“ฐานที่มั่น” คือหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม

ร่มโพธิ์ลานไทร แอลดีไอสแควร์ สัปดาห์นี้เชิญพบกับ “อาจารย์อ้อ”

“ฐานที่มั่น” คือหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ที่ต้องรักษาดูแลให้มั่นคง

แอลดีไอทีวี ตอนที่ 5 ขอเชิญข่ายงานประชาสังคมมาพบกับ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี หรือที่พี่น้องรู้จักกันในนามอาจารย์อ้อ ผู้ที่เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มสำคัญ “ขบวนการประชาสังคมไทย: ความเคลื่อนไหวภาคพลเมือง” อดีตคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์จะมาพูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบันกับก้าวต่อไปของภาคประชาสังคม และบอกเล่าถึงทิศทางการทำงานในมุมของตนเอง ที่มุ่งมั่นติดอาวุธทางปัญญาให้กับพลเมืองเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกแรงด้วยเช่นกัน

 

******************************************
“ฐานที่มั่น” คือหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม
บทสัมภาษณ์: รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

เรียบเรียง: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

สถานการณ์ปัจจุบัน กับบทบาทภาคประชาสังคม
ท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เราต้องมองอย่างเข้าใจ ในความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่เราได้เรียนรู้กันมาอย่าง Chaos Theory, System Thinking ฯลฯ น่าจะช่วยให้เรากลับมาตั้งหลักได้มากพอสมควร เราไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก หรือกลัดกลุ้มไปกับสถานการณ์กันจนเกินเหตุ ในขณะที่เราต้องเผชิญหน้า
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สมการทางสังคมไม่ได้เป็นสมการชั้นเดียว การเคลื่อนตัวมีมิติของการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างลึกซึ้งมากๆ ผมคิดว่าสังคมไทยไม่เคยอยู่ในยุคไหนที่เรามาถึงทางสองแพร่งที่แบ่งคนในสังคมออกจากกัน อย่างชัดเจนเท่าในปัจจุบันนี้มาก่อน ตรงนี้เป็นจุดที่เราจะต้องตั้งสติในการทำงานให้มั่นคง โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าเราไม่ควรจะต้องยืนอยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นการเฉพาะ อย่างที่เราพูดกันมาโดยตลอด เป็นการเตือนกัน “แตกต่างหลากหลายได้ แต่ต้องไม่แตกแยก” ทุกวันนี้สังคมมันพาตัวเองมาในโทนสีที่มองหน้ากันไม่ติด ซึ่งเรายิ่งจะต้องเข้าใจในความจำกัดของเรื่องราวให้มาก อันนี้เป็นประเด็นที่ยากขึ้น
และประเด็นที่จะซ้ำเติมเข้ามาอีกก็คือ ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนในอีก 3-4 ปีข้างหน้า หรือในอนาคตอันใกล้นี้เศรษฐกิจคงยังไม่ฟื้นแน่ และยังคงตกอยู่ในสภาพที่แย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่ในชนบท ในท้องถิ่นจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมาก ถึงได้บอกว่า “ฐานที่มั่น” นั้นสำคัญมาก
สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ที่ยังต้องรักษาเอาไว้ให้อย่างเหนียวแน่น ก็คือการทำงานในพื้นที่ การจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นในกิจกรรมที่จะฟื้นฟู พัฒนาท้องถิ่น ที่จะฟื้นฟูเมือง สิ่งแวดล้อมหรืออื่นๆ ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร การเมืองจะผันผวนขนาดไหน เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร พื้นที่คือฐานที่เราต้องไม่ละทิ้ง ไม่ปล่อยให้อ่อนแอลง ตรงจุดนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นองคาพยพหลักของการเคลื่อนไหวสังคม (Civic Movement) ที่เราจะต้องให้เกิดการ Exercise เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นแค่ชุมชนคนที่ Promote เรื่องราวประเด็นต่างๆ ขึ้นมาโดยขาดกระบวนการที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งจริงๆ ภาคพลเมืองที่เข้มแข็งและตื่นตัว ต้องเข้มแข็งจริงไม่ใช่แค่ตื่นตัวเฉยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรักษาและดำรงไว้ให้มากที่สุด
