จุดเปราะบางของภาคประชาสังคม: ข้อสังเกตจากนักธุรกิจเพื่อสังคม

ร่มโพธิ์ลานไทร แอลดีไอแสควร์ ตอนที่ 8 “จุดเปราะบางของภาคประชาสังคม: ข้อสังเกตจากนักธุรกิจเพื่อสังคม”

ในตอนนี้พี่น้องข่ายงานประชาสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับชม รับฟัง เพราะมีข้อสังเกตบางประการถึงการขับเคลื่อนงานประชาสังคม จากคุณชูชัย ฤดีสุขสกุล อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ทำกิจกรรมทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หนึ่งในคณะกรรมการของมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet Foundation) และนักธุรกิจที่ทำอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันกำลังมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนนานาชาติเมธา META SCHOOL (www.metaschool.ac.th) โรงเรียนที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่เหนือขึ้นไปกว่าการเรียนธรรมดา หรือ Meta Learning ซึ่งเป็นวิถีการเรียนรู้ของนักปราชญ์ เมธา หรือเมธี เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถใช้ชีวิตด้วยความรู้ และสติปัญญา โดยมีความเชื่อที่ว่า “ผู้นำ ผู้ประกอบการ อัจฉริยะ และพรสวรรค์ สร้างกันได้” พี่น้องข่ายงานประชาสังคมโปรดคลิกโดยพลัน…

 

****************************************************************************
หมอปกรณ์: จากประสบการณ์ของพี่ชูชัย คิดว่าภาคประชาสังคมเรานี้ควรจะยกระดับไปสู่อะไร และก็พวกเราเองควรจะทำงานในรูปแบบไหนอย่างไรบ้างครับ
คุณชูชัย: คำถามที่คุณหมอถามนี้ก็เป็นคำถามใหญ่นะครับ ซึ่งในมุมของผม ผมอาจจะมีโอกาสได้ทำงานอยู่กับทั้งภาคประชาสังคม ที่เป็นการทำงานประชาสังคมซึ่งเขาไม่ได้เรียกว่าตัวเองเป็นประชาสังคม หรือเขาไม่รู้ตัวว่าเขาเป็นการทำงานของกระบวนการประชาสังคม ในขณะเดียวกันผมก็ได้มีโอกาสทำงานกับกลุ่มคนที่เรียกว่าตัวเองเป็นประชาสังคมอย่าง Civicnet หรือ LDI ก็จะได้เห็นทั้งสองมิตินะครับ ตรงนี้ในช่วงกระบวนการประชาสังคมทำงานกันเยอะๆ หนักๆ จริงๆ มันคือตั้งแต่หลังปี 40 เท่าที่ผมจำได้นะครับ ตั้งแต่ปีประมาณ 40-42 ก็เริ่มเข้มข้นขึ้นมีการขยายตัวประชาสังคมมากขึ้น เนื่องจากว่ามีโครงการ SIP เข้ามาด้วยใช่ไหมครับช่วงนั้น จนกระทั่งมาถึงปีประมาณ 46-47 ก็อาจจะเริ่มอ่อนกำลังลงเล็กน้อยนะครับ ซึ่งเดี๋ยวสาเหตุถ้ามีโอกาสเราค่อยคุยกันทีหลัง ทีนี้สิ่งที่คุณหมอถาม ผมคิดว่าคนที่ทำงานอยู่ในกระบวนการประชาสังคมที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำงานประชาสังคมกับคนที่อยู่ในมิติของการทำงานสังคมที่เขาอยากจะเห็นท้องถิ่นหรือเห็นบ้านเมืองเขาเจริญงอกงามหรือแก้ปัญหาภายในท้องถิ่นของเขาได้มันไม่ค่อยจะเป็นเนื้อเดียวกันเท่าไหร่ กลุ่มคนซ้อนกันน้อยมากแล้วก็การเชื่อมต่อเข้าถึงก็เหมือนกับเป็นคนละพวกคนละมิติอยู่ ซึ่งตรงนี้ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคอยู่เหมือนกัน