“เมื่อราชการจับมือประชาสังคม”

            ข่าวสารบ้านเมืองที่เรารับรู้รับทราบผ่านสื่อมวลชนวันละหลายชั่วโมงในช่วงนี้ทำเอาพรรคพวกของผมมีอาการประสาทกินไปตามๆกัน ด้านหนึ่งมีแต่ความวุ่นวายทางการเมืองและการแย่งชิงอำนาจส่วนบน ทั้งการต่อสู้ในสภาและนอกสภา

 ด้านหนึ่งก็มีแต่ความเห็นหรือถ้อยคำโจมตีทำร้ายกันที่สื่อบรรจงนำเสนอ โดยที่คนเสพไม่สามารถจับความหมายของข่าวได้ บางคนตั้งสติได้และเลิกเสพข่าวสารไปแล้ว ด้วยเห็นว่ามีแต่เรื่องมายาสาไถยที่ไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตการทำมาหากินของผู้คน หวังว่าเพื่อนคนไทยจะสามารถเรียนรู้และปรับตัวไปตามสภาพนะครับ

ท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมและการเมือง (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ: ก.พ.ร.) กำลังซุ่มทำการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีการทำงานอย่างสร้างสรรค์ มีประเด็นศึกษาบางส่วนพยายามค้นหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมว่าควรจะต้องดำเนินการในเรื่องใดบ้าง เรื่องดีแบบนี้ไม่มีเนื้อที่ให้เป็นข่าวครับ
ผมขอใช้คอลัมภ์นี้นำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ส่วนตัวต่อเรื่องนี้ เพื่อการพิจารณาของสาธารณชน เพื่อนข้าราชการ และก.พ.ร. บางประการ
1. ความชัดเจนทางนโยบายและจิตสำนึก
            ความชัดเจนทางนโยบายและจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ ในรอบสิบปีที่ผ่านมาผมเห็นความพยายามและความหวังดีของเพื่อนข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองส่วนหนึ่งที่อยากเห็นบทบาทภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ นโยบายและโครงการประชานิยมที่ถูกผลักดันออกมาเป็นชุดถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมในเรื่องนี้ แต่ด้วยเหตุที่ผู้กำหนดนโยบายและข้าราชการโดยส่วนใหญ่ในทุกระดับยังขาดความเข้าใจและมีจิตสำนึกอย่างจริงจัง จึงกลายเป็นการทำตามแฟชั่นเท่านั้น 
            ภาคประชาสังคมคือประชาชนพลเมืองที่มีความแข็งแรงและพึ่งตนเองได้แล้ว และมีจิตอาสามาดูแลเรื่องส่วนรวมของชุมชนท้องถิ่นและสังคมประเทศชาติ รวมทั้งการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อ่อนแอและด้อยโอกาส พวกเขาอาจเป็นผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิในสังคม นักวิชาการ ผู้อาวุโส นักคิดนักพัฒนา ปราชญ์ชาวบ้าน นักธุรกิจ ข้าราชการ ศิลปิน นักวิชาชีพ หรือใครก็ตามที่มีจิตสาธารณะและอาสาเพื่อส่วนรวม
            จะจับมือทำงานร่วมกันทั้งทีก็ต้องเห็นคุณค่ากัน เคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน ไม่ทำตัวเป็นเจ้านายหรือผู้มีบุญคุณต่อประชาชนอยู่ร่ำไป ทำงานร่วมกันก็ต้องหวังว่าภาคประชาชนจะแข็งแรงยิ่งขึ้น ไม่กินแรง ไม่เอาเปรียบ ไม่คิดว่าประชาชนเป็นไพร่ทาสที่ต้องคอยตัดสินใจหรือจัดการให้อยู่ร่ำไป และต้องไม่คิดว่าภาคประชาสังคมเป็นพวกที่จะมาขอทานงบประมาณเป็นอันขาด
2. กรอบภารกิจที่ชัดเจนและปฏิบัติได้
            ในภารกิจการงานที่ภาครัฐ หน่วยราชการ และองค์กรปกครองท้องถิ่นรับผิดชอบอยู่นั้น ควรต้องสำรวจทบทวนอย่างจริงจังว่ามีสิ่งใดที่ภาคประชาสังคมทำได้ดีและประหยัดกว่าก็ให้ระบุชัดออกมา อย่าคลุมเครือ อย่าหวงก้างหรือเกรงใจฝ่ายปกครองแบบที่ทำตอนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
            แน่นอนภารกิจเหล่านี้ย่อมเป็นงานด้านการพัฒนา ไม่ใช่งานด้านความมั่นคงซึ่งภาครัฐต้องยึดกุม ในงานพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคคงเป็นภารกิจของภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนเป็นหลัก แต่หากเป็นงานพัฒนาในด้านเศรษฐกิจชุมชนรากหญ้า การดูแลฐานทรัพยากร และการพัฒนาทุนทางสังคมแล้ว ภาคประชาสังคมกับองค์กรท้องถิ่นน่าจะทำได้ดีกว่าอำนาจรัฐส่วนกลาง
            ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเช่น งานบริการสาธารณะในชุมชนท้องถิ่น การดูแลจัดการกับขยะและสิ่งแวดล้อมชุมชน อย่างนี้องค์กรชุมชนถนัดมาก งานดูแลผู้ด้อยโอกาสที่มุ่งหวังผลเชิงคุณภาพก็ต้องอาศัยพวกองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์หรือองค์กรชุมชนทำงานร่วมกับท้องถิ่นจะดีกว่าหน่วยราชการไปทำเอง งานพัฒนาชุมชน กลุ่ม เครือข่ายประชาชนต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาประชาธิปไตย กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องควรปล่อยมือให้ภาคประชาสังคมเขาทำเถอะครับ ทางราชการหันมาทำหน้าที่หนุนเสริมทางด้านวิชาการและนโยบายก็พอ