โดยพื้นฐานที่ว่า 1) การรักษาฐานที่มั่น ให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง การสร้างเครือข่ายพลเมืองที่เข้มแข็ง พี่น้องภาคประชาสังคมต้องทำอย่างต่อเนื่องซึ่งผมคิดว่าเป็นเส้นทางที่เราจะต้องเดินไปต่อ 2) ด้วยสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนขึ้น เราต้องเรียนรู้และเท่าทัน ในความที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ติดอาวุธทางปัญญาให้กับพลเมือง
ผมคิดว่า “เราต้องอาศัยจินตนาการใหม่เยอะมาก” ในมิติของการพัฒนา อย่างกรณีตัวผมเอง ด้วยข้อจำกัดหลายๆ เรื่องทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำงานร่วมกระบวนการของพวกเราได้มาก แต่ก็พยายามทำในบริบทของการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมเองคิดว่า ถ้าเราจะมองการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาแบบยาวๆ ก็ยังคิดว่าหัวใจสำคัญของเรื่องราวยังน่าจะอยู่ที่ “เรื่องของการพัฒนามนุษย์” การพัฒนาคนหรือการติดอาวุธทางปัญญาให้กับพลเมืองของเรา ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะออกไปรับผิดชอบสังคมต่อไปในอนาคต ไปเผชิญกับภาวะที่มันยากและซับซ้อน จึงสนใจทำงานที่เกี่ยวกับระบบการศึกษา
จะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาของบ้านเรา เป็นระบบที่ทำลาย ทำลายจินตนาการ ทำลายความเป็นพลเมืองหมด แล้วระบบการศึกษาก็ได้สร้างมนุษย์ชนิดที่เรียกว่า “ผู้รอคอยการบริโภค” ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ถามว่าเราจะเปลี่ยนระบบการศึกษาให้มาสร้างคนชนิดใหม่ๆ คนที่มีจินตนาการใหม่ๆ มองไปข้างหน้าได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ
ถามว่าเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานั้น เขาก็เป็นเด็กที่มีคุณภาพ ถ้ามองลงไปลึกๆ เราก็พอจะฝากฝังอนาคตกับเค้าได้ แต่ว่ามันมีมติที่ขาดหายไป หลายเรื่องที่มีความสำคัญ เท่าที่คิดเร็วๆ ตอนนี้ มีเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ ที่ขาดหายไปจากคนรุ่นใหม่ๆ ก็คือเรื่องของจิตสาธารณะซึ่งเป็นหัวใจในการเคลื่อนไหวภาคพลเมือง ภาคประชาสังคม เด็กในปัจจุบันเป็นเด็กที่เติบโตโดยถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี ได้รับการดูแล ปลูกฝังโอบอุ้มมาจากครอบครัว ผ่านกระบวนการเรียนการสอน อะไรต่อมิอะไรต่างๆ ที่เรียกได้ว่าสังคมโอบอุ้มพวกเค้ามากพอสมควร ประเด็นที่เกิดขึ้นก็คือว่า “พวกเขากลายเป็นพวกที่คิดแต่เรื่องของตัวเอง” เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะคิดถึงคนอื่น หรือคิดถึงการเชื่อมโยงตนเองต่อสาธารณะมีน้อยลง ความสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจมากๆ ที่พวกเราภาคประชาสังคมควรจะต้องคิดโจทย์เรื่องนี้ให้ทะลุ ทำอย่างไรจิตสาธารณะ หรือจะเป็นโครงการจิตอาสา อะไรเหล่านี้สามารถเข้าไปสู่วิถีหรือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิด ไม่ใช่ในแง่ของการสร้างกิจกรรมให้ทำหรืออย่างในอดีตที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่แค่ทำงานอาสาสมัคร สังคมสงเคราะห์เฉยๆ แต่ว่าต้องทำให้เค้าจิตใหญ่ขึ้นจริงๆ ให้ได้
“จิตปัญญาศึกษา” การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง
ประเด็นของการสร้างจิตสาธารณะก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องที่ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปทำ ก็คือเรื่องของการพัฒนาด้านในของมนุษย์ ตอนนี้อาจจะมีศัพท์ที่หลายคนเริ่มพูดถึง การศึกษาในแนวจิตปัญญา หรือที่เรียกว่า “จิตปัญญาศึกษา” อีกคำที่เทียบเคียงกันใกล้ๆ ก็คือ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ในภาษาอังกฤษ ก็จะใช้คำว่า “Transformative Learning” มีคำกล่าวโดยคร่าวๆ ว่า Good University Teach but Great University Transformหมายความว่า มหาลัยที่ดีจะทำหน้าที่แค่เป็นที่สั่งสอน ให้ปริญญา สหปริญญา ให้เค้าได้มีการศึกษา แต่ว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงเค้าได้ ยิ่งมีการศึกษาสูง ยิ่งมีการศึกษาดีก็กลายเป็นผู้บริโภคตัวยงในสังคม แต่ว่าถ้าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ตอบสนองภารกิจของสังคม ของโลกได้ มหาลัยต้องทำหน้าที่ที่จะ Transform คือเปลี่ยนคนให้ได้ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เราเรียกว่า เป็น “Contemplative Education” หรือ “จิตตปัญญาศึกษา” เรากำลังพูดถึง กระบวนการพัฒนาทั้งหมดนั้นต้องเข้าไปสู่การพัฒนาด้านในของคนให้ได้