คือผมพบว่าคนที่เข้ามาทำงานในกระบวนการภาคประชาสังคมไม่ว่าจะเป็นอิสระหรือใช้แหล่งทุนจากบางหน่วยงานที่สนับสนุนทุนให้ หรือร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานประชาสังคมก็ตาม ก็จะพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้เขาเป็นคนที่อยากเห็นบ้านเมืองของตัวเองเปลี่ยนแปลงและก็มีความเป็นอิสระกว่า ส่วนคนที่เขาทำงานภาคประชาสังคมในมิติชีวิตจริงของเขาๆ จะมีอิสระน้อยกว่า เขาจะมีกรอบของสถานะภาพ กรอบของอาชีพ กรอบของโครงสร้างสังคมที่เขาอยู่เป็นข้อจำกัดอยู่ และจริตของกลุ่มคนกลุ่มนี้กับจริตของคนที่ทำงานอยู่ในกระบวนการประชาสังคมก็ไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่ จริตในที่นี้ก็คือตั้งแต่วิธีคิด ความเข้มข้นของวิธีคิด ความเข้มข้นของอุดมการณ์ก็มีความเข้มข้นที่ต่างกัน การเอาจริงเอาจังกับการลงไปทำงาน ในกระบวนการที่รู้ตัวว่าเป็นภาคประชาสังคมพวกนี้จะขยันกว่าและทำงานเอาจริงเอาจังมากกว่า แต่ในเชิงของศักยภาพแล้ว ถ้าจะพูดถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือในการที่จะทำงานให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นในชุมชน ปรากฏว่ากลุ่มคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ ดูเหมือนศักยภาพมันไม่ค่อยแรงเหมือนกับทั้งสถานภาพทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม มันไม่ค่อยได้คนแบบนั้นเข้ามาอยู่ในกระบวนการ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดทั่วประเทศนะ บางแห่งก็มีเช่นตัวอย่าง คุณปนิธิ ตั้งผาติ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก อันนี้ก็เข้ามาทำงานประชาสังคมเต็มตัว ก็จะเห็นว่างานของเขานี้จะเคลื่อนแรงและก็เร็ว ก็มีตัวอย่างๆ อยู่หลายจังหวัด ซึ่งปัจจุบันนี้ยังแข็งแรงอยู่ก็ยังมีอยู่ และก็ที่หายไปแล้วก็มี คือพอคนที่มีศักยภาพอย่างนี้มันขาดตรงการเชื่อมต่อตรงนี้ก็จะอ่อนแรงลง เพราะฉะนั้นการเปิดมิติของสองด้านนี้เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกันยังหารหัสที่จะเชื่อมต่อตรงนี้ไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ คือถ้าพวกที่มีศักยภาพแล้วยังไม่ได้เข้ามาทำงานเต็มที่แล้วเขาได้เข้ามาทำ หรือคนที่ทำงานเต็มที่แต่ศักยภาพอาจจะไม่สูงและไปเชื่อมต่อกับพวกนั้นได้ผมคิดว่าประชาสังคมก็จะแข็งแรงและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
หมอปกรณ์: คือฟังเหมือนกับว่าคนที่ทำงานประชาสังคมมีสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งคือเรียกตัวเองว่าประชาสังคมพวกนี้จะทำงานเข้มข้นเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งคนทั่วไปอาจจะมองไม่ออกว่าทำประชาสังคมและก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าประชาสังคมด้วย แต่พี่บอกว่ากลุ่มนี้ก็มีความลงตัวบางอย่างที่เขาจะทำการเปลี่ยนแปลงสังคมได้เหมือนกัน
