เป็นไปตามที่คาด คตส. เริ่มชี้มูลความผิดกรณีโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นคดีแรกและจะมีทะยอยตามกันออกมาทุกสัปดาห์ติดต่อกัน สื่อมวลชนปรี่เข้ามาถามทันที ซึ่งได้ก็ตอบทันควันว่า พม.มีความพร้อมที่จะสนองตอบและสานต่อผลการตรวจสอบของ คตส. ด้วยมาตรการทางอาญา แพ่ง และวินัย เล่นเอาสื่อมวลชนสนใจและนำไปขยายผลกันอย่างขนานใหญ่ตลอดสัปดาห์ ผ่านทางสื่อวิทยุ, TV และ นสพ.
ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งยังคงติดใจที่จะสัมภาษณ์และทำสารคดีเกี่ยวกับนโยบาย 5 ข้อใน 7 เดือน และประเด็นนโยบายถอดสลักความรุนแรงในสังคมของ พม. ซึ่งเข้าใจว่าพวกเขาอาจสัมผัสถึงความแตกต่างซึ่งเกิดขึ้นที่ พม. บ้างแล้ว
19 มี.ค.
7.30 น. มีนัดหารือกับปลัดกระทรวง พม. ตั้งแต่เช้า มีเลขาฯ ปกรณ์ และ ทปษ. เอื้อจิตร่วมพูดคุยด้วย
ผมแจ้งปลัด พม.ว่า จะขอยกเลิกการประชุมผู้บริหารที่เคยมีในทุกวันอังคารบ่ายไปเลย เพราะอยากให้เป็นเรื่องที่ฝ่ายข้าราชการไปบริหารจัดการและดำเนินงานกันเอง โดยผมจะขอพบปลัด พม.เพียงคนเดียวเพื่อมอบนโยบายให้ผู้บริหารนำไปถ่ายทอดและบริหารจัดการในระดับปฏิบัติการ และขอนัดเป็นประจำทุกเช้าวันจันทร์แบบวันนี้
ผมบอกถึงหลักการในการทำงานของทีม รมช. ที่จะต้องรับภารกิจแทน รมว.ไพบูลย์ในช่วง 7 เดือนหลังว่า เรามุ่งหวังความเข้มแข็งของกระทรวง พม. เป็นที่ตั้ง, ขอให้มั่นใจว่าเราไม่ประสงค์จะใช้อำนาจและไม่แสวงผลประโยชน์ส่วนตัวใด ๆ ทั้งสิ้น, เราขอมอบเรื่องงานรูทีนให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำ, เราจะเน้นงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ 5 เรื่องใน 7 เดือนตามที่ประกาศไว้ โดยมุ่งหวังให้เกิดผลเป็นรูปธรรม, การขับเคลื่อนกิจกรรมทุกชนิดให้เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายกระทรวงซึ่งปลัด พม.จะต้องเป็นผู้ใช้ศาสตร์-ศิลป์ในการทำให้เป็นจริง, สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายและระยะเวลา
ผมบอกปลัด พม. ว่าเรามีโครงสร้างและทีมทำงาน ประกอบด้วย 1 เลขานุการรัฐมนตรี, 1 ที่ปรึกษาประจำ และ 3 ทีมที่ปรึกษาเฉพาะกิจ (ด้านนโยบาย, ด้านกิจการ จชต. และด้านอำนวยการ) ซึ่งทั้งหมดจะเป็นฝ่ายช่วย รมต. คิดและประสานสนับสนุนการบริหารจัดการของปลัด พม. และเจ้าหน้าที่กระทรวง
ผมมี (ร่าง) โครงการที่จะขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ 7 เดือน 5 เรื่อง ที่ทีม ทปษ.ช่วยกันจัดทำ ขอมอบให้ปลัด พม. นำไปพิจารณาต่อตามขั้นตอนเพื่อเป็นกรอบแนวทางดำเนินงานและตั้งเรื่องขอเบิกเงิน 500 ล้าน จากสำนักงบประมาณตามที่ ครม.อนุมัติไว้แล้ว ฯลฯ