ถามว่าการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาด้านในมันคืออะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องของศาสนา ไม่ใช่เรื่องแค่สมาธิภาวนา แต่เป็นเรื่อง การเรียนรู้ที่ผ่านประสบการณ์ตรงของมนุษย์ การเรียนรู้ที่เป็น Direct Experiential Learning ที่เค้าได้มีโอกาสไปสัมพันธ์ ได้ลงมือกระทำจริง แล้วได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งแล้วกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเอง
โจทย์ง่ายๆ ก็คือทำไมคนเราถึงยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้ยากเหลือเกิน อย่างปรากฏการณ์ทางสองแพร่งทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นเพราะว่าเราพาตัวเราเองมา หรือว่าอาจจะโทษไปถึงระบบการเรียนรู้ของไทยที่สอนให้เรายอมรับและเคารพในความแตกต่างของซึ่งกันและกันน้อยมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญ การที่เราเคารพในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ ของคนที่อยู่ในครอบครัว ของคนที่อยู่ในสังคมเราได้น้อย สิ่งนี้สะท้อนว่า เรายึดติดความเป็นตัวตนของเราสูง หมายความว่า เรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เราเป็นตัวเราเป็น โดยเราไม่เคยเรียนรู้ว่าจริงๆลึกๆเราเป็นอย่างไร มีคำกล่าวทำนองที่ว่า “มนุษย์เราสามารถที่จะมีความรู้ ศึกษาค้นคว้า มีวิทยาการมีเทคโนโลยีที่เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ นอกตัวไปไกลได้ถึงอวกาศ แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ห่างไม่กี่เซนติเมตรในตัวเรา นั่นก็คือใจของเราจิตของเรา เรากลับรู้จักมันน้อยมาก”
เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของกระบวนการศึกษาค้นคว้าอีกแบบหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาของคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นปัจจุบันก็ตามแต่ มีการพัฒนาที่เชื่อมโยงเข้าถึงด้านใน มีการตั้งคำถามในใจ ตั้งคำถามในตัวเราเองให้มากขึ้น ว่าเรากำลังต้องการอะไร เราอยากทำหน้าที่อะไร เราจะสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนอย่างไร เรามองเห็นถึงความเชื่อมโยงของคนอย่างไรแค่ไหน ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งนี้มีความสำพันธ์เชื่อมโยงกับ Civic Movement มากทีเดียว
การเรียนรู้ที่ผ่านประสบการณ์ตรงของมนุษย์ การเรียนรู้ที่เป็น Direct Experiential Learning ทำอย่างไร
สิ่งที่ผมกำลังทำ เราทำผ่านกระบวนการเรียนการสอนในหลายรูปแบบ เช่น ที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือ การเจริญสติภาวนาที่สามารถให้คนอยู่นิ่งๆ กับตัวเอง เป็นการทำให้เราหยุดที่จะดิ้นรนวิ่งไปตามสภาวะแวดล้อมที่เป็นเรื่องของภายนอก ให้หันกลับเข้ามาดูตัวเอง กลับมาทบทวนตัวเอง ซึ่งการปฏิบัติภาวนาก็เป็นพื้นฐานอันหนึ่ง แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวิปัสภาวนาเสมอไป สามารถผ่านกระบวนการเรียนรู้อื่นๆได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานศิลปะ เรียนรู้ผ่านกระบวนการพูดคุยในกลุ่ม เรียนจักการเชื่อมโยงจากการทำงานอาสาสมัคร เป็นต้น
กระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามศึกษาค้นคว้า เพื่อเอามาปรุงเป็นหลักสูตรเป็นกระบวนการที่จะสร้างคนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ก็มีหลักสูตรปริญญาโทชื่อหลักสูตร จิตตปัญญาศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ก็รับนักศึกษาเข้าสู่รุ่นที่ 2 แล้ว เด็กกลุ่มเหล่านี้ก็จะออกไปทำหน้าที่ กระบวนกรการฝึกอบรมในอีกแนวหนึ่งให้กับสังคม ก็เป็นความพยายามที่เราทำเพื่อจะเชื่อมโยง ซึ่งเราเชื่อว่าในที่สุดก็จะทำให้เกิดแนวทาง หรือหนทางในการพัฒนาด้วยการเรียนรู้ได้อย่างดีขึ้น และหวังว่าการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ตอนนี้ก็เริ่มต้นที่มหิดลเป็นที่แรก และเราทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ให้หันมาทำเรื่องนี้มากขึ้น