คุณชูชัย: แต่ทิศทางกับยุทธศาสตร์เขายังไม่ชัด เขาก็จะทำไปเรื่อยๆ ตามศักยภาพที่เขามองเห็น แต่กลุ่มที่ทำงานมากนี้คือกลุ่มที่ชัดแต่ศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมมันไม่พอกำลังมันไม่พอ
หมอปกรณ์: ความหมายคือต้องใช้สองกลุ่มนี้มาทำงานด้วยกัน แต่ว่าฟังดูเหมือนกับว่าอยู่คนละโลกเลยยังไม่มีการเชื่อมกัน เดินสวนกันไปกันมาแต่ว่ายังไม่ค่อยมีการเชื่อมกันมากนัก
คุณชูชัย: ใช่แต่ว่าส่วนมากพวกเขาก็จะรู้จักกันนะมีการทำงานร่วมกันบ้างในบางมิติแต่เป็นส่วนน้อย เท่าที่ผมเห็นก็คือการพยายามที่จะดึงคนทั้งสองส่วนมาทำงานด้วยกัน มันรู้สึกว่ามันจะไปด้วยกันไม่ได้คล้ายๆน้ำคนละสีหรือว่าเป็นของเหลวคนละประเภทรวมกันแบบเป็นผนึกเดียวกันนี่มันไม่ติด
หมอปกรณ์: ดังนั้นคือสมมติฐานที่จะให้มารวมกันนี่ในมุมพี่คือเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้
คุณชูชัย: พวกเราเคยพยามมานานแล้ว มาตั้งแต่ก่อนปี 38 ด้วยซ้ำ และก็ทำตรงนี้แล้วก็ได้บางส่วน ไม่ถึงขนาดไม่ได้ แต่เงื่อนไขมันอยู่ที่ตัวคนคือตัวผู้ประสานงานในการเชื่อมต่อตรงนี้จะต้องเป็นที่ยอมรับของคนทั้งสองภาคทั้งสองส่วน คือมีบารมีเป็นที่เชื่อถือยอมรับ ถ้ากลุ่มแบบนั้นถ้ามีก็จะเห็นว่าประชาสังคมในจังหวัดเขาหรือในท้องถิ่นเขาก็เข้มแข็ง แต่ถ้าคนๆ นี้ไม่มี มีแต่คนเจตนาดีและขยันเฉยๆ ไม่มีตัวคนแบบนี้คนที่ทำก็จะทำเหนื่อยไปเรื่อยๆ ผลของการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นหน้าเห็นหลังก็จะไม่มี เพราะว่าในกลุ่มคนที่ศักยภาพที่จะทำให้เห็นหน้าเห็นหลัง เขาก็ไม่มียุทธศาสตร์และก็ไม่มีทิศทาง มันก็ไปเรื่อยๆ
หมอปกรณ์: ดังนั้นคิดว่าคีย์สำคัญที่จะเชื่อมประสานได้ก็ยังพอมีอยู่ก็คือตัวผู้ประสานที่มีบารมีใช่หรือไม่
คุณชูชัย: เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ
หมอปกรณ์: และปัจจัยอื่นๆ
คุณชูชัย: ถ้าเป็นตัวเนื้อหลักที่เป็นความยั่งยืนมันจะต้องมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รู้จักมักจี่กันมีโอกาสพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ มีกระบวนการพูดคุยที่มันสร้างสรรค์ ซึ่งทาง Civicnet เองก็พยามทำมาโดยตลอดอย่าง อ.ชัยวัฒน์ ธิระพันธุ์ หรือพวกเราที่เป็นวิทยากรเราก็ฝึกอบรมการประชุมอย่างสร้างสรรค์ ฝึกอบรมการจัดเวทีของการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการคิดในการไปสู่คุณภาพใหม่ร่วมกันเราก็พยามทำกันนะครับ ความสำเร็จในการจัดเวทีหรือการพบปะพูดคุยกัน ผมคิดว่าทุกจังหวัดก็ทำกันพอสมควรก็ทำเป็นในระดับหนึ่ง แต่มันยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เกิดการปลั๊กอินได้กับคนที่เป็นตัวจริงเสียงจริงที่มีศักยภาพที่มีกล้ามในท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนรวย คือรวยก็ได้ไม่รวยก็ได้แต่ว่ามีบารมีในการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งมันมีไม่เยอะในแต่ละท้องถิ่นมีไม่กี่คน
