจะต้องยกภพภูมิขึ้นไปให้ได้ ผ่านเหตุการณ์นี้ต้องยกภพภูมิของประชาธิปไตยของไทยขึ้นไปให้ได้ หมายถึงยกระดับคุณภาพ คุณภาพที่สำคัญนั้นคือ คุณภาพของการอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย หมายความว่าคนตุลา ในความรู้สึกผมเป็นเพื่อนกันหมดแหละ อย่างน้อยก็เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ร่วมอุดมคติ การร่วมการต่อสู้ ร่วมความยากลำบาก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันมาในหลายๆ สนาม ถึงวันนี้ผมกับมิ้ง กับเลี้ยบ กับใคร ผมก็ถือว่าเป็นพี่เป็นน้องกันเหมือนเดิม และผมก็เคารพการตัดสินใจเขานะ ผมไม่ตัดสินว่าเขาผิดหรือถูก เขาควรจะตัดสินใจด้วยตัวเขาเองได้ว่าเขาผิดหรือถูก และตัดสินใจแบบไหนไม่ว่าเขาหรือผม เมื่อตัดสินใจแล้วเราก็พร้อมที่จะรับผลของการตัดสินใจของเรา เขาก็ต้องรับผลไป เราก็รับผลเหมือนกัน อันนี้ไม่มีใครว่าใครไม่มีใครโทษใคร ถ้าเราจะยกระดับภพภูมิประชาธิปไตยของไทยให้ได้ ผมว่ามันจะต้องอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในหมู่เพื่อนฝูงคนตุลาด้วยกัน ถึงแม้ไม่ใช่คนที่ผูกพันเดือนตุลาก็ให้เขามีที่ยืน ให้ทุกคนมีที่ยืนให้ได้ คือหมายความว่าคิดแตกต่างกันได้ แต่ว่าเคารพ และคุณตัดสินใจยังไงคุณก็ต้องรับไป”

แต่ที่ผ่านมา 7-8 เดือน นอกจากสังคมแตกแยกกันมาก คนเดือนตุลาก็ยังเข้าไปอยู่ในแกนของทั้งสองฝ่าย

“อยู่ในวอร์รูมทั้งคู่ แต่บทบาทของผมไม่ได้ไปจ๋ามาก เพราะมันมีเรื่องอื่นอย่างเช่นภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศ ผมทำงานตรงนั้นเยอะ และหลายเรื่องก็ทำงานอยู่กับซีกของรัฐ เราก็ต้องสงวนท่าที หลายคนในทีมงานของรัฐบาลทำงานกับผม และก็ทำงานในลักษณะที่แตกแต่งกับแนวทางที่นายกฯ ทำด้วยซ้ำ เราก็เห็นอย่างเดียวกัน ทั้งๆ ที่เขาก็ทำงานกับซีกรัฐบาล แต่ก็เห็นต่าง มาแอบๆ ทำในอีกแบบหนึ่ง แบบนี้เราก็เคารพกัน คือไม่คุยกันเรื่องนี้ เราก็รู้ว่าเขา-ต่อเรื่องวิกฤติปัญหาการเมืองระดับชาติเขาคิดยังไง เขาก็รู้ว่าเราคิดยังไง ต่างคนก็ต่างไม่มาก้าวก่ายกัน คุยกันเรื่องเดียว คือเรื่องไปทำงานที่ภาคใต้ด้วยกัน อย่างนี้ก็โอเค”

“แต่สำหรับจุดยืน ผมเองใน 7-8 เดือนที่ผ่านมา ผมชัดเจนว่าผมยืนอยู่ตรงไหน สิ่งที่ผมเชื่อว่าผมยืนอยู่กับความถูกต้อง บังเอิญเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งอำนาจอะไร เราก็เลยมีอิสระในการใคร่ครวญได้ว่าอะไรมันถูก อะไรมันเป็นธรรม เราไม่ลังเล เรา-หมายถึงตัวผมและก็เครือข่ายที่ทำงานกันอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในระดับรากหญ้า ระดับชุมชน และก็ระดับประชาสังคมจังหวัดต่างๆ เราไม่ลังเล และประกาศจุดยืนด้วย เรื่องนี้เราเห็นว่าพันธมิตรฯ จะเป็นอย่างไรก็ตาม คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะเป็นอย่างไรก็ตาม อันนั้นก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา แต่สิ่งที่เราร่วมกันฝ่ายพันธมิตรฯ คือประโยชน์สาธารณะ สิ่งที่เขากำลังขับเคลื่อนกำลังต่อสู้กับรัฐบาลอยู่นั้น มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ฉะนั้นเรายืนอยู่ตรงนั้น ใครจะมาบอกว่าคุณสนธิเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีผลประโยชน์อะไร อันนั้นผมไม่รับรู้ด้วย เอาเหอะ อันนั้นไปว่ากันเองเถอะ แต่ว่าเห็นจะจะกันอยู่คือกำลังสู้กับอะไร และเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ตรงนี้เราตัดสินใจ

เพราะฉะนั้น 7-8 เดือนนี่เราชัดเจน ไม่อ้อมค้อม ตอนที่เรารณรงค์เรื่องอารยะแข็งขืน 10 ประการ เราก็ประกาศตัวอย่างนั้น จำได้ว่าคนในซีกรัฐบาลมีน้องๆ หลายคนไม่พูดกับผมเลย ก็ไม่เป็นไร เราก็ยังรักเป็นพี่เป็นน้องกันเหมือนเดิม”

คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการไล่ทักษิณ แต่แตกกันตรงที่ว่าควรสนับสนุนรัฐประหารหรือไม่

“ที่พูดมาก็เป็นไปได้ เพราะว่าในการที่จะมาถึงทางตัน ประเทศมันถูกพามาด้วยอะไรไม่รู้ มาถึงทางตัน ใครเป็นคนรับผิดชอบตรงนี้ก็ต้องรับผิดชอบด้วยกันหลายๆ ฝ่าย แต่มันมาถึงทางตันและไม่รู้จะไปยังไง ก็ต้องดิ้นรนทุกอย่างทั้งใต้ดินบนดินเพื่อจะทะลุทางตันให้ได้ ซึ่งผมเปรียบเหมือนกับฝีนะ ที่มันต้องแตกออกเพื่อให้หนองมันระบายออก ตราบใดที่มันยังไม่แตกออก หนองไม่ระบายขังอยู่อย่างนั้น มันจะค่อยๆ สะสมไปเรื่อย และมันจะเจ็บปวดทรมาน เพราะฉะนั้นมันก็ต้องดิ้นรนไปอย่างนี้ ผมจะไม่ยึดติดกรอบจนมากนัก อาจจะเป็นเพราะผมทำงานสายแพทย์ เวลาเราเป็นแพทย์ใจเราไม่อยากใช้ความรุนแรงหรอก คนไข้มาปรึกษาไม่ใช่ว่าจับผ่าตัดหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้การผ่าตัดนะ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องประโยชน์ของคนไข้”

