ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ

 

Healthy City Learning Center
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

วารินชำราบ อำเภอที่อยู่ติดกับ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี คนละฝั่งของแม่น้ำมูลห่างกันเพียงแค่ 2 กิโลเมตร นั้นทำให้ความเจริญเติบโต ของเมืองอุบลราชธานี ขยายตัวนำการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม มาสู่เมืองวารินชำราบ ผู้คนเปลี่ยนวิถีชีวิตจากชุมชนชนบท พลิกโฉมเป็นชุมชนเมือง ภายใต้กระแสการพัฒนา นอกจากจะนำวิถีแห่งความสะดวกสบาย ความเติบโตทางด้านวัตถุมาสู่เมืองวารินชำราบแล้ว อีกด้านหนึ่งก็แฝงปัญหาติดตามมาด้วยเช่นกัน
เทศบาลเมืองวารินชำราบ ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รับผิดชอบโดยตรงในการให้บริการ บริหารจัดการ พัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผลพวงแห่งการพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ คณะผู้บริหาร จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ มุ่งให้บริการเป็นเลิศ เพื่อบรรลุสู่การเป็นวารินเมืองน่าอยู่ โดยเริ่มต้นจากหน่วยงานของเทศบาลก่อน
นายจีระชัย ไกรกังวาร
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“เราทำให้สถานที่ทำงานเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ก่อน ได้เอาโครงการ 5 ส เข้ามาจับเข้ามาทำ ทำให้สำนักงานของเรา สะดวก สะอาด สวยงาม ถูกสุขลักษณะ เพราะเราจะต้องเป็นตัวแบบ เพราะหน่วยงานของเราเทศบาลที่รองรับการให้บริการกับพี่น้องประชาชน และจะทำอย่างไรให้บุคลากรของเรา พนักงานทุกคน อยู่ที่บ้านก็มีความสุข มาทำงานก็มีความสุขด้วย ถ้าอยู่ที่ทำงานมีความสุข การให้บริการกับพี่น้องประชาชนก็จะได้ทำอย่างเต็มกำลังความสามารถและพี่น้องประชาชนก็จะได้รับบริการที่ประทับใจกลับไป”
ผลจากการดำเนินนโยบายในช่วงเวลาระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งผลทำให้คนวารินมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่น่าอาศัยมากขึ้น ซึ่งจุฑาทิพย์ กีรนันท์ เจ้าของร้านส้มตำน้ำโจ๊ก คนวารินโดยกำเนิด ได้บอกเล่าให้เราฟังถึงความเปลี่ยนแปลง และความน่าอยู่ของเมืองวาริน ที่เธอประทับใจ
จุฑาทิพย์ กีรนันท์
เจ้าของร้านส้มตำน้ำโจ๊ก เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“เมืองวารินสมัยก่อนมันก็ได้พัฒนามากขนาดนี้…แต่เดี๋ยวนี้มันพัฒนาขึ้นมาทำให้ความเจริญและน่าอยู่ขึ้น ตลาดก็น่าเดินซื้อของมากขึ้น มันเป็นเมืองที่เรียบง่ายสำหรับคนที่จะมาอยู่อาศัย…ประทับใจตรงที่ ทุกอย่างอยู่กันแบบกันเอง อยู่กันแบบสบายๆ เรื่องทะเลาะเบาะแว้งน้อยมาก การค้าขายก็พออยู่พอกิน ไม่ฟู่ฟ่าวุ่นวายเหมือนกับคนที่ต้องแย่งอยู่แย่งกินกันอยู่อย่างพอเพียง”
ความน่าอยู่ของเมืองวารินเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมที่นี่จึงถูกหยิบยกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ รุ่งนภา ทับหนองฮี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองวารินชำราบ เห็นว่า การมีคณะทำงานชุดต่างๆ ตามบริบทของการพัฒนาเรื่องเมืองน่าอยู่ ที่จะพัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ ให้กับเทศบาลต่างๆ หรือท้องถิ่นอื่นๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ
รุ่งนภา ทับหนองฮี
ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“จุดที่สำคัญเรามีคณะทำงานชุดต่างๆ เรามีการแยกออกเป็นสาขาต่างๆ ตามจุดของการพัฒนาเรื่องเมืองน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาด้านการศึกษา หรือแม้แต่วัฒนธรรมประเพณีด้านอาชีพ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารและการวิจัย เราก็มีคณะทำงานอยู่ 5 ด้านด้วยกัน และมีกองเลขานุการหรือกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเป็นจุดในการประสานทุกคณะทำงาน คณะทำงานก็จะมีการประชุมร่วมกันว่าการดำเนินการเรื่องเมืองน่าอยู่ของเรา จุดไหนที่สมควรน่าจะพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้กับเทศบาลต่างๆ หรือท้องถิ่นอื่นๆ มาเรียนรู้ว่าการจัดการในด้านต่างๆ นั้นมีการจัดการอย่างไร สามารถประสบผลสำเร็จได้อย่างไรบ้าง”