หมอปกรณ์: ตรงนี้มีสองประเด็น ที่พูดถึงก็มีผู้ประสานกับกระบวนการเรียนรู้ซึ่งก็ได้ทำไปแล้วระดับหนึ่งแต่ยังอาจจะยังไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วในมุมของพี่ซึ่งเติบโตทางสายธุรกิจ พี่อาจจะช่วยผมมองด้วยว่า ในทางพ่อค้านักธุรกิจจะเข้ามาสนับสนุนเสริมกระบวนการตรงนี้ให้ยกระดับขึ้นมาได้อย่างไร
คุณชูชัย: วิธีการคือต้องมีคนที่เข้าใจและไปทำงานร่วมกับเขาอย่างเดียวเลย คือถ้าจะดึงเขาออกมาทำงานอะไรบางอย่าง เขาก็จะทิ้งระยะคือดูว่าเริ่มเข้มข้นเกินไปแล้วหรือเริ่มที่จะเข้าไปแตะกับความขัดแย้งทางสังคม ถ้าเป็นพ่อค้านี่เขาก็จะระมัดระวังตัวพยามไม่เข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก เพื่อรักษาสถานะตัวเองเขาเข้าใจว่าเพื่อความเป็นกลาง แต่ก็เข้าใจผิดเข้าใจถูกก็อย่าไปวิจารณ์เลยแล้วกันนะ ซึ่งก็จะทำให้เขาทิ้งระยะ ฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะสามารถทำได้แต่ว่าจะต้องมีคนลงไปทำจริงมี Change Agent ที่เข้าไปเชื่อมต่อจริงๆนี่ก็คือว่าต้องเข้าไปทำงานร่วมกับเขา เช่นสมมติว่าเขากำลังทำงานในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นเขา ก็มีคนที่ทำงานในมิติประชาสังคมที่เข้าใจยุทธศาสตร์ก็ไปทำงานร่วมกับเขาทำงานอยู่ในเนื้องานของเขา การที่ดึงเขามาทำงานเนื้องานอื่นที่ไม่ใช่จริตเขายากมากเลยนะครับ ตัวเองก็ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับเขาทีนี้การเข้าไปทำงานร่วมกับเขามันก็มีปัจจัยเยอะที่จำเป็นเช่นว่า เขายอมรับเราแค่ไหนที่จะให้เราเข้าไปมีส่วนในการที่จะขับเคลื่อนร่วมกับเขา เขามีการยอมรับเราหรือไม่ สองกึ๋นเรานี่มันพอหรือปล่าว ความรู้ความสมารถต่างๆ รวมทั้งท่าทีต่างๆ แล้วหนักๆ เข้าอาจจะไปถึงเรื่องของสถานภาพทางสังคมหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้มันก็เป็นองค์ประกอบรวมทั้งหมดที่จะได้รับการต้อนรับหรือไม่จากพวกเขา คล้ายๆ กับเป็นคนละพวกคนละเหล่าทำนองอย่างนั้น มันไม่ได้เป็นพวกเดียวกันเป็นเผ่าเดียวกันซักเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้วพวกนักธุรกิจก็ตามพวกประชาชนธรรมดา คนกลางๆ ในสังคม ผมคิดว่าสำคัญมาก คือพวกนั้นเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงไงที่ควรจะต้องดูแลบ้านเมืองของเขาและทำงานประชาสังคมของเขา จริงๆ ต้องไม่ใช่คนหวังดีจากส่วนกลางหรือผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่เจตนาดีกับท้องถิ่นของตัวเอง แล้วก็ไปรับนโยบายอะไรมาจากส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางในที่นี้อาจจะเป็นทั้งภาครัฐหรือไม่ใช่รัฐที่อยากจะให้ไปขับเคลื่อนเรื่องโน้นอยากจะให้ไปทำประเด็นเรื่องโน้นเรื่องนี้เพื่ออะไรโดยเรามองเห็นเมื่อทำอย่างนั้นแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของท้องถิ่นหรือของชุมชนหรือของบ้านเมือง ผมยังไม่เห็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จเลย ยังหาตัวอย่างไม่เจอเลยมีแต่ที่ได้ทำเข้มแข็งขึ้นระดับหนึ่งในส่วนขององคาพยพที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ไม่ถึงขนาดที่จะไปนำพาสังคมและเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเป็นมวลขึ้นมามันยังไปไม่ถึงขั้นนั้น