“ประชาธิปไตยหรือรัฐประหารมาแล้วยึดครองอำนาจยาวแบบก่อนมันก็ไม่ใช่ เหมือนกับจับคนไข้ไปผ่าตัดทีเดียวให้สลบอยู่ 3 วันแล้วก็ผ่าอยู่นั่นแล้ว คนไข้ตายก่อน รัฐประหารนี่ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าการเข้าเร็วออกเร็วของ คปค.ชุดนี้ ทำให้เขาไดัรับการยอมรับ แรงต้านจะน้อยลง คนทั่วไปจะรู้สึกว่ามันเหมือนฝีที่ฟักมานาน เจ็บปวดทรมานมานาน ใช้การเจาะอย่างรวดเร็วและระบายหนองออก แล้วปล่อยให้มันฟื้นเยียวยาด้วยตัวมันเอง อันนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นผ่าตัดในทางการแพทย์ ผ่าหรือไม่ผ่าขึ้นอยู่กับประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ และก็เอาชีวิตของคนไข้เป็นหลัก ไม่ใช่ความยากง่ายของหมอนะ ความพอใจส่วนตัวของหมอ-ไม่ใช่นะ ผมจึงมองทั้งคู่ มันจึงเป็นเครื่องมือที่จะไปบรรลุความอยู่ดีกินดี ความเป็นธรรมในสังคม การกระจายรายได้ ความมั่นคงในชีวิต จะประชาธิปไตยหรืออะไรก็ไม่รู้ และโดยหลักแล้วมันต้องสงบสันติ มันเรื่องของไม่มีสงครามไม่มีความขัดแย้ง หรือจัดการความขัดแย้งได้โดยสันติวิธี อันนี้เป็นหลัก เหมือนหมอก็คือต้องการรักษาด้วยยา คือถ้าไม่ต้องใช้ยาก็ยิ่งดี แต่ถ้ามันจำเป็นก็ต้องใช้ยาให้น้อยที่สุดและสั้นที่สุด และถ้ามันไม่ไหวต้องผ่าตัดช่วยก็ต้องสั้นมากๆ เจ็บปวดน้อยที่สุด หลักการคือตรงนี้ แต่ในที่สุดก็ต้องกลับสภาพ ไม่ใช่ผ่ากันอยู่นั่น

“เพราะฉะนั้น การยึดอำนาจอยู่ระยะยาวผมว่าไม่ถูกอยู่แล้ว และถ้าเกินไปกว่านี้มากๆ แรงต้านจะเริ่มก่อตัว ผมว่าเขาฉลาดที่ภายใน 2 สัปดาห์ เขาก็ทำตามที่เขาประกาศ มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ประเด็นเนื้อในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญอาจจะมีอีกนะ แต่ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็บอกว่าจะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมา มีรัฐบาล แล้วถอยออกไป ผมว่าเขาก็ได้ทำตามที่เขาประกาศไว้ อันนี้ก็ค่อยเบาใจได้หน่อย”

มองคนเดือนตุลาที่อยู่ในใจกลางของ 2 ขั้วอย่างไร

“ทั้ง 2 ขั้วนี่ผมเห็นใจเขานะ เห็นใจในแง่ที่ว่าบางที-ที่จริงพวกเราทุกคนมันก็ต้องเรียนรู้และปรับตัว ขัดเกลาตัวเราเองไปด้วย เหมือนกับปฏิบัติธรรมไปด้วยว่าอย่างนั้นเถอะ พี่น้องเดือนตุลาทั้งหลายที่อยู่ทั้ง 2 ซีก แต่ละคนพอมันมีความขัดแย้ง มีความแตกต่างกันในทางความคิด และมันยืนอยู่คนละทาง สู้กัน ต่างคนต่างมีความรู้ต่างคนต่างมีความคิด มีทักษะประสบการณ์ มียุทธศาสตร์มียุทธวิธี พอมันกินกันยากหน่อย มันรู้ทางกัน การต่อสู้แบบนี้ก็เจ็บปวดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ขมขื่นด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย บางทีสู้ไปสู้มาเขาไม่มีเวลามาได้นั่งนิ่งๆ แต่ผมอาจจะมีเวลานั่งนิ่งมากกว่า เพราะไม่ได้อยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่อยู่ในขั้วอำนาจหรือสายบังคับบัญชาที่จะสู้รบกัน ทำให้เรามีเวลานิ่งมากขึ้น มองกลับไปก็เห็นใจเขาทั้ง 2 ฝ่าย เห็นใจตรงที่ว่าพอเขาไม่มีเวลานิ่งๆ แล้วทำให้เขาไม่รู้ตัวเหมือนกัน แล้วกลายเป็นว่ายึดติดต่างๆ มองอีกฝ่ายในลักษณะของค่อนคับแคบ มันทั้งคู่แหละ แล้วกลายเป็นไม่ให้อภัยต่อกัน จะต่อสู้ฟาดฟันกันแบบนี้ ซึ่งอันนี้ผมว่าถ้าจะยกภพภูมิของระบบประชาธิปไตยไปอีกขั้นหนึ่งนั้น คนเดือนตุลาหาเวลานั่งนิ่งแล้วคิดย้อนกลับไปดู และก็รู้จักที่จะเห็นใจ เมตตาต่อกัน ให้อภัยต่อกัน ให้กำลังใจต่อกัน ถ้าทำได้มันจะดีทั้งคู่ เราคงทำอะไรไม่ได้ สำหรับผมเองมีความรู้สึกอย่างนั้น แต่เราอาจจะเงื่อนไขดีกว่าเขา เพราะเราไม่ได้ไปโรมรันพันตูกับเขา เราเลยทำใจง่ายกว่าเขาหน่อย (หัวเราะ)”