ก้าวต่อไปของภาคประชาสังคม
อยากเห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมเป็นเรื่องๆ ในภาพใหญ่ของสังคม ไม่ใช่นักทำกิจกรรมตามวาระ ตามโอกาส ตามที่แหล่งทุนกำหนดมา ต้องหันกลับมาถามตัวเราเองว่า “ท้องถิ่นต้องการอะไร อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง”
ผมว่าประสบการณ์อย่างอเมริกา ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหว หรือความพยายามที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงออกมาชัดมาก ผมว่าการเปลี่ยนผู้นำของสหรัฐในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนไม่เฉพาะตัวผู้นำ แต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนจากปริมาณไปสู่คุณภาพในเรื่องของพลเมืองสหรัฐอเมริกาทีเดียว เราลองดูการรณรงค์หาเสียงที่นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เค้าใช้คำว่า Change เป็นคำที่ไม่ได้ตื้นๆลอยๆ หรือเปลี่ยนผู้นำเฉยๆ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ของสังคมอย่างมาก ส่วนที่เป็นผลพวงตามมาก็คือ ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ภาคประชาสังคมของอเมริกาเข้ามามีส่วนร่วม อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมทั่วทั้งสังคมเลย มีการส่งความคิดเห็นว่าอยากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งอยากให้บ้านเราเกิดมิติอย่างนี้ขึ้นบ้าง แล้วเลือกเอาวาระที่มีความหนักแน่น ลึกซึ้ง มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ของตัวเอง แต่สามารถเชื่อมกับประเด็นในเชิงนโยบายข้างบนให้ได้ ตรงนี้ผมยังเห็นไม่มากยังอยากให้เกิดขึ้นเยอะ
กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง จะสร้างและก่อเกิดขึ้นได้อย่างไร จุดนี้เป็นรูปธรรมที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันค้นหาขึ้นมา ที่พูดแบบนี้เพราะว่ามองไม่เห็นถึงรูปธรรม ถ้าพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ก็คงมีความชัดเจน มองเห็นอย่างถ่องแท้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบริบทของท้องถิ่น บริบทของเมือง ว่าสิ่งที่เป็นความเคลื่อนไหว สิ่งที่มันเกิดขึ้น ความตื่นตัวของคนในสังคมจะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องอะไร อาจเป็นเรื่องที่ทำในระดับ หมู่บ้าน ตำบล ระดับท้องถิ่น เมือง หรือว่าอำเภอหนึ่ง จังหวัดหนึ่งหรือเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายก็แล้วแต่ประเด็นที่เหมาะสมสอดคล้อง
แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือผู้นำเรายังไม่พอ เราหาผู้นำได้ไม่ทัน เรื่องมันเคลื่อนไหวเร็วมากเรารู้สึกว่าขาดผู้นำ ทรัพยากรผมคิดว่ามีในระดับหนึ่ง แต่ Change Agent คนที่ขับเคลื่อน หรือ Corrective Leadership เราสร้างขึ้นมามีไม่เพียงพอเราไม่มีคนที่จะกัดติดกับเรื่องราวนั้น เข้าใจ เรียนรู้ ค้นคว้า ศึกษามันอย่างลึกซึ้ง และมุ่งมั่นที่จะผลักดัน และผู้นำก็ถูกดึงไปทำโครงการนั้นโครงการนี้ ตอบสนองแหล่งทุนนั้น แหล่งทุนนี้ ทุกคนมีวาระ Agenda เต็มไปหมด แต่ถามว่า AT The End เกิดอะไรขึ้น ก็ได้ทำงานสนองตอบแหล่งทุน แต่งานที่จะทำให้เกิดอย่างยั่งยืนในท้องถิ่นของตนเอง ผมคิดว่าอาจต้องมาตั้งคำถามใหม่ อาจจะต้องมาทบทวนสิ่งเหล่านี้ให้เพียงพอ ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมควรมีเวลาเพื่อมาสรุปบทเรียน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน เพราะว่าประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องอาศัยการมาพบเจอกันมากพอสมควร
******************************************
ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา
สังเขปแนวคิด “จิตตปัญญาศึกษา”
http://www.ce.mahidol.ac.th/blog/viewblog.php?aid=3&s=anuchart
มุมมองของ อาจารย์ประเวศ วะสี กับแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา

 

Be the first to comment on "“ฐานที่มั่น” คือหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม"

Leave a comment

Your email address will not be published.