หมอปกรณ์: ถ้ามองในเชิงกระบวนการของเรา ในภาคการเมืองที่จะเข้ามาหนุนเสริมพี่คิดว่าตรงนี้มีความจำเป็นหรือไม่ และเป็นไปได้แค่ไหน
คุณชูชัย: การเมืองคืออำนาจ ซึ่งมันก็มาได้หลายรูปแบบทั้งเป็นนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมือง จนกระทั่งเป็นนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลของประเทศระดับชาติก็ตามออกมาเป็นกฎหมายก็ตามออกมาเป็นระเบียบก็ตาม ผมเชื่อว่าหลายคนก็มีความคิดว่าจะใช้สิ่งเหล่านี้ในการที่จะทำให้ภาคประชาสังคมเติบโต แต่ในส่วนตัวผมนะผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาคประชาสังคมอ่อนแอลง เนื่องจากว่าคนยังติดอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องของอำนาจนิยมในสังคมแบบเก่า ทีนี้พอคนที่ทำงานในภาคประชาสังคมเข้าไปอยู่ในระเบียบหรืออยู่ในนโยบายแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนหรือแม้แต่ไม่ใช่นโยบายแห่งรัฐก็ตามเป็นองค์กรทางด้านเอกชนเองก็ตาม พอมันมีเรื่องของระเบียบรองรับมีอำนาจรองรับมีตำแหน่งรองรับ มันเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง คือแทนที่มันจะเข้มแข็งขึ้นนี่มันกลับเป็นตัวบั่นทอนการเกาะเกี่ยวสัมพันธ์เชื่อมโยง บั่นทอนความเป็นแนวราบหรืออย่างที่เขาแซวกันว่าเกิดขุนนางภาคประชาชนขึ้นในระดับต่างๆ อันนี้ก็จะเป็นปัญหาเหมือนกัน ทีนี้ถ้าถามว่าการเมืองจะมีนโยบายที่ต้องการทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้นก็ต้องคุยกันจริงๆ ว่าเป้าหมายต้องการอะไรถ้าบอกว่าเป้าหมายเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการที่จะดูแลชุมชนดูแลท้องถิ่นของเขาร่วมกำหนดนโยบายและร่วมบริหารจัดการอย่างจริงใจ อันนี้ก็จะเป็นนโยบายที่ดีแต่กระบวนการต้องเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับแบบนั้นด้วย คือถ้ามีเจตนานั้นแต่กระบวนการเป็นกระบวนการแบบรัฐแบบการบริหารจัดการรัฐก็จะเกิดขุนนางภาคประชาชนขึ้นและก็จะเกิดเวทีประชาสังคมปลอมๆ ขึ้นเยอะแยะไปหมด ปลอมๆ ในที่นี้ผมก็ใช้คำแรงไปคือเขามีการคุยกันจริงมีเวทีจริง แต่มันไม่ใช่ความจริงมันเป็นแค่รูปแบบแค่พิธีกรรมแค่การมีส่วนร่วมแบบฉาบฉวย มันไม่ได้เกิดจากสำนึกเกิดจากการที่เขาอยากจะทำของเขาเอง อันนี้มันมีผลกระทบอยู่เหมือนกันก็เป็นดาบสองคม
หมอปกรณ์: ตอนท้ายสุดนี่พี่มีอะไรอยากจะฝากพวกเราที่ทำงานภาคประชาสังคม