แต่ฝ่ายที่ไล่ทักษิณเล่นหนักกว่านะ เพราะเล่นถึงขั้นปฏิญญาฟินแลนด์

“ผมถึงบอกว่าพอมันสู้กันแล้ว พอโรมรันพันตูกันแล้ว มันไม่รู้กติกามารยาทต่างๆ ตอนนั้นไม่ต้องพูดถึง เอาชนะกันก่อน เพราะฉะนั้นทั้งใต้ดินบนดิน เรื่องเท็จเรื่องจริงมากันได้หมด ซึ่งอันนี้ก็น่าห่วงเหมือนกัน มันจะทำให้เราฆ่ากันได้เลย”

ถ้าเล่นกันในเกมยังมองหน้ากันได้ ไม่ว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ทุกวันนี้มันมองหน้ากันไม่ได้แล้ว

“ก็มีส่วน ผมก็ว่าทั้งคู่แหละ ก็สู้กันนี่ ด้วยความกดดันของสถานการณ์วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง ก็น่าเห็นใจว่าทุกคนว้าวุ่นสับสนกันได้ หาทางที่จะเอามันให้ลง ซึ่งก็กินกันยากอย่างที่ว่า ตรงนี้ผมมองกลับไปตอนหลังพยายามบอกผ่านไปถึงพี่ๆ น้องๆ ในซีกรัฐบาล ว่าสถานการณ์มาถึงจุดหนึ่งแล้ว อาจจะไม่ต้องมาตั้งคำถามว่าใครผิดใครถูก แต่น่าจะตั้งคำถามว่าที่เหมาะที่ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งในตอนนั้นผมคิดว่าถ้าคุณทักษิณถอย ความจริงคุณทักษิณมีจังหวะถอยงามๆ ตั้งหลายจังหวะ ลองย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 5-6 จังหวะที่เขาสามารถถอยได้และสวยด้วย และบ้านเมืองก็ไม่ตันถึงขนาดนั้น แต่เขาดันมาถึงขนาดนั้นก็น่าเสียดาย เราก็ได้แต่เสียดายเพราะเราไปตัดสินใจแทนเขาไม่ได้ แต่เมื่อเขาตัดสินใจแล้วก็ต้องรับผลของการตัดสินใจเอาเอง ตัดสินใจถูกไม่ถูก เหมาะไม่เหมาะ ช้าหรือเร็ว อันนี้ก็ของใครของมันแล้ว”

คนเดือนตุลาในรัฐบาลเขาอาจจะพูดได้ว่าเขาไม่ได้เล่นสกปรกนะ แต่ฝ่ายนี้เล่นเขาหนัก

“คำว่าเล่น มันไม่มีใครไปบอกพันธมิตรฯ ว่าคุณเล่นเกมสกปรก พันธมิตรฯ เขาก็ไม่ยอมรับ แต่ผมบอกเลยครับว่าเวลาเราตะลุมบอนกันมันไม่มีคำว่ากฎ กติกา มารยาทหรอก และผมก็ไม่เชื่อหรอกว่าคุณมีกติกา-มารยาทอย่างเคร่งครัด อีกฝ่ายหนึ่งมีผมก็ไม่เชื่อ ทั้งหมัดทั้งศอกทั้งตีนมันใช้ได้หมด ถึงตอนนั้นอันนี้เข้าใจได้ แต่ว่าเมื่อเวลามันผ่านไปแล้ว ตอนนี้เวลามันผ่านไประยะหนึ่ง ไประดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้ย้อนกลับมาดูซิ นั่งทบทวน ถ้าเราย้อนเวลากลับได้ ไอ้ที่เราตัดสินใจไปอย่างงั้น เราอาจจะคิดว่าเราจะตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันจะดีหรือแย่กว่าเดิมก็ไม่รู้ อย่างน้อยก็ได้บทเรียน”

บางคนบอกว่าคนเดือนตุลาไม่ได้ถูกฝึกมาเป็นนักประชาธิปไตย แต่ติดนิสัยเอาชนะทุกวิถีทางตามแบบของ พคท.

“ก็ด้านเดียวไปหน่อย คือคนเดือนตุลาจะว่าไม่ได้ฝึกเป็นนักประชาธิปไตย ผมว่ามันคงไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยอยู่ตรงนี้แล้วก็อยู่แค่นี้ มันพัฒนา คือความเป็นประชาธิปไตย จิตสำนึกประชาธิปไตย หรือคุณสมบัติของนักประชาธิปไตยแต่ละคนมันคงจะมีอยู่หลายระดับ มันคงไม่ได้เป็นแบบขาว-ดำที่พูดทั้งหมด แม้แต่ตัวเราเองก็เหมือนกัน ตัวเรารักประชาธิปไตย แต่เมื่อ 30 ปีก่อนกับวันนี้เราเองคุณภาพมันก็แตกต่างกัน ในตัวเราเองนี่แหละ เพราะเราก็ได้ผ่านบทเรียน ได้เรียนรู้”

“ผมว่าไม่เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง หรือลัทธิความเชื่อทางการเมืองหรอก ในสนามรักบี้ เวทีมวย มันไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย มันอยู่ที่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้ เป้าหมายของคุณคืออะไร เป้าหมายของอีกฝ่ายคืออะไร และทำยังไงถึงจะบรรลุเป้าหมาย มันอยู่ตรงนั้น ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ปนกันไม่ดี”

ก็อยู่ไปอย่างนี้แล้วหาอะไรที่เห็นร่วมกันมาทำ “แล้วมันจะลืมไปเอง (หัวเราะ) หวังว่าอย่างนั้น”

สำรวจขั้ว

ย้อนมองคนเดือนตุลาในรัฐบาล 5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