ในภาพรวม ดูเหมือนว่าปลัด พม. นั้นไวมาก ท่านพร้อมที่จะสนองตอบการมอบหมายจาก รมต. เป็นอย่างดี ซึ่งผมเข้าใจว่า ปลัด พม. เริ่มเห็นความแตกต่างของภารกิจระหว่าง 5 เดือนแรกกับ 7 เดือนหลังแล้ว
8.30 น. ทีม สสว. ทั้ง 12 เขต มาเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีกับ รมช. พม. อันที่จริง กลุ่ม ขรก. ส่วนนี้มีความพึงพอใจต่อแนวนโยบายตั้งแต่เดือนแรกที่พวกเราเข้ามาบริหารกระทรวงแล้ว เพราะผมได้ตั้งงบประมาณโครงการวิจัยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอ (1 สสว. 1 อำเภอ) เอาไว้ให้ ทำให้พวกเขามีบทบาทโอกาสแสดงและมีเครดิตขึ้นเยอะ
9.00 น. ก่อนการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ พม.ทีมพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ของกระทรวงมาขอปรึกษาเพื่อเตรียมการประชุม เรื่องพิจารณาสำคัญวันนี้คือกระทรวงจะตั้งองค์การมหาชน สำหรับฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคนพิการแห่งเอเชีย-แฟซิฟิค (APCD) ซึ่งมีข้อคิดขัดตรงที่กฎหมายองค์การมหาชนให้ตั้งขึ้นมาเพื่อบริการคนไทยเท่านั้น ไม่ยอมให้เป็นศูนย์อบรมสำหรับต่างชาติ จึงต้องขอให้ที่ประชุมช่วยกันหาทางออก
9.30 น. ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการกระทรวง พม. โชคดีที่ รมว.ไพบูลย์เข้าร่วมประชุมและเป็นประธานด้วยตนเอง ท่านคงต้องการให้ รมช.เรียนรู้และถือโอกาสส่งมอบงานให้ดูแลอย่างเป็นทางการ
ที่ว่าโชคดีก็คือ เรื่องนี้ซับซ้อน ความเห็นของผู้แทน กพร., กพ., กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณค่อนข้างต่อต้าน รมว.ไพบูลย์ช่วยประนีประนอมจนสามารถตะล่อมให้ทั้ง กพ., กพร., กค., สำนักงบประมาณมีท่าทีเชิงบวก และฝ่ายคนพิการก็เข้าใจไปในทางดี
ในที่สุดเรื่องนี้ที่ประชุมให้ทำการปรับรายละเอียดและหาเหตุผลประกอบเพื่อกระทรวง พม.เตรียมนำเข้าสู่ ครม. ต่อไป
12.45 น. ไปร่วมพิธีลงนาม MOU ระหว่าง พม.-สปสช.-มท. และ 3 สมาคม อปท. (สันนิบาตเทศบาล, สมาคม อบจ., สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย) ที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
หลังลงนามและแถลงข่าวแล้ว ผู้สื่อข่าวมารุมสัมภาษณ์ รมช.พม.เรื่อง “ยุทธศาสตร์การประคับประคองทุนทางสังคม จชต.” ตามที่ผมแถลงไว้ตั้งแต่วันก่อน ผมเลยสัมภาษณ์ไปว่ากำลังจะลงไปเปิดโครงการที่ว่านี้ โดยศุกร์นี้จะไปเปิด 3 โครงการของ พอช. (500 ล้าน) และเสาร์หน้าจะลงไปอีกเพื่อเปิดอีก 3 โครงการของ สป.พม. (24 ล้านบาท) นี่คืองานรูปธรรมจาก พม.
