ปฏิรูปประเทศไทย: ศ.นพ.ประเวศ วะสี

1. ไม่มีรัฐบาลใดแก้ปัญหาประเทศได้ (เพราะใช้แต่กลไกที่เป็นทางการ)

สังคมไทยติดอยู่ในมายาคติ 4-5 อย่าง ที่ทอนพลังและทำลายตัวเอง มายาคติอย่างหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญกับความเป็นทางการมากเกินไป ที่จริงความไม่เป็นทางการมีมาก่อน ใหญ่กว่า และมีสาระมากกว่า ความเป็นทางการ ภาษาอังกฤษว่า Formal ก็ติดใน Form หรือรูปแบบมากกว่าสาระ
โครงสร้างที่เป็นทางการนั้น เป็นอำนาจแยกส่วนเป็นแท่งๆ (รูป ก.) แท่งเหล่านี้ ใช้อำนาจมากกว่าปัญญา จึงทำงานยากๆ ไม่สำเร็จ สังคมปัจจุบันซับซ้อนและยาก แก้ไขปัญหา หรือทำการพัฒนาด้วยอำนาจไม่สำเร็จ
(ก) กระทรวงทบวงกรมเป็นอำนาจแยกส่วนเป็นแท่งๆ เป็นกลไกอำนาจมากกว่าปัญญา พาให้ไม่สำเร็จ กันเป็นพลังแห่งความสำเร็จ
ทุกรัฐบาลมุ่งแต่ใช้กลไกที่เป็นทางการ จึงไม่สำเร็จและจะไม่สำเร็จ แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในแต่ละพื้นที่มีบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบันต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ต่างคนต่างอยู่ เพราะความเป็นทางการ หากบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะเกิดอิทธิพลังแห่งความสำเร็จ (รูป ข.)
(ข) เครือข่ายการเรียนรู้ร่วม
การบริหารจัดการใหม่ คือ การส่งเสริมการรวมตัวรวมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง เกิดเป็นเครือข่ายของความร่วมมือร่วมใจของคนไทยเต็มประเทศ
เครือข่ายของความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ จะลดพลังทางลบเพิ่มพลังทางบวก พาประเทศออกจากวิกฤตการณ์ไปสู่การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ประเทศไทยมีทรัพยากรต่างๆ มากเกินพอที่จะสร้างความสุขให้คนไทยทุกคน ถ้าเราใช้อิทธิพลังหรือพลังของเครือข่ายความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ
2. ความฝันใหญ่ของคนไทยร่วมกัน
การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก เป็นจินตนาการใหญ่ ประเทศใดหรือองค์กรใดมีจินตนาการใหญ่ ประเทศนั้นองค์กรนั้นจะมีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นจริง การทำอะไรให้มีพลังไม่ใช่เริ่มต้นที่ความรู้ เพราะความรู้มักจะบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะความรู้มีข้อจำกัดจึงทอนพลัง ส่วนจินตนาการใหญ่ไม่มีข้อจำกัดจึงเพิ่มพลัง
คนไทยต้องมีจินตนาการใหญ่ร่วมกัน ว่า เราจะร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
3. ประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเป็นอย่างไร
ควรมีการระดมความคิดกันทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ว่า หมู่บ้านน่าอยู่เป็นอย่างไร ท้องถิ่นน่าอยู่เป็นอย่างไร จังหวัดน่าอยู่เป็นอย่างไร และประเทศน่าอยู่เป็นอย่างไร แทนที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเป็นผู้นิยามว่าประเทศน่าอยู่ที่สุดเป็นอย่างไร คนไทยทั้งหมดจะเป็นผู้นิยาม ในกระบวนการนี้ จะเป็นการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม ซึ่งจะเกิดพลังขับเคลื่อนมหาศาล
ตัวอย่างองค์ประกอบของการเป็นประเทศน่าอยู่
(1) มีเศรษฐกิจดี ประชาชนมีสัมมาชีพอย่างถ้วนหน้าและมั่นคง
(2) มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจไมตรีจิต ไม่ทอดทิ้งกัน
(3) มีสันติประชาธรรม ที่มีการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน มีความเป็นธรรม
(4) มีสิ่งแวดล้อมดี ที่เกื้อกูลต่อชีวิต
(5) มี สสส. คือ สุนทรียธรรม สันติภาพ และ สุขภาพ
ทั้ง 5 รวมกันอาจเรียกว่า เบญจลักษณ์ ของการเป็นหมู่บ้านน่าอยู่ ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดน่าอยู่ ประเทศน่าอยู่