“ผมไม่รู้จริงนะว่าเริ่มต้นเขามีความคิดความอ่านลึกๆ ยังไง แต่ที่ดูจากภายนอก จากที่เห็นจากงานต่างๆ ก็ดูมีความตั้งใจ ผมเป็นคนมองคนในทางบวกอยู่แล้ว ผมก็เอาละ เมื่อเห็นมีความตั้งใจและอะไรที่เราจะช่วยกันได้ก็ช่วย แต่ว่าพอหลังจากผ่านไป อย่าว่าคุณทักษิณเลย ผมว่าใครก็ตามพอมีอำนาจแล้ว อำนาจมันมีเวทมนตร์อะไรบางอย่างที่ทำให้เราเปลี่ยนไปได้ง่ายๆ นี่ผมไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นคุณทักษิณดีนะ แต่ว่าใครก็ตามพอมีอำนาจแล้วมักจะติดอยู่ตรงนั้น และพอมีอำนาจปั๊บมันจะมีคนวิ่งเข้าหาเยอะ คนวิ่งเข้าหาก็มักจะแฝงไปด้วยที่อยากจะได้ประโยชน์ ทำให้ข้อมูลที่เขาจะได้ความคิดดีๆ ความดีไม่ค่อยวิ่งเข้าหาเขา เราไม่ใช่ดีหรอกนะ แต่ว่าคนทั่วๆ ไปที่อยากจะทำความดี พวกนี้จะกระดากที่จะวิ่งเข้าหาอำนาจ ให้เราไปวิ่งเร่ไปขอทำนั่นทำนี่ เพราะฉะนั้นโอกาสของเขาจึงไม่ค่อยได้พบกับในส่วนที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลต่างๆ ที่เข้าไปก็จะเป็นในทางที่เสียมากกว่า คนที่อยู่ในอำนาจแล้วถ้าไม่เข้าใจตรงนี้และวางตัวได้ไม่ดี พังได้เร็ว เพราะผ่านไปประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น อย่างที่เราเคยคุยกัน เห็นเลยว่าชักไม่ได้แล้ว เกิดภาวะที่เรียกว่าขันทีซินโดรม ชักเริ่มไม่ฟังใคร ตอนหลังๆ แย่ลงเรื่อยๆ อ.ประเวศท่านก็เตือนจังเลย แต่ไม่สำเร็จ”

เคยสนิทกันมากกับหมอมิ้ง แต่บอกว่าตอนหลังก็ไม่ค่อยได้คุยกัน

“พรหมินทร์นี่ตอนหลังจะคุยกันน้อยมาก ผมไม่ค่อยได้วิ่งเข้าไปหาใคร ตอนที่ผมไปช่วยเขาเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ผมก็พบกับพรหมินทร์น้อยมาก อะไรที่เราจัดการได้เอง จะไปหาเขาปรึกษาเขาเฉพาะบางเรื่องที่เราไม่มีอำนาจจัดการ ต้องอาศัยอำนาจเขา พอคุยกันเขาก็จะมีเวลาน้อยมาก ผมก็มีเวลาน้อยอยู่แล้ว เราไปหาคนที่มีเวลาน้อยอีก ให้ผมไปรอผมทนรอไม่ค่อยได้หรอก เพราะฉะนั้นถ้าไปแล้วไม่อยู่ไม่ว่าง ผมก็ไปใครไปมันโว้ย”

“ที่ทำเรื่องภาคใต้นี่ไม่เกี่ยวข้องกับพรหมินทร์เลย จะมาช่วยจาตุรนต์มากกว่า ช่วยจาตุรนต์ก็คล้ายกัน ผมกับจาตุรนต์ก็จะคุยกันน้อยมากเหมือนกัน แต่ที่ทำอยู่เป็นคนละแนวกับที่พรหมินทร์กับทักษิณคิดกันอยู่ด้วยซ้ำ การทำงานที่ภาคใต้ทำแบบเสรีไทย คือต้องแอบๆ ทำ อันนี้พวกผมกับพี่ๆ น้องๆ ทหารที่อยู่ในกองทัพภาคที่ 4 เราก็ทำแบบแอบๆ ทำเพราะทิศทางใหญ่ไปอีกทางหนึ่ง เราก็ต้องแอบทำเพื่อประคองสถานการณ์”

“พอหลังจากมีม็อบแล้วพวกผมออกมาขับเคลื่อนเรื่องเครือข่ายการะเกด 49 และอารยะแข็งขืน 10 อย่าง ผมก็เปลี่ยนซิมการ์ด พรหมินทร์ก็ติดต่อผมไม่ได้แล้ว และผมก็ไม่ติดต่อกลับ จนเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้คุยกันเลย (หัวเราะ) แต่ก็คอยติดตามข่าวเขาอยู่ เป็นห่วงเขาอยู่ ยังรักเหมือนพี่เหมือนน้องกันอยู่ แต่ว่าผมคิดว่าจะผ่านไปสักระยะหนึ่งค่อยติดต่อ ตอนนี้เขาอาจจะไม่สบายใจ”

เขาก็คงต้องจบบทบาท

“ถ้าให้ผมแนะนำ พอเถอะ ผมอยากให้พอมากกว่า เพราะว่าในช่วงเวลาที่เป็นช่วงเวลาทองที่สุดมันผ่านไปแล้ว ตอนที่มีเสียงสนับสนุนขนาดนั้น มีอำนาจมีหน้าที่ มีทรัพยากรขนาดนั้น คุณก็พาประเทศมาแบบนี้ พอดีกว่า ปล่อยให้คนอื่นบ้าง”

แต่ความเชื่อ แนวคิดเขาคงยังไม่เปลี่ยน

“ไม่เปลี่ยนนะ ผมว่าหลายคนเขาอาจจะอยากแก้มือด้วยซ้ำ ผมว่านะ ทายใจเขาเอา แต่ว่าขอสักระยะหนึ่ง อาจจะรอดูว่า 5 ปีถ้าถูกตัดสินอะไร แต่ผมว่าไม่หมูแล้ว”

ความเชื่อของเขาคืออะไร

“วันนี้เขายังเชื่อว่าเขาถูก สิ่งที่เขาทำทุกอย่างนั้นเขารักษาประชาธิปไตยไว้จนนาทีสุดท้าย (หัวเราะ) เขายังเชื่อว่าถูก อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดานะ ไปถามสุจินดาดูสิ แกเคยคิดว่าแกผิดไหม เหตุการณ์ตอนนั้น เหมือนกัน ถึงวันนี้ผมว่าทุกคนก็จะคิดว่าตัวเองถูกอยู่นั่นแหละ นักมวยที่สู้กันมันถูกจับแพ้แล้วยังเฮ้ยเราชกดีกว่านะ มันยากเหมือนกันนะที่จะทำใจ ก็ต้องหาเหตุผลมาปลอบประโลมใจตัวเองว่าเราถูก ย้ำอยู่ตรงนั้น ผมถึงบอกว่าต้องปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ ตั้งสติด้วยตัวเขาเอง ของใครของมัน ไปสักพักหนึ่ง และเวลามันจะค่อยๆ เยียวยา ค่อยๆ สร้างความเข้าใจ แต่อย่าไปหวังอย่าไปคาดเค้น คาดคั้น อย่าไปคาดหมายว่าเขาจะรู้ว่าเขาผิดนะ ผมก็ไม่กล้าบอกว่าเขาผิดนะ เพราะฉะนั้นผมถึงยืนอยู่ตรงว่าผมเคารพ ถ้าคุณคิดว่าถูกก็ถูก แต่ว่าคนตัดสินคือสาธารณะ คือสังคม คนดูเป็นคนตัดสิน เพราะฉะนั้นเรื่องอย่างนี้มาเถียงกันว่าใครผิดใครถูก ไม่จบ และผมจะไม่เถียงด้วย เสียเวลา เสียอารมณ์ คุณเชื่ออย่างนั้นเราเชื่ออย่างนี้ ก็เชื่อกันไปเถอะ ใช้ดุลยพินิจกันเอาเอง ตัดสินใจกันเอาเอง และก็รับผลของใครของมัน”