14.00 น. สัมภาษณ์รายการวิทยุ สวท. เรื่อง “แนวทางการฟื้นทุนทางสังคม จชต.” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเขาบันทึกเทปเอาไว้เพื่อนำมาออกช่วงหลังข่าวในวันต่อมา
20 มี.ค. 9.00 น. ก่อนเข้าประชุม ครม. คุณหญิงไขศรี (รมว.วธ.) ท่านกรุณาให้ช่างตัดเสื้อมาวัดตัวพวกเรา รมต. ทุกคนเพื่อตัดเสื้อพระราชทาน และขอร้องแกมบังคับให้ต้องใส่เข้าประชุม ครม. ทุกครั้งด้วย
ครม.นัดนี้มีวาระเพื่อพิจารณามากจนเล่นเอาใช้เวลาประชุมจนเกือบบ่ายโมงจึงพักกินข้าวกลางวัน วันนี้นายกพูดถึงเรื่องโครงการอยู่ดีมีสุข 5,000 ล้านและเรื่อง จชต. ว่าขอให้ทุกกระทรวงช่วยกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะ พม. ต้องช่วยดูแลงานมวลชน-งานชุมชนใน จชต. ให้เต็มที่ พร้อมกับหันมาสบตาผมหลายครั้งอย่างตั้งใจ กลับมาถึงกระทรวง พม. จึงต้องคิดโครงการและกิจกรรม/กลุ่มเป้าหมายงานมวลชนเป็นการใหญ่ ในเบื้องต้นนี้คิดว่า น่าจะใช้ฐานชุมชนพุทธ และวัดพุทธเป็นเป้าหมายจึงขอข้อมูลวัดพุทธใน 3 จชต.ทั้งหมดมาดู
บ่ายไม่มีการประชุมผู้บริหาร พม. อย่างแต่ก่อน ผมจึงว่างทำให้มีเวลาได้นั่งคิดงานมากกว่าแต่ก่อน
กลับมาถึงกระทรวง ผอ.ปชส. นัดหมายนักข่าวมาสัมภาษณ์ที่ตึกวัง เรื่องที่ถามคือโครงการบ้านเอื้ออาทรว่ากระทรวงจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป
ผมถือโอกาสแถลงจุดยืนและท่าทีของกระทรวง พม. ต่อเรื่องนี้อย่างเป็นทางการว่า
1. ในฐานะ รมต. พม. จะดูแลปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรอย่างครอบคลุมทุกมิติ ในด้านปัญหาคอร์รัปชัน จะสานต่อผลการตรวจสอบของ คตส. อย่างจริงจัง นักการเมืองและข้าราชการที่ถูกชี้มูลว่าผิดทางอาญาจะให้มีการดำเนินคดี และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยศาลฎีกาคดีนักการเมือง/ศาลยุติธรรม ส่วนข้าราชการที่มีมลทิน หากไม่ถึงขั้นผิดอาญา ก็จะใช้วินัย หรือมาตรการทางการบริหารเพื่อให้ได้รับโทษ โดยยึดหลักความยุติธรรมและเมตตาธรรมประกอบกัน
2. ในส่วนการแก้ปัญหาโครงการเอื้ออาทรที่ไม่มีประสิทธิภาพและชะงักงันจะดูแลประคับประคองไปให้ตลอดรอดฝั่ง กล่าวคือจำนวนบ้านเอื้ออาทร 600,000 หน่วย
– เสร็จแล้ว 65,000 ต้องทำให้ประชาชนเข้าอยู่ได้
– 300,000 กำลังสร้างต้องทำต่อ
– 200,000 ยังไม่ได้เริ่มอาจชะลอไปก่อน
3. จะไม่ให้ประชาชนต้องได้รับผลกระทบและเดือดร้อน
4. ในอนาคต จะปรับทิศทางการทำงานของการเคหะแห่งชาติให้ทำหน้าที่ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ตลอดจนสนับสนุนทางวิชาการ ในขณะที่การดำเนินการอยากให้เป็นบทบาทของท้องถิ่น จะเรียกว่า “การเคหะท้องถิ่น” ก็ได้
ผมสังเกตว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ นักข่าวสนใจและพอใจกันมากเพราะเป็นการตอบสนองที่รวดเร็ว-กระชับ-ชัดเจน-เป็นรูปธรรม
ได้ผลดีอย่างที่คิด เพราะประเด็น “ดำเนินการทางกฎหมาย และทางวินัย” กับประเด็น “เคหะท้องถิ่น” กลายเป็นประเด็นข่าวต่อมาตลอดทั้งสัปดาห์!!