คุณชูชัย: ก็เป็นกำลังใจนะครับผมอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ในมุมที่มันค่อนข้างเป็นจุดอ่อนและก็เป็นจุดที่หลายคนฟังแล้วอาจจะหงุดหงิดหัวใจอยู่นะครับ จริงๆ แล้วในด้านของความสำเร็จของการทำงานในด้านประชาสังคมของพี่ๆน้องๆ ที่ว่าของพวกเราที่ทำงานในประชาสังคมในท้องถิ่นต่างๆ มันก็สะสมพลังงานศักย์เอาไว้เยอะนะ คือในช่วงต้นที่เราคุยกันเรามองในเรื่องของจุดอ่อนและก็อาจจะนึกว่าไม่มีความสำเร็จแต่จริงๆ แล้วมันมีความสำเร็จครับ คือมันสะสมพลังงานศักย์เอาไว้มากบ้างน้อยบ้างตามความเข้มข้นของแต่ละท้องถิ่นที่ทำกันไว้ มันก็รอวันที่มันจะกลายเป็นพลังงานจล แต่ที่ผมพูดว่ามันยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี่ก็คือพลังงานศักย์ตัวนี้มันยังไม่ยังไม่ถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงถึงจุดนั้น แต่ถามว่าประชาชนก้าวหน้าขึ้นหรือไม่ ก็ก้าวหน้าขึ้นมาก ถึงพวกที่พัฒนาไปเป็นการเมืองภาคพลเมืองที่ก้าวหน้านี่ก็เยอะนะครับในท้องถิ่นต่างๆ หรือแม้แต่เข้าไปสู่การเมืองในระบบแล้วยังคงอิสรภาพของจิตใจ ไม่เข้าไปสู่ของระบบอำนาจนิยมการเมืองแบบอำนาจนิยมก็มีอยู่อาจจะมีมากถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไป ทั้งหมดนี้มันก็เป็นตัวอย่างของความสำเร็จหรือในบางท้องถิ่นที่ เวลาภาครัฐจะทำอะไรนี่เขาต้องคุยกับภาคประชาสังคมก่อนก็มีตัวอย่างอยู่เยอะแยะในหลายจังหวัดซึ่งอันนั้นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จ ส่วนที่มันยังไปไม่ถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่พี่น้องต้องพยามต่อไปนะครับ
หมอปกรณ์: ถ้าจะไปถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคิดว่ามันจะเริ่มต้นจากตรงไหนหรือเรื่องอะไรบ้างที่พี่คิดว่าน่าสนใจ ที่สำคัญอยากให้เสนอแนะในส่วนที่มันยังไปไม่ถึงมีข้อแนะนำที่เป็นไกด์ชัดๆ ถ้าอยากไปถึงจุดที่เปลี่ยนแปลงมีข้อแนะนำยังไง
คุณชูชัย: อันที่หนึ่งคนที่ทำงานอยู่ในกระบวนการภาคประชาสังคมคงต้องสำรวจตัวเองดูก่อน ว่าเรากับคนอื่นที่มีศักยภาพในสังคม เนื้ออะไรหรือจริตอะไรของเรากับเขาที่จะไปปลั๊กอินกันได้ เช่นตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เลยเราแต่งตัวแบบของเรากับเขาแต่งตัวเป็นยังไง การพูดจาของเราภาษาที่เราใช้ในการพูดกับภาษาของคนปกติในสังคมที่เขาใช้พูดกันมันภาษาเดียวกันหรือปล่าว พูดกันรู้เรื่องมั้ยไอ้คำใหญ่ที่เราชอบพูดทั้งหลายอุดมการณ์ใหญ่ๆคำใหญ่ๆทั้งหลาย คนในสังคมเขาเก็ทหรือปล่าวหรือเข้าใจตรงกับเราไหม แค่ไหน อย่างไรแล้วเขาจำเป็นต้องพูดภาษาเดียวกับเราหรือไม่ หรือเราต้องไปพูดภาษาเดียวกับเขานี่ก็เรื่องที่เราต้องสำรวจตัวเองในเรื่องเหล่านี้ เพราะมันเหมือนคนแยกกลุ่มแยกเผ่าอยู่แล้วมันจะไปทำงานด้วยกันมันก็คงจะไปกันได้ยากพอสมควร