หันมากลุ่มที่ 2 บ้างล่ะ กลุ่มที่ 2 ก็โดนด่าเยอะ

“ผมก็เห็นใจเขา ในระหว่างที่โรมรันพันตูกับฝ่ายที่ 1 ตรงนี้มันมีความเจ็บปวด มีความกดดัน อยากจะหาทางใหัมันจบๆ เขาคงพยายามหาวิธีที่จะให้ฝีมันแตก ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล หมอไม่ผ่าให้สักทีก็วิ่งกระแทกให้ฝีมันแตก (หัวเราะ) เพราะมันปวดมันทรมาน ก็น่าเห็นใจเขาในแง่นี้ อันนั้นเป็นยุทธวิธี เขามีสิทธิที่จะคิดพลิกแพลงในทางยุทธวิธีของเขาได้ ทั้ง 2 ฝ่ายแหละ แล้วยุทธวิธีของฝ่ายนี้สำเร็จ อีกฝ่ายแพ้ แต่ว่าจะให้ผมไปร่วม ผมไม่เอา อันนั้นผมไม่เกี่ยว แต่ใจผมนะ ผมมองแล้วว่าฝีต้องผ่าอยู่แล้ว มันไม่แตกเองก็ต้องผ่า”

บทบาทคนเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

“ผมว่าเขาคงจะสานต่อเพราะเขาถือว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของเขา เพราะฉะนั้นจากนี้ไปเขาน่าจะเข้าไปมีบทบาท เจ้ากี้เจ้าการเรื่องนั้นเรื่องนี้ อาจจะเรื่องฟอร์มรัฐบาล แก้รัฐธรรมนูญ เพราะเขาถือว่าเขาใช้ยุทธวิธีตรงนั้นเพื่อบรรลุมาถึงจุดนี้ก็เพื่อที่จะไปต่อ ไม่ใช่อยู่แค่นี้ ซึ่งอันนี้ฝ่ายแรกก็คงจะทำใจ เพราะว่าคุณแพ้เขา ช่วงนี้คุณเพลี่ยงพล้ำ มันต้องดูเหมือนกันว่าฝ่ายที่ 2 ต้องไม่ไปซ้ำรอย พอมีอำนาจแล้วก็จะถูกอำนาจกินเหมือนกับฝ่ายแรก อันนี้ต้องระวังมากๆ เพราะคนที่ต่อสู้ห้ำหั่นกันเพื่อที่จะมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย ในที่สุดแล้วพูดง่ายๆ ว่าอำนาจของคนที่อยู่ในฝ่ายที่ 2 ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างศรัทธาได้ว่าคุณจะประคองตัวได้เมื่อคุณมีอำนาจนะ ก็พร้อมจะไปอีหรอบเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้นผมถึงไม่เชื่อ”

ดูท่าทางบางคนอาจหนักกว่าด้วย

“ก็เป็นไปได้ จริตของบางคนเป็นคนที่แสวงอำนาจ พร้อมอยู่แล้ว”

“ก็คงต้องติดตามว่ากลุ่มที่ 2 ใครจะเป็นยังไงกันต่อ บทเรียนจาก 5 ปีของฝ่ายที่ 1 ต้องดูว่าฝ่ายที่ 2 จะซ้ำรอยไหม ซึ่งเราคาดการณ์ล่วงหน้าว่ามีแนวโน้มจะซ้ำรอย เพราะมันก็ไม่ได้ยกระบบคุณธรรมของเขาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อะไรมากนัก ในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งต้องเข้าสู่อำนาจขึ้นมา มันทดสอบจากของจริงตรงนั้นถึงจะรู้ ผมถึงมองไปข้างหน้าว่ามันต้องมีกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็งมากๆ แต่ว่าวันนี้กับเมื่อ 20-30 ปีก่อนผมว่าเราก็พัฒนาตัวเราเองพอสมควร ผมไม่ได้มองจากกระแสอย่างเดียว ผมจะสัมผัสกับทางในพื้นที่ เราเห็นหลายเรื่องว่าพวกกลุ่มองค์กร ชุมชน ที่เป็นสายที่ไม่เรียกร้องสิทธิอะไรเลย หันมากำหนดตัวเองพึ่งตัวเอง ไม่ตกเป็นทาสนโยบายประชานิยม พวกนี้จะฉลาดรู้เท่าทัน”

คนกลุ่มที่ 2 ที่จริงมีหลากหลาย บางส่วนไม่ได้เข้าร่วมวอร์รูมโดยตรง แต่ก็ช่วยกันสร้างเชื้อขึ้นมา เช่นคนที่เป็นแกนนำพันธมิตรฯ หรือนักวิชาการนักวิเคราะห์สังคม

“ผมคิดว่าคนเหล่านี้เขาไม่ได้ลงไปในเชิงยุทธวิธีหรือวิธีการ อย่างธีรยุทธคงพูดในเชิงหลักการ ซึ่งหลักการนั้นอาจจะไปเสริมในฝ่ายหนึ่ง และไปลดทอนกำลังอีกฝ่ายหนึ่ง ลดความชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าในทางปฏิบัติในกลุ่มที่ 2 ผมก็เข้าใจเขาได้และก็ไม่ได้รังเกียจเขา”

แต่คนที่กลุ่มนี้วางตัวลำบาก เพราะหลังจากรัฐประหาร คนกลุ่มที่ 3 ออกมาคัดค้าน คนกลุ่มที่ 2 เงียบก็ถูกวิจารณ์