21 มี.ค. 6.45 น. TV5คุณจักรพันธุ์ ยมจินดา สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ใน 2 ประเด็น :
(1) มั่นใจนะว่าไม่กระทบชาวบ้าน? (2) ลงโทษผู้ผิดแน่นะ?
– 8.40 น. TV11ก็สัมภาษณ์เรื่องบ้านเอื้ออาทรเช่นกัน
– 9.00 น. ทีมสถาบันครอบครัวรักลูกมาพบแสดงความยินดีและหารืองานสมัชชา
– 9.30 น. คณะของครูสน, พี่…,มะลิ ผู้นำองค์กรชุมชนของ พอช. เข้าพบเพื่อเสนอการขับเคลื่อนเวทีเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรชุมชนท้องถิ่น และโครงการขับเคลื่อน 150 สภาองค์กรชุมชนตำบลรำร่อง
– 10.00 น. ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายจาก อ.ไพบูลย์ให้ทำหน้าที่เป็นประธานแทน
มีประเด็นการอนุมัติโครงการของกองทุนผู้สูงอายุ ว่ายังมีโครงการที่ได้รับอนุมัติน้อย และมีเงินเหลืออีกมาก ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ (คุณนิรันดร์ นาเมืองรักษ์) เร่งให้มีการใช้เงิน
อ.หมอบรรลุเป็นรองประธาน ช่วยผมได้มากทีเดียวในวันนี้
จากการร่วมประชุมครั้งแรกผมพอมองเห็นแนวทางการพัฒนางานผู้สูงอายุอยู่มาก แต่ขออีกระยะหนึ่งจึงค่อยเสนอ idea
13.15 ผอ.สุวิทย์ ขันธาโรจน์ นำเรื่องสมัชชาครอบครัวที่จะจัดในวันที่ 5 เมษา มาหารือ
15.00 น. ออกเดินทางไปร่วมเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมฯ ในพิธีเปิดงานสื่อเพื่อเผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงและพระราชกรณียกิจพระเจ้าอยู่หัว 80 พรรษา ที่สโมสรตำรวจ, บางเขน
นับเป็นการเข้าเฝ้างานพิธีแบบนี้เป็นครั้งแรก ต้องแต่งชุดปกติขาว, มี รมต.วท., รมต. ICT, รมต.กษ. ร่วมพิธีด้วย
รายการวิทยุของคุณฟองสนาน จามรจันทร์ โทรศัพท์เข้ามาสัมภาษณ์สด เรื่องบ้านเอื้ออาทร ใช้เวลาซักถามข้อสงสัยกับ รมช. ราวครึ่งชั่วโมง ประเด็นที่เธอสนใจคือ
– จะลงโทษคนผิดจริงไหม? มีหลักการ/หลักปฏิบัติอย่างไร?
– จะดูแลโครงการฯ อย่างไรต่อไป?
– แน่ใจนะว่า ชาวบ้านที่จองบ้านจะไม่กระทบ?
– คุณภาพบ้านจะดีหรือเปล่า?
– ชอบใจแนวคิด “เคหะท้องถิ่น” มาก จะเป็นจริงได้อย่างไร?
22 มี.ค. 9.09 น. พิธีเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนดินแดง-ห้วยขวาง ซึ่งเป็นงานที่ พม. (โดย ศพส.กทม.6) กับ ศาลแขวงพระนครเหนือร่วมกันทำขึ้น โดยใช้สถานที่ ศพส.กทม. ดินแดง เป็นที่ให้บริการชุมชน
งานเช้าจัดเป็นทางการ/พิธีการมาก ต้องทำหน้าที่เปิดงาน, ตัดริบบิ้นเปิดป้ายศูนย์ และปลูกต้นไม้ (ลีลาวดี) เป็นที่ระลึก
ผู้สื่อข่าวตามไปทำข่าวกันติด ๆ แต่เรื่องที่ถามกลับเป็นเรื่อง “แก้ปัญหา จชต.” มากกว่าเรื่อง “ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ” เสียอีก!!
