ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” (สสสส.) รุ่นที่ 1 จำนวน 92 คน ของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการสัมมนาเพื่อนำเสนอ (ร่าง)
รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี
หลักสูตรนี้ถือได้ว่าเป็นความพยายามของกลุ่มนักคิดนักวิชาการอิสระภาคประชาสังคมที่จะสานต่อข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะถูกรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมินเฉยและอำนาจรัฐทหารตำรวจมองข้ามไปหมดแล้วก็ตาม
องค์ประกอบของนักศึกษาผู้ใหญ่เหล่านี้น่าสนใจมาก เพราะล้วนแต่เป็นผู้ที่สนใจ เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ในปัญหา จชต. ทั้งนั้น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในหลักสูตรนี้คงช่วยทำให้ทุกคนทุกฝ่ายได้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมชะตากรรมและเกิดความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายที่จะแก้ปัญหาได้ลุ่มลึกมากขึ้น
อาจารย์หมอประเวศ วะสีได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถานำ ท่านชี้ประเด็นว่าประเทศไทยในขณะนี้กำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหาเอกนิยมในสังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่งความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและรุนแรงที่สุด
สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมาตั้งนมนานแล้ว คือมีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามพื้นที่ภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แต่ถูกบังคับให้ต้องเป็น “คนไทย” ในแบบฉบับเดียวกัน ด้วยแนวคิด “เอกนิยม” และการ “รวมศูนย์อำนาจ” การปกครองเข้ามาไว้ที่ส่วนกลาง โดยส่งคนไปปกครองแว่นแคว้น เมือง และชุมชนท้องถิ่น จึงเกิดความตึงเครียดไปทั้งองคาพยพเพราะผิดธรรมชาติ
ท่านยกตัวอย่างธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการสูงสุดจนเกิดสมดุลย์อย่างยิ่งอยู่ในร่างกายของมนุษย์นี่เอง ร่างกายของเรามีความแตกต่างหลากหลายกันสุดประมาณ เซลล์และอวัยวะแต่ละชนิดมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปร่างลักษณะและบทบาทหน้าที่ หัวใจ ตับ ปอด มันสมอง นิ้วมือนิ้วเท้า ฯลฯ ไม่เหมือนกันเลย แต่อยู่ร่วมเป็นร่างกายและชีวิตเดียวกันได้
หลักของธรรมชาติที่เป็นอย่างนี้ได้ ท่านชี้ว่ามี 3 ประการ
1. Identity หรือ อัตลักษณ์ เซลล์และอวัยวะทุกชนิดต่างมีอัตลักษณ์ของตน จะไปบังคับให้มีอัตลักษณ์แบบเดียวกันหมดไม่ได้
2. Autonomy หรือ อัตโนมัติ เซลล์และอวัยวะทุกชนิดต่างมีอัตโนมัติในการแสดงบทบาทหน้าที่ของตน หรือ Self Government นั่นเอง สมองจะบังคับให้หัวใจทำงานแบบตนไม่ได้
3. Integration หรือ บูรณาการ ทุกเซลล์ทุกอวัยวะต่างทำหน้าที่อย่างประสานสอดคล้องกันเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งในการบูรณาการที่ว่านี้ร่างกายของเรามีระบบการสื่อสารที่ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุด โดยทำงานผ่านระบบ DNA, ระบบประสาท และระบบสารเคมี
ระบบสังคมมนุษย์ทั่วโลกมีวิวัฒนาการเพียงแค่ 2 ล้านปีเท่านั้น จึงไม่อาจเทียบเท่าระบบร่างกายของมนุษย์ซึ่งมีวิวัฒนาการมาถึง 4,500 ล้านปี แต่เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาเชิงประยุกต์ได้ด้วยสติปัญญา
ยิ่งในโลกยุคใหม่ กระแสชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาต่อต้านโลกาภิวัฒน์กำลังแพร่กระจายไปทั่วทุกประเทศ ทุกทวีปแล้ว ประเทศไทยเองก็กำลังปรับตัวเช่นกันแม้ว่าจะช้ามากก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นสูงและอำนาจรัฐทหารตำรวจ ดูเหมือนว่ายังงุนงงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาคใต้ สังคมไทยทั่วไปซึ่งถูกโปรแกรมสมองให้ยึดมั่นใน “เอกนิยม” ก็อยู่ในภาวะที่หงุดหงิดและสับสนต่อปัญหาไฟใต้เช่นกัน
จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมที่จะต้องชูหลักการและแนวคิด “ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” ร่วมสร้างสรรค์ Identity, Autonomy และ Integration ในระดับชมชนฐานรากไปพร้อม ๆ กัน โดยเริ่มจากสังคมย่อย ๆ (partial societies) ในระดับกลุ่ม องค์กร เครือข่าย ชุมชน และประชาคมท้องถิ่น ให้มีความมั่นคงทั้งในเชิงความคิด จิตสำนึก คุณภาพ และประสิทธิภาพ
ผมเชื่อว่าภายใน 10 ปี ต่อจากนี้ ประเทศของเราต้องเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากในทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งน่าจะเริ่มจากด้านการเมืองการปกครอง
จะรุ่งโรจน์ (evol) หรือ อับเฉา (devol) คงได้ทันเห็นกันครับ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
13 กรกฎาคม 2552
Be the first to comment on "ปัญหาเอกนิยม"