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ของเทศบาลเมืองวารินชำราบ ตั้งอยู่ที่โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ (บ่อบำบัดน้ำเสีย) สถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนสถานที่รับรอง ผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งจากหน่วยงานต่างๆ ภายในท้องถิ่น และต่างท้องถิ่น ภายในบริเวณเดียวกัน ก็มีห้องประชุมที่สามารถจะใช้บรรยายเรื่องราวต่างๆ ให้กับผู้มาเยือนได้ฟัง ได้พูดคุยซักถาม ในช่วงนั้นก็มีคณะทัศนศึกษาดูงาน จากเทศบาลตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และคณะจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มาเยี่ยมเยือน ซึ่งอนันต์ ยวงนาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เห็นว่า การมาทัศนศึกษาดูงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาบุคลากรจากประสบการณ์ตรงแล้ว ยังจะนำแนวคิดที่ได้ไปปรับใช้กับท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย
อนันต์ ยวงนาค
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
“ผมถือว่า การที่พาพี่น้องประชาชน คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หรือหัวกลุ่มองค์กรต่างๆ ภายในตำบลมาดูงานที่นี่ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ตรง เป็นการหาความรู้ จากการปฏิบัติจริง พบเห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ และเป็นการสร้างศักยภาพและพัฒนาบุคลาการ เพื่อที่จะให้เขาได้มีโอกาสนำสิ่งที่ได้นั้นไปปรับปรุงแก้ไข และดำเนินการให้เหมาะกับองค์กรขนาดเล็ก และดำเนินการให้มีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนของเรา เป็นสำคัญ”
ภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ผู้มาเยือนจะได้พบกับ หนังสือ และเอกสารที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในด้านต่างๆ และบอร์ดนิทรรศการ ที่ระบุถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานได้รู้จักในเบื้องต้น ก่อนที่จะลงสัมผัสพื้นที่จริง
เริ่มจากจุดแรก ก็คือการรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ใช้วิธีการบำบัดน้ำเสียแบบระบบบ่อผึ่ง 3 บ่อ ที่ต่อกันมาตามลำดับ โดยอาศัยธรรมชาติของแสง อากาศ จุรินทรีย์และแบคทีเรีย ตามระดับความลึกของบ่อก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติต่อไป
สุธีร์ ทับหนองฮี
ผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองวารินชำราบ
“หลังจากเราไปศึกษาดูงานที่แหลมผักเบี้ย เขาใช้เวสแลนด์ก็คือใช้พืชชุ่มน้ำมาช่วยกรองของเสีย เราก็ไปหาผักตบชวา และก็ได้มีการออกแบบเครื่องรอกผักตบชวาขึ้นจากลำน้ำเป็นเครื่องจักรที่เราผลิตขึ้นด้วยตัวเอง ก็นำผักตบขึ้นมาแล้วไปลงที่บ่อบำบัดเพื่อช่วยกรองน้ำเสียให้มีความสะอาดขึ้น หลังจากที่มันแพร่ขยายพันธ์มากๆ เราก็จะนำผักตบเหล่านั้นมาย่อย มาทำปุ๋ยเพื่อใช้ในกิจการของเทศบาลต่อ”
จุดการเรียนรู้ต่อมา การจัดการขยะมูลฝอย โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ที่ บ้านดอนผอุง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวมของอำเภอวารินชำราบ ที่มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยเทศบาลเมืองวารินชำราบเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการ
ในการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของที่นี่ ใช้วิธีการฝังกลบมูลฝอย โดยใช้เครื่องจักรเกลี่ยและบดอัดให้ยุบตัวแล้วใช้ดินกลบทับและบดอัดให้แน่น เป็นชั้นๆ แบบกลบบนพื้นที่ และฝังกลบแบบขุดร่อง อย่างถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองวารินชำราบ บอกกับเราว่า ในแต่ละวันสถานที่แห่งนี้ต้องรองรับปริมาณขยะมากถึง 150 ตันต่อวัน ซึ่งถ้าหากลองมองดีๆ ขยะที่เห็นอาจไม่ใช่ขยะก็เป็นได้
สุธีร์ ทับหนองฮี
ผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองวารินชำราบ
“ในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลบ่อขยะอยู่ ก็เลยคิดจะทำอะไรสักอย่างเพื่อถวายในหลวงด้วย เป็นหนึ่งโครงการเพื่อทำความดีถวายในหลวงของเรา ทีนี้ก็เริ่มมาดูองค์ประกอบของขยะ ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบของขยะมันไม่ใช้ขยะทั้งหมด เมื่อเราแยกแยะออกมา วิเคราะห์ออกมาแล้ว ตัวที่สามารถรีไซค์เคิลและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มันจะมีมากกว่าครึ่ง อาจจะถึง 80-90 เปอร์เซ็น ถ้าสามารถคัดแยกได้ละเอียดจนเบ็ดเสร็จ ขยะที่เกิดขึ้นมาเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์และจะเป็นผลตอบแทนที่จะนำไปใช้พัฒนาเทศบาลได้ต่อไปอีก”
“ณ ปัจจุบันเราสามารถลดขยะประมาณ 1 เปอร์เซ็น ก็คือวันละประมาณ 1,500 กิโลกรัม จากขยะ 150 ตัน”
นอกจากการคัดแยกขยะที่สามารถนำมารีไซค์เคิลได้แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังมีเรื่องของ การทำปุ๋ยหมักจากขยะ ไบโอแก๊ส และไบโอดีเซลให้ได้ศึกษาเรียนรู้อีกด้วย
ในอนาคตอันใกล้ จุดการเรียนรู้แห่งนี้ จะมีการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ภายหลังจากการรีไซค์เคิล เช่น ถังดักไขมัน และถังไบโอแก๊สสำหรับครัวเรือน และการผลิตน้ำมันจากหลุมขยะ ซึ่งที่แห่งนี้คงเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนให้กับท้องถิ่นอื่นๆได้อย่างดี
สุธีร์ ทับหนองฮี
ผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองวารินชำราบ
“สิ่งที่เราทิ้งมันลงไปซึ่งเรามองดีๆ มันก็ไม่ใช่ขยะทั้งหมด หลังจากทำเสร็จแล้วก็อยากจะทำให้เป็นต้นแบบเพื่อให้ท้องถิ่นเล็กๆ ที่มีขยะ 5-10 ตัน มาดูว่าขยะของท่านมันไม่ใช่ขยะทั้งหมด อาจจะเหลือสัก 500 กิโลกรัม เหลือสัก 10 เปอร์เซ็น ทีนี้การจัดการขยะที่ปริมาณน้อยๆ ก็จะทำได้ และส่วนที่เหลือพอนำไปรีไซค์เคิลก็เป็นรายได้เข้าองค์กรของท่านได้”
โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5 แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการจัดการขยะ นำมารีไซค์เคิล จัดทำเป็นวัสดุ อุปกรณ์ ประกอบการเรียนการสอน และเสริมสร้างให้เด็กนักเรียนรู้จัก การคัดแยกขยะ การนำขยะมาเพิ่มคุณค่า ผ่านกิจกรรมห้องเรียนรีไซค์เคิล และธนาคารขยะรีไซค์เคิล ที่ปัจจุบันธนาคาร มีสมาชิกจำนวน 230 คน มีเงินหมุนเวียน 6,900 บาท มีเด็กหญิงชลธิชา โพธิ์ศรี เป็นผู้จัดการธนาคาร ซึ่งน้องบอกกับเราว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดมลภาวะโลกร้อนและได้แนะนำถึงการทำงานของธนาคารแห่งนี้ให้เรารู้จักอีกด้วย
เด็กหญิงชลธิชา โพธิ์ศรี
ผู้จัดการธนาคารขยะรีไซค์เคิล โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5
“ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนหันมาใช้ขยะเพียงครั้งเดียว จึงทำให้มีการทิ้งขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น เช่นกระดาษ ขวดพาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม จึงทำให้เกิดมลภาวะโลกร้อน เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนเทศบาลหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5 ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลภาวะโลกร้อน จึงจัดทำโครงการธนาคารขยะรีไซค์เคิล เพื่อช่วยลดมลภาวะโลกร้อนและกำจัดขยะมูลฝอย”
“รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดมลภาวะโลกร้อน”
