ไฟใต้กับการเผาผลาญทุนทางสังคม
หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นที่แน่ชัดว่า ความมั่นคงของมนุษย์ และทุนทางสังคมในพื้นที่กำลังสั่นคลอนในทุกมิติ
ทุนมนุษย์ถดถอย ชาวบ้านบาดเจ็บ ล้มตาย ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ขวัญกำลังใจอ่อนแอลงทุกที
ทุนเครือข่ายเปราะบาง การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นในด้านต่างๆ ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากคนในพื้นที่น้อยลง คนทำงาน/ แกนนำ ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้การทำงานไม่สะดวกขาดความคล่องตัว จนบางครั้งต้องหยุดทำงานไปบ้างและไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานหรือกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเกิดความไม่ไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเกิดความหวาดระแวงด้วยกันทุกฝ่าย
ทุนวัฒนธรรมร่อยหรอ ความเชื่อถือไว้วางใจของผู้คน ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ ทั้งในเชิงเครือญาติ ระหว่างศาสนิก ทั้งในและระหว่างชุมชนก็ห่างเหินและเปราะบาง
ทุนทางสังคม ทั้งที่เป็นทุนคน เครือข่าย และทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่องของความเชื่อถือไว้วางใจของคนในสังคมนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การสานและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง ความแตกแยกที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นทุน ในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การปกปักษ์รักษาทุนทางสังคมในพื้นที่จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เป็นรากฐานในการเยียวยา ฟื้นฟู สภาพสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังบอบช้ำ ขณะเดียวกันก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับผู้คนชุมชน และท้องถิ่นที่ต้องเผชิญอยู่กับสถานการณ์ดังกล่าว
การปกปักษ์รักษาทุนทางสังคมใน จังหวัดชายแดนภาคใต้
การรักษาและฟื้นฟูทุนทางสังคมในพื้นที่ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งการปกปักษ์รักษาทุนทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอาศัยภาคประชาชน ภาคประชาสังคมเป็นหลัก เพราะนั่นคือ พลังที่เป็นกลาง ภาคประชาสังคมคือ พลังที่ไม่แบ่งขั้วแยกฝ่ายและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายก่อการ หรือฝ่ายใดๆ ความเป็นกลางจะช่วยสร้างหรือฟื้นฟูสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ และจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้น
การสร้างและพัฒนาแกนนำชุมชนและประชาคมในพื้นที่มีความจำเป็น แกนนำเหล่านี้ต้องมีศักยภาพ มีทักษะในการทำงานสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้เกิดการคิดและทำกิจกรรมหรือโครงการเชิงพัฒนาร่วมกันของประชาชน กลุ่ม องค์กร เครือข่ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นโครงการหรือกิจกรรมของพวกเขาและที่เกิดจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง กระบวนการดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ในการที่จะดูแลพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
การสร้างและพัฒนาเครือข่ายก็เป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อเชื่อมโยง แกนนำ กลุ่ม องค์กร ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน อันจะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง มีความหวาดระแวงกันในทุกระดับ ส่วนหนึ่งช่วยให้แกนนำ รู้สึกอุ่นใจ เกิดความมั่นใจในการขยับงานพัฒนาในพื้นที่ และการทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยยกระดับการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นขบวนได้ ซึ่งจะเป็นพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในอีกระดับหนึ่ง
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และประชาสังคม ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ เป็นระยะเวลา 3ปี (มิถุนายน 2552-พฤษภาคม 2555) เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของผู้คนในชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นพัฒนาทุนทางสังคมด้วยกระบวนการงานพัฒนา ผ่าน“กองทุนประชาสังคม” และ “ทุนพัฒนาชุมชน” ด้วยความเชื่อที่ว่า
“ทุนทางสังคมเป็นรากฐานสำคัญในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ดาวน์โหลดใบสมัคร “กองทุนประชาสังคม” …คลิ๊ก
Be the first to comment on "โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.)"