อันที่สองก็คือผมคิดว่าคนที่จะทำงานประชาสังคมได้สำเร็จมันต้องพึ่งตัวเองได้ อันนี้คือหัวใจใหญ่ พูดไปแล้วต้องขอโทษพี่น้องนะครับถ้าไปกระทบถูกใคร คือผมคิดว่าเราจะทำงานในการเปลี่ยนแปลงสังคมเราจะต้องไม่ได้ทำงานอยู่บนความเดือดร้อนหรือบนความที่เราอ่อนแอ เช่นเราอยากจะไปช่วยชาวบ้าน เราเองต้องพึ่งตัวเองได้ด้วย ถ้าตัวเองพึ่งตัวเองไม่ได้แล้วบอกว่าตัวเองกำลังไปช่วยชาวบ้านก็ทำด้วยความมีใจซึ่งก็น่ายกย่องจะมีจิตใจกรุณาต่อคนอื่นเป็นพระโพธิสัตว์หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันจะไม่ได้รับความยอมรับคือคนที่จะถูกช่วยเหลือนี่มันไม่เชื่อ ตัวคุณๆยังเอาตัวไม่รอดแล้วคุณจะมาบอกให้เราเอาตัวรอดหรือว่าให้เราพึ่งตัวเองได้ มันก็ฟังดูขัดแย้งกันมากเลย กับการที่สมมติว่าถ้าเราแข็งแรงแล้วเราใช้ศักยภาพส่วนเหลือของเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาเรื่องของความสามารถเรื่องของเงินหรืออะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วเราลงไปทำงานช่วยเหลือเขา การเข้าใจการยอมรับได้นี่มันจะมีมากกว่า งั้นพี่น้องเราที่ทำงานในภาคประชาสังคมที่ผมชอบแซวอยู่เรื่อยๆก็คือรับจ้างทำจ็อบนะ อันนี้ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ส่งเสริมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเพราะผมรู้สึกว่ามันแค่ได้ทำกิจกรรมเฉยๆ คือไปทำเวทีไปจัดเวทีหรือเคลื่อนไหวอะไรก็ตามที่มันเป็นลักษณะเหมือนของความหวังดีของหน่วยงานระดับชาติและก็ให้ทุนลงไป และก็ไปทำกันนะครับ ถ้าประยุกต์ไม่เป็นหรือประยุกต์ให้มันเข้ากับเงื่อนไขท้องถิ่นจริงๆ ไม่ได้ ทำแค่เป็นไปตามจ็อบคงไม่ได้เกิดประโยชน์แบบยั่งยืน มันรังแต่จะทำให้เราเหนื่อย แต่ผมเชื่อว่าคนที่ทำเขาบอกว่าเขาไม่เหนื่อยนะและเขามีความสุขนะ ก็เป็นสิ่งที่ดีนะก็ทำไปแต่ว่าต้องถามต้องทบทวนตัวเองว่า พอทำไปหลายๆครั้งหลายๆปีแล้ว ต้องลองประเมินตัวเองดูว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ มันมีมากน้อยแค่ไหน คุ้มกับทรัพยากรที่ทำไปหรือไม่ แต่ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่สนับสนุนจากส่วนกลางต่างๆเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์นะครับ ก็เป็นความปรารถนาดีเจตนาดีที่จะสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ลงไปให้คนทำงานได้มีโอกาสทำงาน ผมว่าหัวใจเรื่องพึ่งตนเอง งานประชาสังคมที่แท้ มันก็คืองานที่ประชาชนพลเมือง อยากจะทำอะไรให้กับท้องถิ่นของตัวเอง สิ่งที่มันจะเกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้น่าจะเกิดจากสิ่งที่ว่าเขาได้ลงมาช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือทำงานอะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งถ้าเขาแข็งแรงดีเขาน่าจะทำได้สำเร็จง่ายกว่า ก็คิดว่าเป็นสองประเด็นนี้ที่เป็นเรื่องที่อยากจะแนะนำ
หมอปกรณ์: ก็ตรงกับที่อาจารย์อ้อพูดผมคิดว่าตรงกันนะ อ.อ้อพูดถึงคำว่าฐานที่มั่นฐานที่มั่นคง ฐานที่มั่นตัวเองเอาฐานที่มั่นตัวเองให้มั่นคงก่อนควบคู่กันไปกับการที่ทำงานช่วยเหลือคนอื่นด้วย
