เครือข่ายสื่ออีสานฯ “ประกาศ” ไม่รอรัฐจัดสรรคลื่นความถี่

หลังรัฐประหาร 19 กันยา สิทธิเสรีภาพของสื่อภาคประชาชนลดลง  แม้ภาพรวมจะไม่มีมาตรการควบคุมเซ็นเซอร์สื่อภาคประชาชนอย่างเข้มงวด แต่…

สุเทพ  วิไลเลิศ

 

 

 

เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี  เสนอให้ประชาชนเดินหน้าจัดสรรคลื่นความถี่กันเอง ระหว่างรอภาครัฐผลักดันให้เกิดกสช. พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ม.40 คลื่นต้องเป็นของประชาชน

อุบลราชธานี – สำนักงานสาธารณสุขเมืองอุบลราชธานี วานนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2550) โครงการปฏิรูปสื่อภาคประชาชนอุบลราชธานี ร่วมกับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดประชุมหารือประเมินสถานการณ์สื่อภาคประชาชน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมเกือบ 40 คน ทั้งตัวแทนจากวิทยุชุมชน โทรทัศน์เคเบิลและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น องค์กรสื่อภาคประชาชน สภาเด็กเยาวชน และนักวิชาการ

จากการหารือมีการประเมินสถานการณ์สื่อในระดับท้องถิ่นว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อภาคประชาชนลดลงภายหลังรัฐประหาร 19 กันยา แม้ว่าโดยภาพรวมจะไม่มีมาตรการควบคุมเซ็นเซอร์สื่อภาคประชาชนอย่างเข้มงวด แต่บรรยากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ส่งผลให้ผู้จัดรายการและสถานีวิทยุชุมชนบางแห่งต่างเซ็นเซอร์ตนเองด้วยการระงับการออกอากาศ อีกทั้งผู้จัดรายการวิทยุในหลายสถานีได้รับคำสั่งให้งดหรือปรับลดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการเปิดสายเพื่อสื่อสารกับประชาชนระหว่างออกอากาศ ทั้งนี้มีผู้จัดรายการบางท่านได้รับการท้วงติงอย่างไม่เป็นทางการจากนายทหารผู้ใหญ่ในเรื่องการนำเสนอข่าวเชิงลบต่อรัฐบาล

อีกทั้งยังมองว่าตลอด 9 ปี ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่หน่วยงานภาครัฐมีความล่าช้าในการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระที่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การสื่อสารของภาคประชาชนอย่างชัดเจน เนื่องจากขณะนี้มีการประกอบกิจการวิทยุขนาดเล็กในเชิงพาณิชย์ในจังหวัดอุบลราชธานีนับร้อยแห่ง การดำเนินการของภาคประชาชนที่ดำเนินงานตามกรอบมติคณะรัฐมนตรี 16 กรกฎาคม 2545 จึงได้รับผลกระทบจากการออกอากาศจากเครื่องส่งวิทยุที่มีกำลังสูงของเอกชน

ด้านข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนยืนยันว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 จะถูกฉีกไปและขณะนี้ยังไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อของประชาชนยังคงอยู่ และคลื่นความถี่ยังคงเป็นทรัพยากรของชาติและประชาชนทุกคน และย้ำว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องมีมาตรา 39 , 40 , 41  ที่มีเนื้อหาไม่ด้อยไปกว่าเดิม  ข้อเสนอที่น่าสนใจจากการประชุมครั้งนี้คือ การผลักดันให้มีการพัฒนาความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการสื่อในอุบลราชธานี ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษาและศาสนา จัดสรรคลื่นความถี่กันเองภายในจังหวัดเพื่อไม่ให้รบกวนกัน โดยถือเอากรอบสัดส่วนพื้นที่ 40 : 40 : 20 เป็นหลัก

สดใส  สร่างโศรก  ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า หลังมี พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2543 ประชาชนยังต้องรอ ให้มีกสช.เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นให้ แต่รัฐก็ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จลุล่วงได้ จึงคิดว่าการเดินหน้าให้ประชาชนจัดสรรคลื่นกันเองน่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งอาจจะออกมาในลักษณะข้อตกลงร่วมในระหว่างที่ยังไม่มีกสช.ก็ได้ อีกทั้งน่าจะเป็นผลดีในแง่ที่สร้างความตื่นตัวให้กับประชานในพื้นที่ และอาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่ประชาชนทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาจัดการปัญหาที่รัฐทำไม่สำเร็จร่วมกัน

 

อ.ธีรพล  อันมัย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองสถานการณ์สื่อภาคประชาชนหลัง 19 กันยา ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีก สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน สื่อชุมชน กระทั่งสิทธิเสรีภาพของบุคคลถูกลดทอน การปฏิรูปสื่อที่ผ่านมาของภาคประชาชนต้องทบทวนว่า การที่ประชาชนมีสื่อเป็นของตนเองทำให้ชีวิตในด้านต่างๆดีขึ้นหรือไม่ หากเป็นประโยชน์แล้วจะต้องทำเช่นไรที่จะทำให้ประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ กรณีที่รัฐธรรมนูญใหม่ระบุว่าสื่อเป็นของรัฐ สถานการณ์สื่อก็จะกลับเข้าสู่รูปเดิมและประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการสื่อสารได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือการที่สื่อมวลชนวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักซึ่งมีศักยภาพในการสร้างความรับรู้ให้ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังฝากไว้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ อย่าไว้ใจผู้มีเงินหลาย และอย่าไว้ใจผู้มีปืนหลาย
 

สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนจากแม่มูนมั่นยืนที่ต่อสู่กับการเปิดเขื่อนมานับสิบปีกล่าวว่า  เคยมีการคุยกันว่าเราต้องร่างโฉนดคลื่นความถี่ในอากาศของภาคประชาชน โดยประชาชนคุยกันเองตกลงกันเองแล้วนำไปเสนอรัฐ เพราะรอรัฐทำให้คงไม่ได้ ต้องเป็นข้อเสนอจากประชาชนไปให้รัฐ อาจจะมากกว่าจังหวัด เป็นภาค เป็นทั้งประเทศ และรัฐต้องให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิการสื่อสารของประชาชน

เรื่องสถานีวิทยุที่แม่มูนนี่ผิดกับที่อื่น หลังรัฐประหารไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใดเพราะโดนเฝ้าจับตามาตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ สถานีนี้มีทั้งตำรวจและนายอำเภอฟังโดยเฉพาะเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ กฟผ. ด้านกรมประชาสัมพันธ์ก็เคยสั่งให้ออกข่าวของกรมประชาสัมพันธ์รวมถึงให้ไปขึ้นทะเบียน  ขณะนี้ปัญหาที่สถานีวิทยุชุมชนแม่มูนพบคือคลื่นของสถานีอื่นที่ตั้งทีหลังกลับมารบกวนคลื่นของสถานี

 

ทั้งนี้ต่อการห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นมองว่า เราไม่ได้พูดเรื่องการเมืองแต่เราพูดเรื่องการบ้านที่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง แม่สมปอง ในวัยกว่าห้าสิบกล่าวทิ้งท้าย

Be the first to comment on "เครือข่ายสื่ออีสานฯ “ประกาศ” ไม่รอรัฐจัดสรรคลื่นความถี่"

Leave a comment

Your email address will not be published.