3. ภารกิจและงบประมาณไปด้วยกัน
            ในภารกิจของทางราชการ ไม่ว่างานอะไร ใครจะทำล้วนต้องใช้งบประมาณรัฐด้วยกันทั้งนั้น เมื่อคิดตกแล้วว่ามีสิ่งใดจะสามารถกระจายบทบาทให้ภาคประชาสังคมรับผิดชอบ จำเป็นต้องจัดระบบงบประมาณสนับสนุนตามไปด้วย
            ที่ผ่านมา ระเบียบราชการได้เปิดช่องทางให้หน่วยราชการสามารถทำงานและสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคประชาชนได้บ้างแล้ว แต่ยังมีความยากลำบากในการดำเนินงาน และมักเป็นสาเหตุให้ภาคประชาชนยิ่งอ่อนแอ หรือไม่ก็สะสมความคับแค้นข้องใจตลอดเวลา การใช้เงินงบประมาณในหมวดอุดหนุนทั่วไปอยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ เมื่อตกลงระเบียบหรือเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินกับกรมบัญชีกลางแล้วก็สามารถนำเงินออกไปสนับสนุนประชาชนที่เดือดร้อนหรืออุดหนุนกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในการทำงานพัฒนาได้ เงินช่วยเหลือประชาชนเป็นประโยชน์ในการแก้ความเดือดร้อนเฉพาะหน้า  แต่ควรตระหนักว่ามักไม่ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้านหนึ่งบ่มเพาะค่านิยมพึ่งพา ด้านหนึ่งยิ่งทำให้ข้าราชการสำคัญตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย
            วิธีการใช้เงินหมวดอุดหนุนทั่วไป ที่หน่วยงานพัฒนาของรัฐ นำไปสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนทำงานสาธารณะนั้น ถ้าเป็นหน่วยราชการมักทำในรูปของการจัดกิจกรรม โครงการที่ภาครัฐเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด ประชาชนเป็นเพียงผู้มาร่วมกิจกรรมตามที่ถูกเชิญหรือกวาดต้อนมาเท่านั้น แล้วก็รับค่าตอบแทน ค่าเดินทาง หรือค่าอาหารไปตามเงื่อนไขของผู้จัด เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำรายงานสรุปได้ครบถ้วน ปีหนึ่งๆ ประเทศได้ใช้เงินแบบนี้ไปไม่น้อย 
            ถ้าเป็นองค์การมหาชนก็ดีขึ้นหน่อย เพราะสามารถออกระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณได้มากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการทำงานกับองค์กรภาคประชาชน และช่วยให้องค์กรภาคประชาชนแข็งแรงเร็วขึ้นบ้าง
            ผมคิดว่าก.พ.ร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรขบคิดหาวิธีจัดสรรทรัพยากรภาครัฐซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะให้สามารถไปหนุนการทำงานพัฒนาขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งผมคิดว่าควรมี 2 ลักษณะของการสนับสนุนงบประมาณคือแบบให้ทุนอุดหนุน (Grants) ใช้สำหรับกรณีที่องค์กรภาคประชาชนอยากทำอะไรและของบประมาณสนับสนุนมา อีกแบบหนึ่งคือการจ้างทำ (Outsourcing) ใช้สำหรับกรณีที่หน่วยราชการหรือท้องถิ่นต้องการจ้างองค์กรภาคประชาชนทำภารกิจบางอย่างที่ตนไม่อยากทำเองหรือทำเองไม่ได้ งานแบบนี้ที่ผ่านมาหน่วยราชการมักใช้วิธีจ้างบริษัทเอกชน ทั้งๆที่เป็นกิจกรรมที่ภาคประชาสังคมทำได้ดีกว่า
4. ปรับทัศนคติข้าราชการ
            ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น หากเข้าใจกันในกลุ่มแคบๆ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐก็คงไม่มีประโยชน์นัก การรื้อปรับกระบวนทัศน์ของบุคลากรภาครัฐทั้งองคาพยพมีความจำเป็นมาก จะต้องมีแผนดำเนินการอย่างมีระบบและทั่วถึง ทั้ง Re-orientation, Re-training, Re-thinking
            บุคลากรภาครัฐในวันนี้ต้องเรียนรู้และปรับตัวกันมากหน่อยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการรุ่น 40 ส่วนรุ่น 50 และผุ้บริหารระดับสูงที่รอเกษียณอายุก็ปล่อยเขาไปเถอะ ผมเป็นห่วงกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน และความศรัทธาต่อระบบราชการและการเมืองที่กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งซีกเหลือง ซีกแดง ซีกธุรกิจ และคนทั่วไป
อย่าประมาทนะครับ ภายใน 10 ปีข้างหน้า อะไรที่เหลือเชื่ออาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
31 สิงหาคม 2552

Be the first to comment on "“เมื่อราชการจับมือประชาสังคม”"

Leave a comment

Your email address will not be published.