“พลังสาธารณะ”

             ในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพระดับจังหวัด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน   เขาตั้งประเด็นว่า “พลังชุมชนพิชิตวิกฤตความขัดแย้ง”   ทำให้ผมเกิดความชื่นชมและความเป็นห่วงขึ้นมาพร้อมกัน

            ที่ชื่นชมเนื่องจากได้เห็นหน่วยงานราชการ อย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีความเชื่อมั่นในพลังของภาคประชาชนจนถึงขนาดมีแผนงาน/โครงการไปจัดตั้งและส่งเสริมบทบาทชุมชนมาช่วยกันดูแลกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ปล่อยให้คดีมาล้นอยู่ที่ศาลจนเป็นที่เสียเวลา เสียเงินเสียทอง เสียอารมณ์ และทุกข์ใจไปด้วยกันทุกฝ่าย

            ที่เป็นห่วงก็ตรงที่มีสัญญาณความโน้มเอียงที่จะฝากความหวังทุกสิ่งอย่างมาลงที่ชุมชน จนจะกลายเป็นยาสารพัดนึกไปแล้ว อย่างที่ตั้งหัวข้ออภิปรายนี้  

ถ้าเป็นวิกฤตความขัดแย้งในระดับจุลภาค (Micro) พลังชุมชนอาจพอเอาชนะได้ แต่หากเป็นวิกฤตความขัดแย้งในระดับมหภาค (Macro)   อย่างกรณีไฟใต้ ใน 3 จังหวัดชายแดน หรือไฟการเมืองที่ไหม้ลามไปทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ลำพังพลังชุมชนจะรับภาระไหวเหรอ?
            เมื่อพูดถึงพลังชุมชนในฐานะพลังงานสำหรับการเปลี่ยนแปลง   ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นระดับของการแก้ไขปัญหา การฟื้นฟู-เยียวยา   การป้องกันหรือการเฝ้าระวังดูแลก็ตาม   ผมนึกถึง “พลัง” อื่นๆที่มีทำนองคล้ายกันอยู่หลายคำซึ่งเรามักใช้ปนๆ กันไป   ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ แต่ขอจำแนกความแตกต่างระหว่างคำด้วยประสบการณ์การทำงานภาคสนามเป็น 2 กลุ่มที่มีความแตกต่างกัน
            กลุ่มหนึ่ง : “พลังชุมชน”   “พลังมวลชน” “พลังเครือข่าย” และ “พลังประชาคม” ทั้ง 4 คำนี้ มีความหมายเดียวกันซึ่งสามารถเลือกใช้ในโอกาสต่างๆ กล่าวคือเป็นพลังงานที่เกิดจากการรวมกลุ่ม รวมตัว ร่วมคิดร่วมทำและมีการจัดตั้งหรือการจัดการ อาจเป็นการจัดตั้งตนเอง หรือถูกจัดตั้งโดยผู้อื่นเช่น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยราชการ ภาคธุรกิจ องค์กรศาสนา ฯลฯ ก็ได้
            เรามักเห็นพลังงานประเภทนี้ ถูกนำมาใช้ในการผลักดัน ต่อสู้ต้านทาน รณรงค์สร้างสรรค์หรือปลุกระดมทำลายล้างกันในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ
            อีกกลุ่มหนึ่ง : “พลังสาธารณะ” และ “พลังสังคม” คำว่าสาธารณะหรือสังคมนั้น คือความเป็นทั้งหมดที่รวมอยู่ด้วยกันในสังคมที่มีขนาดใหญ่ และหลากหลาย คนบางส่วนอาจถูกจัดตั้งได้ แต่คนทั้งหมดหรือคนส่วนใหญ่นั้นไม่มีใครสามารถจัดตั้งสำเร็จ เพราะธรรมชาติของคนหมู่มากที่มีความหลากหลายนั้นย่อมมีความต้องการ ความคิดเห็นและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน    พลังสังคม หรือพลังสาธารณะจึงเป็นพลังงานของคนหมู่มากที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งสั่งการใดๆ พลังแบบนี้มักจะออกมาแสดงตัวตนเป็นครั้งเป็นคราว ซึ่งแต่ละครั้งก็จะดำรงอยู่ไม่นาน   ดังนั้นบางทีจึงถูกเรียกว่าเป็น “พลังเงียบ” ก็มี
            ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยที่มีเหนือพรรคการเมืองเก่าแก่ทุกพรรคเมื่อปี 2544   ส่วนหนึ่งมาจากพลังการจัดตั้งบุคลากรระดับหัวคะแนนในภาคเหนือและภาคอีสาน และเมื่อถูกนำมาประกอบเข้ากับพลังสาธารณะของประชาชนที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยมอันแปลกใหม่ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถล่มทะลาย
            แต่การถอยร่นของ นปช.และเครือข่ายคนเสื้อแดงของพรรคนอมินีในปี 2552 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพลังสาธารณะที่ครั้งหนึ่งเคยชื่นชอบพรรคไทยรักไทย   หรือพรรคพลังประชาชน เริ่มรับไม่ได้กับพฤติกรรมใช้ความรุนแรงแบบอันธพาลครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่พอใจต่อการเดินแนวทางที่ผิดพลาดจนแกนนำหลายคนต้องถูกดำเนินคดี ประกอบกับพลังมวลชนในเครือข่ายหัวคะแนนเดิมส่วนหนึ่งเกิดการแยกตัวออกไปร่วมรัฐบาลกับขั้วตรงข้าม
            หรืออย่างในกรณีของ สสส.  เมื่อครั้งที่รองนายกรัฐมนตรีปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนและเกิดขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกลุ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อปี 2546 ขณะนั้น สสส. เพิ่งเกิดใหม่ได้ 2 ขวบปี และยังไม่เป็นที่รู้จักของสังคมมากนัก พลังสาธารณะที่สนับสนุนแทบจะอยู่ในระดับเลขศูนย์ แต่ด้วยการลุกขึ้นมาของพลังเครือข่ายที่เป็นเพื่อน สสส. จำนวนหนึ่งเท่านั้น ก็สามารถทำให้ฝ่ายการเมืองชิงล่าถอยไปได้ เพราะคงคิดได้ว่าไม่คุ้มประโยชน์ที่จะเผชิญหน้ากับเครือข่ายที่มีทุนทางสังคมเหล่านี้   ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นเขามีพลังที่เข้มแข็งมากทั้งในสภา ในรัฐบาล ในเครือข่าย มวลชนจัดตั้ง และใฟมู่ประชาชนที่นิยมชมชอบนโยบายของรัฐบาล
            มีบทเรียนที่น่าศึกษาจากลุ่มเอ็นจีโอ ที่นำพาชาวบ้านต่อสู้มาอย่างยาวนาน   ทั้งเรื่องความยากจน ความไม่เป็นธรรม ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยความที่พวกเขาไม่สันทัดที่จะยกระดับเรื่องราวความทุกข์ของชาวบ้านที่ต่อสู้ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจและรู้สึกร่วมได้ ในที่สุดจึงมักนำไปสู่ความพ่ายแพ้ล้มเหลวอย่างโดดเดี่ยว
            จากบางตัวอย่างที่หยิบยกมาให้พิจารณาข้างต้นคงจะเห็นได้ว่า พลังงานที่เกิดจากการรวมหมู่ทั้ง 2 กลุ่ม ล้วนมีบทบาทอย่างสำคัญในกระแสการต่อสู้ทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบบตัวแทน หรือการเมืองภาคประชาชน พลังในกลุ่มแรกมักเป็นผู้จุดประกายสร้างกระแสแต่ในที่สุดแล้ว พลังในกลุ่มหลังจะเป็นตัวตัดสินชี้ขาด
            ในการทำงานการเมืองภาคพลเมือง เราจะต้องให้ความสนใจต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาพลังงานทั้ง 2 รูปแบบในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
            พลังจัดตั้งนั้นสำคัญมาก พลังสาธารณะก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
            นั้นการสร้างสรรค์และผสมผสานพลังงานทั้ง 2 รูปแบบ เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
5 กันยายน 2552

Be the first to comment on "“พลังสาธารณะ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.