“บางทีบทบาทมันก็ไม่จำเป็นต้องไปชัดจ๋าในทุกเรื่องทุกสถานการณ์หรอกมั้ง อันไหนที่เป็นประโยชน์ก็ทำ เป็นพิษเป็นภัยมากก็ประเมิน อย่าไปบีบบังคับให้พี่พิภพแกต้องแสดงอะไรมากเลย บาปกรรม เขาเองเขาก็ยังดูว่าเขาจะแสดงบทบาทอะไร ผมว่าต้องให้เวลาเหมือนกัน อย่าไปคาดคั้น อย่างคนที่ออกมาวิจารณ์ คปค. วิจารณ์รัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมก็เห็นคุณค่าเขานะ สังคมมันคือความหลากหลาย แม้แต่อันเดียวกัน สีเดียวกัน ยังมีระดับความเข้มของสีไม่เหมือนกัน ซึ่งมันงามนะ ผมก็ชื่นชมกับรสนา กับพี่เหวง กับใครก็ตามที่เขามีบทบาทอย่างนี้ เพราะว่าด้านหนึ่งมีคนคอยเจาะลึกตรวจสอบ อันนี้ดี คืออย่าไปนอนใจอย่าไปวางใจ มีคนกลุ่มแบบนี้คอยดูคอยตะโกนออกมา ดี”

สุดๆ แบบอาจารย์ใจมั่งก็ดี-ใช่ไหม

“ก็ดี เพราะมันหลากหลายแบบนี้ และคนที่รับผิดชอบเรื่องใดก็รับผิดชอบเอาเอง ถ้าคุณฟังหมดเชื่อหมดทำตามหมดคุณตายก่อน คุณขันอาสามานำแบบนี้คุณก็ต้องใช้ดุลยพินิจเอง แต่ผมเห็นคุณค่าของเขาว่าอย่างน้อยเขาก็เป็นเสียงที่กระตือรือร้น และเขาก็รักชาติบ้านเมือง เขาอาจจะมองสุดโต่งบ้างสุดขั้วบ้าง แต่ก็ให้สติกับคนที่กุมอำนาจอยู่ ถ้าไม่มีเสียงพวกนี้มันก็จะง่ายเกินไป เผลอๆ จะเสียนิสัย ถ้าไม่มีเสียงคอยท้วงคอยติง ฉะนั้นมีแบบนี้ก็ดี ผมจึงเห็นคุณค่านะ ผมไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร”

แต่ก็จะวิจารณ์กันว่าเงียบอยู่ปล่อยให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวแบบนี้ได้ไง

“ถึงบอกว่าอย่าว่าไง ถ้าอยากยกระดับภพภูมิ อย่าว่ากันได้ไหม ก็เพื่อนเขาคิดอย่างนั้น เขายังไม่พร้อมที่จะพูด แต่เขายังไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนไปไหน ใจเขาก็ยังรักประชาธิปไตยไม่แพ้คุณหรอก ทำไมต้องมาว่ากันด้วยล่ะ อันนี้ต้องปรับตัวเหมือนกันแหละ (หัวเราะ) ชี้แต่คนอื่นทำไมไม่ลองดูตัวเองบ้างล่ะ อายุก็ 50 แล้วนะ ก็ต้องปรับกันบ้าง เรียกร้องให้คนอื่นเคารพแต่ไม่เคารพคนอื่น”

“ถ้าอยากจะพูดอะไรที่เกี่ยวกับอันนี้ ผมก็อยากจะบอกว่าหยุดซัดกันเถอะ ผมว่าไม่น่าจะมาโทษกันแล้ว อย่าโทษกันเลย มาคิดอ่านว่าใครถนัดแบบไหน ใครอยากเล่นบบาทไหน ถ้าเขายังยืนมั่นอยู่กับผลประโยชน์ของสาธารณะ ของส่วนรวมของประเทศชาติ หัดชื่นชมกันดีกว่า ที่ผ่านมาเราสู้กันจนกระทั่งเราชื่นชมใครไม่ค่อยเป็น”

หาจุดร่วม

หมอพลเดชบอกว่าถ้าทักษิณไม่ไปก่อน งาน 30 ปี 6 ตุลาคงเหนื่อย

“ถ้าทักษิณยังไม่ไป การจัดงานนี้จะลำบากพอสมควร (หัวเราะ) เพราะทั้ง 2 ฝ่ายจะมาปะทะกันที่นี่ แต่ทีนี้ฝ่ายหนึ่งแพ้ไปก็เลยไม่มา เราผ่านปีนี้มาโชกโชนมาก”

แต่ตอนนี้ก็มีฝ่ายที่ 2 ฝ่ายที่ 3

“เมื่อเช้าก็เห็นบรรยากาศ มาแล้วก็มีมาขวางๆ กันอยู่ คุณมาผิดงานหรือเปล่า (หัวเราะ) เป็นลักษณะแซวๆ กันมากกว่า เพราะว่าทางฝายที่ 3 ก็อาจจะมองว่าจัดงานปกป้องประชาธิปไตย แต่เกิดการรัฐประหาร แล้วคุณจะมีจุดยืนมีท่าทีอย่างไร ซึ่งผมตอบได้ เพราะว่าจิตวิญญาณของคนเดือนตุลามันมี 2 มิติ มิติที่ 1 คือการแสวงหาใฝ่ฝันให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยแล้วสร้างสรรค์มันตามจินตนาการตามความใฝ่ฝัน อีกอันหนึ่งก็คือต่อต้านเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย อันนี้ก็ชัดเจนที่สะท้อนออกมาของคนเดือนตุลา แต่ที่ผ่านมาผมว่เราก็ได้แสดงบทบาทในการปกป้องประชาธิปไตย ในยุคที่เรามองเห็นว่านายกฯ ทักษิณมาด้วยการเลือกตั้งก็จริง แต่มันเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ เนื้อหามันไม่ใช่ ซึ่งการต่อสู้นี่ยากกว่าเผด็จการทหาร ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ใช่รูปแบบก็ไม่ใช่ แต่นี่มันไม่ชัด แต่เราก็สู้ สู้มาจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงด้วยเราอย่างเดียวมันมีการผ่าตัด มีรัฐประหารเข้ามาแจม ซึ่งเราไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรง การใช้อำนาจ แต่ว่าฝีมันไม่รู้จะออกไปทางไหนมันก็ระบายออก แต่จากนี้ไปสิจะสมานแผลยังไง”

แล้วนับจากนี้ล่ะ เพราะบางคนยังเชียร์อยู่ว่ารูปแบบเผด็จการเนื้อหาประชาธิปไตยแต่บางคนบอกว่าแค่เห็นรัฐธรรมนูญก็รับไม่ได้แล้ว