คุณชูชัย: ประการที่สาม ผมเองกับเพื่อนบางคนสรุปว่า ประเด็น ที่ อ.อ้อได้พูดถึงเรื่องฐานที่มั่น ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้อหาเดียวกันหรือไม่นะ ส่วนพวกเราเองนี่ก็ได้มีการสรุปของพวกเราเองว่าทุกคนต้องมีฐานรากของตัวเอง ขณะนี้ผมและเพื่อนที่เป็นแกนนำในบางจังหวัดเราเห็นว่าการทำงานที่เป็นการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ๆ หรือภาพที่เป็นกระบวนการให้เห็นภาพใหญ่ของสังคม เรารู้สึกว่าไม่ใช่แล้วคือทุกคนต้องมีฐานที่มั่นมีราก ฉะนั้นเราอยากให้คนทำงานประชาสังคมที่แตะต้องกับพื้นที่จริงแล้วตัวคนในท้องถิ่นจริง มากกว่าที่จะเป็นนักประชาสังคมที่ไปขับเคลื่อน หรือไปเคลื่อนไหวประชาสังคมในพื้นที่ต่างๆ ต้องถามว่าบ้านคุณเองรอบบ้านคุณจะใกล้ตัวหรือไกลตัวซึ่งศักยภาพขบวนการประชาสังคมแข็งแรงแค่ไหน
หมอปกรณ์: งั้นประชาสังคมก็คือไม่ใช่ว่าจะทำเหมือนกันในทุกพื้นที่
คุณชูชัย: ไม่มีทางเหมือนกันอยู่แล้วเพราะแต่ละพื้นที่จริตก็ไม่เหมือนกันคนก็คนละกลุ่มกันเนื้องานก็ต่างกัน ถ้าบอกว่าเราทำงานประชาสังคมก็ต้องถามว่าคนรอบข้างคุณเขารู้จักคุณแค่ไหน เขารู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของเขาในการที่ดูแลท้องถิ่นของเขาหรือปล่าว ถ้าเป็นนักบุญที่มาโปรดผมคิดว่ามันไม่มีราก อันนี้เป็นเรื่องที่สามที่สำคัญ
หมอปกรณ์: ผมคิดว่าประเด็นที่พี่พูดนี่ที่ยังไม่มีใครพูดก็คือว่าทำให้เห็นว่าคำว่าประชาสังคมนี่มันไม่ใช่แค่คนที่เรียกตัวเองว่าประชาสังคม เหมือนคนในพระพุทธศาสนามันก็มีทั้งพระ ทั้งประชาชนทั้งคนทั่วไป ประชาสังคมมันไม่ใช่ตัวบุคคล แต่มันมีทั้งสองกลุ่มที่ทำงาน
คุณชูชัย: คือประชาสังคม มันคือคนทั้งหมดอย่างที่บอก มีพระ นักธุรกิจ มีพ่อค้า คนจริงตัวจริงเสียงจริงที่เขาเป็นประชาชนในท้องถิ่นในพื้นที่ถ้าเขาเกาะเกี่ยวและทำงานมีปฏิสัมพันธ์กัน อันนั้นคือประชาสังคม
หมอปกรณ์: คำว่าประชาสังคมในนิยามของพี่มีความหมายอย่างไร
คุณชูชัย: ผมคิดว่าประชาสังคมที่แท้จริง ก็คือตัวจริงเสียงจริงในพื้นที่ ที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ซึ่งมันมีทั้งในมิติของอาชีพ ทั้งมิติของรายได้ มิติของสถานะตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ถ้าประชาชนหรือคนเหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่ๆ มีความหลากหลายเหล่านี้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ร่วมกันคิดร่วมกันทำในเรื่องราวที่เกี่ยวกับท้องถิ่นหรือบ้านเมืองของเขาหรือชุมชนของเขา อย่างนี้ผมถือว่าเป็นประชาสังคม แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งแล้วก็ไปชวนเขาทำโน้นทำนี่หรือจะไปผลักดันให้เขาทำโน้นทำนี่แล้วเขาอาจจะร่วมบ้างไม่ร่วมบ้างแล้วพอเราไปชวนเขาทำเขาก็ทำพอเราหยุดเขาก็หยุด อย่างนี้ผมคิดว่ามันไม่ใช่ประชาสังคม
เรียบเรียง: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

Be the first to comment on "จุดเปราะบางของภาคประชาสังคม: ข้อสังเกตจากนักธุรกิจเพื่อสังคม"

Leave a comment

Your email address will not be published.