นอกจากธนาคารขยะรีไซค์เคิลแล้ว ในโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5 ยังเป็นที่ตั้งโครงการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานไบโอดีเซลของชุมชนหนองตาโผ่น ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งของเทศบาลเมืองวารินชำราบ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน และความร่วมมือจากคนในชุมชนหนองตาโผ่น ที่รับอาสามาช่วยดูแล จัดการ และถ่ายทอดความรู้ ด้านสิ่งแวดล้อมจากการนำน้ำมันใช้แล้วในชุมชนมาผลิตกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้ใหม่ๆ นอกห้องเรียน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติอีกด้วย
นิภาพร จำปาวงศ์
คณะทำงานโครงการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานไบโอดีเซล
ชุมชนหนองตาโผ่น เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“เราบอกว่าเดี๋ยวขอประชุมคณะกรรมการชุมชนก่อน พอประชุมคณะกรรมการเสร็จคณะกรรมการรับทราบ อยากจะทำ ก็เลยตอบรับทำ เขาก็เอาโครงการนี้เข้ามา ทีนี้ถ้าจะเอาโครงการนี้ไว้ในชุมชนของเรา สถานที่มันไม่อำนวย และเราอยากให้เกิดแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นสาธารณะขึ้นมาหน่อย ก็เลยมาประสานกับทาง ผอ.โรงเรียนมิตรภาพที่ 5 ทางเราอยากเอามาไว้ที่โรงเรียนเพื่อจะได้เกิดแหล่งการเรียนรู้ สองเด็กนักเรียนได้เรียนรู้ในการผลิต สามเด็ดได้รู้จักว่าน้ำมันที่เหลือใช้ไม่ควรทิ้งเราควรที่จะเอามาทำน้ำมัน”
สิทธิชัย สำเนากลาง
ผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“ก็เป็นส่วนหนึ่งในการรวมแนวคิดจากชุมชนต่างๆ เข้ามาประสานกัน มีการพัฒนาร่วมกัน เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน และนำไปปฏิบัติให้แต่ละชุมชน มีทัศนะคติที่ดี นำไปประกอบการดำเนินชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพ และประหยัด อย่างเช่นโครงการไบโอดีเซล หรือโครงการธนาคารขยะรีไซค์เคิล ที่ทางโรงเรียนก็ได้มีแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนอยู่แล้ว”
“ก็เป็นความภาคภูมิใจของเรา ในการประสานความร่วมกับชุมชน จากผลประสานนี้ โรงเรียนของเราก็ได้การเรียนรู้ให้แก่นักเรียน และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งได้เข้ามา”
จุดการเรียนรู้อีกด้านหนึ่งในมิติของประเพณีวัฒนธรรม ทางเทศบาลเมืองวารินชำราบ ก็ได้เชื่อมโยงภูมิปัญญาพื้นบ้านมาสานต่อให้เกิดกลุ่มอาชีพการทำพิณ เพื่อจะพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรวมกลุ่มกัน พัฒนาอาชีพของตนเอง อย่างเช่นที่จุดการเรียนรู้การผลิตพิณ ชุมชนหนองตาโผ่น ซึ่งในบางวันสถานที่แห่งนี้ จะเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่มาเรียนรู้การทำพิณ จากคุณสมพงษ์ จำปาวงศ์ ซึ่งจะถ่ายทอดความรู้ในทุกขั้นตอนให้อย่างเต็มที่
สมพงษ์ จำปาวงศ์
ที่ปรึกษากลุ่มอาชีพการทำพิณ ชุมชนหนองตาโผ่น เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“วัตถุประสงค์ที่ทำขึ้นมาก็คือเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้กับกลุ่มผู้สนใจ ชุมชนไหนก็ตามที่สนใจการทำพิณ การผลิตพิณทำอย่างไรบ้างเราก็จะเป็นแหล่งให้ความรู้ และอีกประการหนึ่งก็คือให้เป็นส่วนที่มีรายได้กับชุมชน จับกลุ่มกันทำพิณขึ้นมา แบ่งหน้าที่กันทำ นอกจากว่าเราจะได้กิจกรรมของชุมชน ได้มีอาชีพในกลุ่มแม่บ้าน พ่อบ้านในหนองตาโผ่น ก็ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนหนองตาโผ่นได้ด้วย”
สมปอง จ่านันท์
ประธานชุมชนหนองตาโผ่น เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“แม่รู้สึกภูมิใจ ภูมิใจที่เห็นเด็กๆ สนใจ ในการทำพิณ สนใจในการที่จะมาศึกษาดูงานตรงจุดนี้ เขายังอยากจะสานต่อตรงนี้ไว้อยู่ สืบทอดการทำพิณต่อไป ก็ภูมิใจค่ะ”
ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดสดเทศบาล 1 ก็เป็นอีกจุดการเรียนรู้หนึ่ง ที่ท้องถิ่นอื่นๆ สามารถที่จะมาศึกษาดูงานได้เช่นกัน เพราะเป็นตลาดที่ได้มาตรฐานตามหลักสุขาภิบาล ที่สำคัญตลาดแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ขายในตลาดเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากกิจกรรมวัน BIG CLEANING DAY ที่ทุกคนต่างพร้อมใจมาร่วมกิจกรรมทำความสะอาดตลาดสดในวันนี้
การดำเนินงานโครงการวารินเมืองน่าอยู่ ของเทศบาลเมืองวารินชำราบ เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ ที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงกายภาพ และสังคมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี กระตุ้นให้ชุมชนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นมิใช่ภาระหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
นายจีระชัย ไกรกังวาร
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
“สิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกท้องถิ่น การที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเมืองน่าอยู่นั้น ไม่ใช่ผู้หนึ่งที่จะสามารถดำเนินการให้เกิดความสำเร็จได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะประสบความสำเร็จนั้นก็คือต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ”
วารินเมืองน่าอยู่ เป็นเรื่องที่คนวาริน ได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันพัฒนา จนกระทั่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับท้องถิ่นอื่นๆ เป็นศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่มีแหล่งเรียนรู้ หลากด้าน หลายมิติ นั่นก็เพื่อไปสู่หนทางของการเป็นเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน ที่จะไปให้ถึง “วารินเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก” ตลอดไป
*******************************************************************************
ขอขอบคุณ
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
จีระชัย ไกรกังวาร
นายกเทศมนตรี
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
วีระวรรณ เตียวสกุล
ปลัดเทศบาลเมืองวารินชำราบ
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
รุ่งนภา ทับหนองฮี
ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
สุธีร์ ทับหนองฮี
ผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
อนันต์ ยวงนาค
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
สิทธิชัย สำเนากลาง
ผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
สมปอง จ่านันท์
ประธานชุมชนหนองตาโผ่น เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
นิภาพร จำปาวงศ์
คณะทำงานโครงการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานไบโอดีเซล
ชุมชนหนองตาโผ่น เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
สมพงษ์ จำปาวงศ์
ที่ปรึกษากลุ่มอาชีพการทำพิณ ชุมชนหนองตาโผ่น
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
จุฑาทิพย์ กีรนันท์
เจ้าของร้านส้มตำน้ำโจ๊ก เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เด็กหญิงชลธิชา โพธิ์ศรี
ผู้จัดการธนาคารขยะรีไซเคิล โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5
เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ผลิตโดย
โครงการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเมืองน่าอยู่-ชุมชนน่าอยู่
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ร่วมกับ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
มูลนิธิพัฒนาไท
และภาคีเครือข่ายพันธมิตร
ภายใต้การสนับสนุนของ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
เลขที่ 693 ถนนบำรุงเมือง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
Tel.& Fax. 0-2226-0150, 0-2621-5365

Be the first to comment on "ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ"

Leave a comment

Your email address will not be published.