TV7 ขอสัมภาษณ์ 2 รอบถึงเรื่อง จชต. เพราะเกิดติดใจในประเด็นที่ผมพูดถึง “พัฒนาการทางจิตวิทยามวลชนจากภาวะกลัว¨เกลียด ¨ กล้า” นอกจากนั้นผมยังวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า
1. ประชาคมมุสลิม จชต. ถูกวางยาด้วยความคิดที่ผิด 2 เรื่อง ได้แก่ ประวัติศาสตร์ปัตตานีว่าเป็น รัฐอิสลามทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงรัฐมุสลิมและประเด็นการต่อสู้เพื่อรัฐปัตตานีเป็นญีฮาด ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่
2. ขอสนับสนุนท่าทีของนายกสุรยุทธ์ที่สุขุมและยึดมั่นสันติวิธี เพราะอีกไม่นานประชาคมมุสลิมท้องถิ่นจะทนไม่ได้ และจากกลัวจะกลายเป็นเกลียดและกล้ามากขึ้น จนสถานการณ์ผลิกผันได้
3. ต้องเปิดเวทีสร้างความเข้าใจในมิติ “พลวัตร” ของประวัติศาสตร์เพื่อให้สังคมใหญ่ และคน จชต.ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและมีทัศนที่เป็นคุณต่อการแก้ปัญหา
10.50 น. กลับมาร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม (ครั้งที่ 3) อาจารย์ไพบูลย์ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมไปก่อน รอผมกลับมารับไม้ต่อ
16.00 น.ไปรับข้อเสนอของเครือข่ายเยาวชนในเวทีคุณธรรมนำความรู้ที่กระทรวง ศธ.จัดที่โรงแรมรามาการ์เดน ร่วมกับ รมช. ศธ. (ดร.วรากร สามโกเศศ)
19.00 น. ร่วมงานเลี้ยงแสดงความยินดีจากเพื่อนศิริราช 83 ที่ภัตราคารศรแดง เมธาวลัย อนุสาวรีย์ประชาชาธิปไตย
เพื่อน ๆ 15 คน มาร่วมแสดงความยินดีที่ผมเป็นรัฐมนตรีกับแสดงความยินดีที่ นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ได้เป็นนายพลคนแรกของรุ่น
23 มี.ค. 8.30 น. ประชุมคณะกรรมกลั่นกรอง ชุด 2 รองฯ ไพบูลย์เป็นประธานเป็นครั้งแรก มีวาระมากมาย ผมอยู่ได้พักหนึ่งก็ต้องขออนุญาตไปร่วมพิธีที่ตึกไทยคู่ฟ้า
9.30 น. พิธีประกาศเจตนารมณ์และมอบนโยบายแก่ อปท. ในการต่อสู้เอาชนะยาเสพติด มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีทั่วประเทศมาร่วมพิธีเต็มห้องโถง
ได้พบ นายก ซึ่งเป็นประธานพิธี, พบ รมช.มท., ลธน., ผู้ว่า กทม., ปลัด กทม., เลขาธิการ ปปส. และอธิบดีอีกหลายคน
13.30 สัมภาษณ์บันทึกเทป UBC7 เป็น 4 ตอนเพื่อออกอากาศ 2 วันติดต่อกัน พูดถึงเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ 7 เดือน มีเวลาให้พูดได้มาก พิธีกรช่วยซักถามได้รื่นดีมาก
สุดท้ายถามว่า “ท่านมีคติในการทำงานอย่างไร จึงได้มีพลังในการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน”
ตอบไปว่า “เพราะถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะเป็นงานเพื่อคนอื่นยิ่งเป็นการปฏิบัติธรรมที่ยังประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ และเป็นการทำงานโดยไม่ยึดติดตำแหน่งใด ๆ”
24 มี.ค. ไปพิษณุโลกครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง รมต.