“ก็โวยก็คอยตะโกนบอกว่าอย่ายึดอำนาจไว้นาน มันก็ดี ทำให้เขาต้องระวังตัว ผมว่าถ้าไม่มีเสียงร้องสิ เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่า คปค.เขาจะอยู่ยังไง แต่เขาก็ระวังมากเพราะบทเรียนในปี 2535 มันตามหลอกหลอนพอสมควร ผมคิดว่าการตัดสินใจยึดอำนาจครั้งนี้ตัวเขาเองก็ผ่านการต่อสู้ในใจของเขาในกลุ่มของเขาเหมือนกัน แต่ในที่สุดแล้วเขาประเมินว่ามันไม่มีทางออกก็ต้องไปอย่างนี้แหละ ข้างบนก็ดันลงมาข้างล่างก็ดันขึ้นไป หลายทาง ที่สำคัญยิ่งวันเวลาผ่านไปมันก็ยิ่งเจ็บปวด ตัดสินใจอย่างนี้ผมว่าสังคมโดยรวม จากโพลล์ต่างๆ ออกมา 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ มากขนาดนั้น มันก็เป็นเสียงสะท้อนว่ากระแสสังคมตอบรับ ถ้าอีกฝ่ายจะวิเคาระห์เจาะลึกลงไปว่าแสดงว่าประชาชนไม่มีจิตใจประชาธิปไตยจริงๆ โหยหาทหารมาแก้ปัญหาให้ ก็ต้องกลับไปที่ผมบอกว่ามันเป็นพัฒนาการ แรงบ้างค่อยบ้างสลับกันไป ก็ดูว่ามันเป็นพัฒนาการและเป็นการเดินทางไกล ฝรั่งเศสใช้เวลาเดินทาง 200 กว่าปี อเมริกาก็ใช้ 200 ปี ของเราเดินมา 70 กว่าปี มันก็อย่างนี้ 70 ปีกับ 200 ปีมันต่างกัน 100 กว่าปีใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นเราจะไปหวังว่าปีที่ 74 ปีที่ 75 ของเราจะเท่ากับของอเมริกา 200 ปี มันฝันไปหรือเปล่า อยู่กับความเป็นจริงสิ”

“แต่ผมเชื่อว่าพัฒนาการแบบนี้มันจะทำให้การเรียนรู้การปรับตัวดีขึ้น ผมจึงไม่ประมาท ถือว่าในช่วงต่อไปนี้สถานการณ์มันมาอย่างนี้ ฝีมันแตกแล้ว ผ่าฝี ต่อไปนี้จะไปอย่างไร ผมจะไม่สนใจว่าใครจะเป็นฝ่ายรัฐบาลอะไรต่างๆ ผมสนใจว่าจะมีอะไรบ้างไหมที่จะไปสร้างความเข้มแข็งของสาธารณะของสังคมให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่มากกว่าที่ผมทำกันอยู่เป็นสิบปี ถ้าไปด้วยอัตราที่เร็วกว่าสัก 2 เท่าตัว ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้มแข็งของสังคมให้แข็งแกร่งกว่านี้ให้ได้ ภายใน 5 ปีอาจเห็นสักประมาณ 5 เท่า หมายถึงทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ชุมชนต่างๆ ที่ยืนได้ด้วยตนเองมีสำนึกยืนได้ด้วยตนเอง มีศักดิ์ศรีของตัวเอง ได้มากขึ้นอีกสัก 2-3 หมื่นองค์กร 2-3 หมื่นชุมชน ผมว่าจะทำให้ฐานข้างล่างประชาธิปไตยดีขึ้นกว่านี้ องค์กรปกครองท้องถิ่นที่คนมองว่ากระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่นคือกระจายคอรัปชั่น มันก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งที่ดีมากๆ ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็คือทำให้ชุมชนกับท้องถิ่นมีโอกาสได้ฝึกฝนประชาธิปไตย เพราะคนที่มาเป็นผู้นำท้องถิ่นถ้าไม่ดีเขาเห็นเขาตรวจสอบอีก 4 ปีเขาก็จะตัดสินของเขาได้ เขารู้ว่าใครต้องรับผิดชอบ มันเป็นการต่อสู้ทางความคิดถกกันไปถกกันมาอยู่ในวงเพื่อนฝูง เราเห็นชัดเลยว่าตำบลไหนมีกลุ่มองค์กรเข้มแข็งอยู่จำนวนมาก กำกับ อบต.อยู่เลย และสามารถทำให้การเมืองเป็นการเมืองเชิงสมานฉันท์ได้ ชุมชนสามารถกำหนดคนขึ้นมาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นได้ แต่ถ้าที่ไหนพวกนี้ยังอ่อนแอมักจะมีเจ้าพ่ออิทธิพลขึ้นมา ซึ่งตรงนี้มันถึงการเวลา 5 ปี 10 ปี มันสะสมไป ณ ปีที่ 74-75 มันจะไปหวังว่าคุณจะเท่ากับอเมริกาปีที่ 200 ก็ไม่ใช่ แต่ผมเชื่อว่าเราคงไม่ใช้เวลาถึง 200 ปี เพราะเดี๋ยวนี้เราก็เรียนรู้อะไรมาก มันถึงกันได้เร็ว ไม่เกิน 100 ปีผมว่าประชาธิปไตยของเราจะมีวุฒิภาวะขึ้น”

ด้านที่น่าห่วงคือขบวนการประชาธิปไตยแตกกันมาก แม้แต่หมอประเวศยังถูกวิจารณ์ที่ออกมาเข้าข้างพันธมิตรฯ เกิดปัญหาเครดิตขึ้น ครป.ก็อาจต้องหมดบทบาท

“ผมว่าอันนี้ก็อนิจจังนะ ผมคิดว่าคนอย่างท่าน อ.ประเวศหรือแม้แต่ตัวผมเอง ผมก็ไม่ค่อยแคร์ เพราะขอโทษเถอะ ผมก็ไม่เคยขอข้าวใครกิน นี่ย้ำอีกที เพราะฉะนั้นคุณจะชื่นชมกับผมหรือจะด่าผมก็ไม่เป็นไร อยากด่าก็ด่าไป มันต้องดูกันระยะยาว”

อนาคตจะกลับมารวมกันได้ไหม

“ผมไม่คิดว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยขึ้นอยู่กับคนสักคน ทั้งฝ่าย 1 ฝ่าย 2 ฝ่าย 3 ประชาธิปไตยอยู่ข้างล่าง เขาเดินได้ด้วยตัวเขาเอง แต่เขาก็ดูคุณ คุณก็อยู่ในสายตาเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมไม่ค่อยห่วงเลย แต่ใครจะว่ายังไงก็เคารพอยู่ คุณจะว่าผมก็ได้แต่ผมไม่ว่าคุณหรอก”