เบญจลักษณ์ดังกล่าวอาจเป็นโครงให้เพิ่มเติม ตกแต่ง ต่อเติม อย่างใดก็ได้ตามปรารถนาของแต่ละกลุ่ม
4. การพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
การจะเป็นประเทศน่าอยู่ ต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 เรื่องเชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย ซึ่งอาจเรียกว่า “บูรณาการ 8″
การพัฒนาอย่างบูรณาการ เอากรมหรือหน่วยงานเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะกรมหรือหน่วยงานแยกเป็นเรื่องๆ ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เรามีตัวอย่างของหมู่บ้านและตำบล ที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ แล้วเกิดความร่มเย็นเป็นสุขประดุจสวรรค์บนดิน ควรส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้าน ทุกท้องถิ่น และทุกจังหวัด สามารถรวมตัวกันพัฒนาอย่างบูรณาการ จนเกิดสภาวะร่มเย็นเป็นสุขเต็มพื้นที่
ถ้า มหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งร่วมมือกับจังหวัดหนึ่งจังหวัดในการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด ภายใน 5 ปี ทุกชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็ง ภายใน 10 ปี บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข
ภาคธุรกิจมีโครงสร้างอย่างกว้างขวางและบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก หากภาคธุรกิจรวมตัวกันและทำงานพัฒนาสังคม อย่างเป็นระบบ จะเป็นพลังมหาศาลในการสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ภาคธุรกิจน่าจะรวมตัวกันเป็น “สภานักธุรกิจเพื่อการพัฒนา” (Business Council for Development) เชื่อมโยงกับองค์กรทางธุรกิจที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น และทั้งจังหวัด ปัญหาต่างๆ ต่อให้ยากเพียงใด ไม่น่าจะทานพลังแห่งความร่วมมือของคนไทยได้
5. ปฏิรูปประเทศไทย อย่างน้อย 10 เรื่อง
นอกจากการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ยังมีเรื่องหรือประเด็นใหญ่ที่ต้องการปฏิรูปอีกหลายเรื่อง เรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน จะปฏิรูปแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาทิเช่น ปฏิรูปการเมือง จะไม่สำเร็จ เครื่องดนตรีทั้งวงต้องบรรเลงเพลงเดียวกัน รูปข้างล่างแสดงประเด็นใหญ่ๆ 10 เรื่อง ที่เชื่อมโยงกัน แต่ละเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ๆ และยากๆ และยังแตกแขนงแยกย่อยไปได้อีก ควรมีบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน ที่จับประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือมากกว่า
ศึกษาค้นคว้า ให้เกิดความเข้าใจชัดเจน และผลักดันไปสู่การปฏิบัติ
ความจริงมหาวิทยาลัยต่างๆ มีอาจารย์และนักวิชาการจำนวนมาก ควรจะเป็นขุมกำลังของการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย การที่มหาวิทยาลัยไม่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพราะมหาวิทยาลัยทำงานโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ขาดการรวมตัวกันทำงานเชิงประเด็น นอกจากโครงสร้างที่เป็นคณะวิชา ภาควิชา สาขาวิชา มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิชาการรวมตัวกันข้ามองค์กร ข้ามสาขาวิชา ตามประเด็น เช่นที่ยกตัวอย่าง มา 10 เรื่อง หรือประเด็นอื่นใดที่คิดว่ามีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ และเกาะติดประเด็นนั้นๆ ส่งต่อความรู้ไปให้สังคมเคลื่อนไหวไปสู่ความสำเร็จ
6. เครือข่ายปฏิรูปประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (บุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน)
ในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดนี้ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง จะทำได้สำเร็จ แต่บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันต่างๆ สามารถคิดโดยอิสระ เคลื่อนไหวเข้ามาเชื่อมโยง ด้วยมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ใหญ่ร่วมกัน คือ เปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศไทย
ในที่สุด จะเกิดเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่จุดลงตัวใหม่ด้วยพลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ และพลังทางสันติวิธี ที่ทุกคนเป็นอิสระ สร้างสรรค์เต็มที่ ไม่มีใครหรือองค์กรใดมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนทุกกลุ่มเข้ามาเชื่อมโยงกันด้วยความสมัครใจและความสุขในการได้เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
7. เซลล์สมองทางสังคม ศูนย์ข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ความจริงในแต่ละพื้นที่มีบุคคล องค์กร สถาบัน จำนวนมาก แต่ต่างคนต่างอยู่ จึงไม่มีพลังสร้างสรรค์ (รูป ก.) เหมือนสังคมไม่มีเซลล์สมอง
(ก) ในแต่ละพื้นที่มีบุคคล องค์กร สถาบันจำนวนมาก แต่ต่างคนต่างอยู่ จึงไม่มีพลังสร้างสรรค์
รูป (ข.) แสดงเซลล์สมองทางสังคมทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในการปฏิบัติ ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ไปสู่ความสำเร็จ
(ข) เซลล์สมองทางสังคม ทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ไปสู่ความสำเร็จ
เซลล์สมองทางสังคมทำหน้าที่ 6 อย่าง คือ
(1) สำรวจข้อมูลในพื้นที่
(2) ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ
(3) มีการจัดการความรู้ คือ ดึงความรู้เก่าที่มีอยู่ในตัวคนออกมาใช้
(4) วิจัยสร้างความรู้ใหม่ที่ต้องการใช้งาน
(5) สังเคราะห์ประเด็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ
(6) ทำการสื่อสารทั้งในพื้นที่และกับภายนอก
หน่วยที่ทำหน้าที่เซลล์สมองอาจเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้ว อาทิเช่น อบต. โรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ อยู่ที่การปรับตัวให้ทำหน้าที่ให้ครบทั้ง 6 ประการ นักพัฒนาเอกชนสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเซลล์สมองทางสังคม
มหาวิทยาลัยควรเป็นเซลล์สมองขนาดใหญ่ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนจากการเป็นสังคมอำนาจ ไม่มีเซลล์สมอง ซึ่งไม่ได้ผล ไปเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมที่มีเซลล์สมอง เกิดผลสัมฤทธิ์สูง สามารถสร้างสังคมที่คนไทยทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความสุขได้
ควรมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เพื่อรวบรวมและกระจายข้อมูลข่าวสารให้รู้กันทั่วว่าใคร ที่ไหน กำลังทำอะไร เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็สามารถเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ศูนย์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
เพื่อนคนไทยครับ ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการณ์ที่ยากสุดๆ ไม่มีใคร องค์กรใด สถาบันใด หรือรัฐบาลใด สามารถแก้ไขได้ นอกจากคนไทย กลุ่ม องค์กร สถาบัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ไม่ได้ใช้อำนาจ แต่ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือปัญญา เป็นเครื่องมือ เกิดพลัง 4 คือ
พลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ พลังแห่งสันติวิธี ซึ่งเป็นอิทธิพลังหรือพลังแห่งความสำเร็จ ปฏิรูปประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่ร่มเย็นเป็นสุข หรือประเทศที่น่าอยู่ที่สุด

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Be the first to comment on "ปฏิรูปประเทศไทย: ศ.นพ.ประเวศ วะสี"

Leave a comment

Your email address will not be published.