มีพลเอกศิริ ทิวะพันธุ์, รองผู้ว่าราชการจังหวัด, คณะเจ้าหน้าที่ พมจ. มาต้อนรับถึงสนามบิน เขาพาไปที่บ้านคุณย่าและจัดอาหารมาเลี้ยงกันที่บ้านคุณย่า มีเจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์วังทองเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
แม่ดีใจมาก
9.00 น. พบเพื่อนนักเรียนอินทุภูมิพิทยาประมาณ 20 คน มาแสดงความยินดีที่โรงแรมท็อปแลนด์ ระลึกความหลังและถ่ายรูปเป็นที่รำลึกกันจนจุใจ
ตกลงกันว่าเดือนหน้าจะขอให้มาพิษณุโลกอีกเพื่อเลี้ยงรุ่นเป็นการต้อนรับอย่างเป็นทางการ!!
10.30 น. บรรยาย “พัฒนาไทยให้พอเพียง” ในเวทีสัมนา SME เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง คนฟังเต็มห้องประชุมเลย คนสำคัญๆ ของจังหวัดมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด, นพ.สุธี ฮั่นตระกูล (ประธานหอการค้า), คุณสิงห์ (ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด), ดร.สมบัติ และดร.ยุพา นพรัก (ม.นเรศวร) , ฯลฯ ร่วมต้อนรับและฟังการบรรยาย
1 ชั่วโมงเต็มที่บรรยาย ผู้ฟังดูสนใจกันมาก หลังบรรยายคุณพี่รุ่งกานต์ ศรลัมภ์กับภรรยาอดีตอธิบดีขนส่งทางอากาศเดินเข้ามาทักทายบอกว่า “บรรยายดีเหลือเกิน!!” นั่นก็คงเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยได้ฟังผมบรรยายอย่างเป็นระบบแบบนี้มาก่อน
บ่าย ประชุมพบปะเครือข่ายเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมของพิษณุโลก ที่วิทยาลัยพาณิชยการพิษณุโลก ของอาจารย์สุนทร รักเลี้ยง ที่ประชุมเขาตั้งใจต้อนรับผมอย่างเต็มที่ เขาทำพิธีที่ประทับใจมาก มีการมอบของขวัญ ให้ผมบรรยายพิเศษในเรื่องภารกิจ 7 เดือน และมีพิธีมอบดอกกุหลาบ เล่นเอาผมกลั้นน้ำตาไม่อยู่
พวกเขาลั่นวาจาให้กำลังใจว่า “หมอทำได้ หมอทำได้ดีแน่ ๆ พวกเขาจะหนุนอยู่ข้างหลัง ขอให้มั่นใจ!”
นึกในใจว่าคนที่รักและศรัทธามีมากเหมือนกันนะ
ที่พิษณุโลก TV11 และ TV7 บันทึกภาพ และขอสัมภาษณ์ตั้งแต่เช้า, เรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างเป็นระยะ ไม่ต่ำกว่า 5 รอบ แฟนเก่าของผมทั้งนั้น สื่อมวลชนภูมิภาคและท้องถิ่นที่นั่นกับผมคือเพื่อนร่วมงานที่สัมพันธ์กันยาวนาน ต่างคนต่างมาทำข่าวเพื่อป้อนหน่วยงานของตน
มีกลุ่มหนึ่งสัมภาษณ์ไปแล้ว ถูกสำนักงานใหญ่ใน กทม. ให้กลับมาสัมภาษณ์เพิ่มเติม “ขอเรื่องการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน!”
กลับ กทม.แล้วมีคนรายงานว่า ออก TV บ่อยเหลือเกินช่วงนี้
25 มี.ค.– พัก 1 วัน , วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว!
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
25 มีนาคม 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 30 : ทุจริตบ้านเอื้ออาทร"