“มันคงไม่มีใครไปกราบไหว้วิงวอนว่ามาร่วมกับผมเถิด เพราะคนอย่างพวกเราไม่เคยเสนอตัวไปเป็นผู้แทนของใครอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่เคยจะต้องไปง้อใครอยู่แล้ว เราทำในสิ่งที่เราคิดว่ามันดี และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็ทำไปตามอิสระของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ผมก็คงทำของผมกันไปแบบนี้ แล้วเครือข่ายที่มีไม่น้อย ที่กำลังหดหู่และหมดหวังกับการเมืองในระบบตัวแทนมาก แล้วคนเหล่านี้แทบจะหันหลังให้กับการเมืองระดับตัวแทน แต่ว่าไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเข้มข้นที่สุด ไม่ได้ทิ้ง แต่ว่าเดินออกมาอีกเส้นทางหนึ่งแล้ว ไปสู่กระบวนการการเมืองแบบมีส่วนร่วม กำหนดตัวเองได้ โดยไม่รอพึ่งอำนาจรัฐ ในกระแสที่การเมืองแบบตัวแทนกำลังเสื่อมถอยลง การเมืองแบบนี้มันกำลังงอกเงยขึ้น”

“ผมถึงบอกว่าคุณจะทะเลาะกันแย่งอะไรกันผมไม่ว่าหรอก ผมขอเครื่องมือผมได้ไหม ถ้าคุณให้เครื่องมือผมได้ผมจะไม่ยุ่งกับคุณ เครื่องมืออันนั้นคือเครื่องมือเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ผมอยากได้ 3 อย่าง เครื่องมือที่ 1 ผมอยากมีองค์กรอิสระ เป็นองค์กรในกำกับของรัฐ อิสระ มี พ.ร.บ.คล้ายๆ กับ สสส. แต่ว่าให้ทำเรื่องของความโปร่งใส ถ้ามีกองทุนแบบนี้ สนับสนุนเครือข่ายของพวกเราที่เคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เราจะแข็งแรงขึ้น เครื่องมือชิ้นที่ 2 ต้องการองค์กรอิสระแบบนี้เช่นกัน แต่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้ามีกองทุนแบบนี้แล้วหนุนประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยฐานราก ภายใน 5 ปีผมท้าเลยว่าจะแข็งแรงขึ้นมาก อันที่ 3 องค์กรลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ใช่ของรัฐ แต่มีกฎหมายอย่าง สสส. ที่ดูแลสนับสนุนสื่อสารสาธารณะ สื่อทางเลือกต่างๆ คือนักจัดรายการ เขาอยู่ภายใต้ระบบธุรกิจอย่างเดียว เขาก็ไม่มีทางเลือก ถ้ามีองค์กรนี้สื่อทางเลือกก็จะมาเชื่อมกับภาคประชาชนมากขึ้น จะแก้รัฐธรรมนูญแบบไหนนั้นผมอาจจะไม่สนใจ แต่แบบนี้สิเป็นปฏิรูปการเมืองกินได้”

“ช่วงมันผ่านไปแล้ว ทะเลาะกันผ่านไปแล้ว ปากก็แตกกันคนละหน่อยละนิด ผมไม่อยากรื้อฟื้น ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกันในหมู่มิตร ทั้ง 1 2 และ 3 ผมจะไม่ค่อยอยากจะคุยด้วยเลย ทำอย่างอื่นดีกว่า อย่างสมมติ 3 อย่าง ผมว่าทั้ง 1 2 3 มันเอาด้วย นี่คือยุทธศาสตร์ผม ไปหาเรื่องอื่นที่มันร่วมกันดีกว่า ถ้ามามัวเถียงกันว่าใครถูกใครผิดผมรู้เลยว่ามันไม่มีใครแพ้ใครชนะ เพราะมันไม่มีใครยอมรับ เสียเวลา เราไปทำเรื่องอื่นดีกว่าไหม ที่ความเป็นเพื่อนฝูงมันจะดีขึ้น และถ้าทำแบบนี้ผมเชื่อว่า-ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งการเมืองใหญ่นะ ไม่ใช่ เงี่ยหูฟังตลอด จับตาดูตลอด เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องมาแสดงบทบาทในการตรวจสอบเราก็พร้อมอยู่แล้ว”

การเมืองใหญ่จะร่วมกันได้บางด้าน

“เราจะเลือกเรื่องที่ร่วมกันได้มากที่สุดเป็นหลัก เรื่องที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะเพื่อนกับเพื่อน ก็พยายามหลีกเลี่ยงดีกว่า อย่าไปรื้อฟื้น”

“ถ้าจะให้ผมขอร้องก็คือว่า อย่าไปซัดกันเลย พี่น้องกันทั้งนั้น ไม่มีใครดีกว่าใครหรอก อย่าไปทะนงว่าเราดีกว่าคนอื่น เขาคิดอย่างไรเขาตัดสินใจอย่างไรก็เป็นอิสระของเขา ให้ทุกคนมีที่ยืน อยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่าง”

หมอพลเดชทิ้งท้ายว่า ไม่มีใครไกล่เกลี่ยได้หรอก

“ถ้าให้ผมเข้าไปมีบทบาทอะไร ช่วยไกล่เกลี่ยหรืออะไรอย่างนี้นะ ผมหนักใจ และก็ไม่ค่อยอยากจะทำหรอก เพราะมันยากและมันเหนื่อย นั่นก็พี่นี่ก็น้อง ความขัดแย้งฐานราก รากหญ้ากลุ่มหนึ่งเอานโยบายประชานิยม พวกหนึ่งไม่เห็นด้วย แล้วขัดแย้งกันในหมู่บ้าน ง่ายกว่า ผมยังไม่หนักใจเลยถ้าผมจะสมานฉันท์ฟื้นฟูตรงนั้น ณ วันนี้ง่ายกว่าไอ้ข้างบนอีก จริงๆ เพราะคนข้างล่างเขาไม่ได้คิดอะไรสลับซับซ้อนมาก และความศรัทธาความเชื่อถือมันง่ายที่จะยอมรับฟังกัน”

แต่พวกเราไม่ฟังกันแล้ว “มันแก่ ดัดยาก (หัวเราะ)”

ก็อยู่ไปอย่างนี้แล้วหาอะไรที่เห็นร่วมกันมาทำ “แล้วมันจะลืมไปเอง (หัวเราะ) หวังว่าอย่างนั้น”

 

Be the first to comment on "30 ปีสลายคนตุลา?"

Leave a comment

Your email address will not be published.