ประสบการณ์ประชาสังคม (16) : รับมือเลือกตั้ง 2544

          เมื่อได้เห็น LDI และเครือข่ายประชาคมจังหวัดทั่วประเทศมีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเวทีสาธารณะระดับพื้นที่พร้อม ๆ กันทุกภูมิภาค ดร.โคทม อารียา กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม(ในขณะนั้น) จึงเข้ามาทาบทามให้ช่วยเตรียมการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

          กกต.ชุดนั้นเป็นชุดแรกซึ่งมีคนกล่าวถึงในระยะหลังมานี้ว่าเป็นชุดที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา
          การเลือกตั้งทั่วไป 6 มกราคม 2544 ถือเป็นการเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก

          อาจารย์โคทมอยากให้ LDI และเครือข่ายเข้าไปช่วยจัดเวทีความเคลื่อนไหวไปในทุกจังหวัดแบบเดียวกันที่เคยจัดเวทีวิสัยทัศน์จังหวัด และเวทีปฏิรูปสุขภาพเท่านั้นแหละ   แต่ผมเรียนท่านว่าหัวใจของความเคลื่อนไหวครั้งนี้อยู่ที่การสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและตื่นตัวของประชาชนให้มากที่สุดในการเลือกตั้งประวัติศาสตร์ ซึ่ง LDI, Civic Net และเครือข่ายของพวกเรามีเทคนิคกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดสิ่งที่ว่านี้ได้   เช่นถ้า กกต.ต้องการให้เป็นเวทีขนาดเล็กไม่เกิน 100 คน เราจะใช้เทคนิค AIC(Appreciation Influence Control) หรือ FSC (Future Search Conference) ถ้าเป็นเวทีขนาดใหญ่ขึ้น 500 คน เราเลือกใช้เทคนิค AI (Appreciative Inquiry) แต่ถ้า กกต. อยากจัดให้มีเวทีใหญ่มากขนาด 1,000 คน เราจะใช้เทคนิค Open Space

                เรื่องเหล่านี้อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับอาจารย์โคทมในช่วงนั้น   ท่านจึงมอบความไว้วางใจให้พวกเราเป็นผู้ออกแบบกระบวนการเอง   ผมให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงจัดทำเวทีวิสัยทัศน์จังหวัดให้กับสภาพัฒน์นั้นเราดำเนินการรวม 105 เวที   แต่หากถามว่าเราสามารถบริหารจัดการได้เต็มที่เท่าไร ผมขอให้ความมั่นใจว่าพวกราสามารถขับเคลื่อนได้ทั้ง 800 อำเภอพร้อม ๆ กัน ซึ่งแล้วแต่ว่า กกต.จะตัดสินใจให้ทำมากน้อยแค่ไหน   อาจารย์โคทมมีท่าทีตกใจแล้วรีบบอกว่าเกรงว่าจะไม่มีงบประมาณสนับสนุนได้พอ
          ในที่สุดพวกเรากลับมาระดมความคิดกัน อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ และอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ช่วยกันออกแบบการเคลื่อนไหวโดยเรียกชื่อว่า เวทีพลเมืองไท   ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมการเคลื่อนไหว 3 รูปแบบ
1. รายการเวทีสาธารณะทางโทรทัศน์ “เวทีพลเมืองไท” ระดับภูมิภาค 5 ครั้งและเวทีสภาชาวบ้าน 20 ครั้ง
2. เวทีวิทยุพลเมืองไท   จาก สวท. ส่วนกลาง 2 ชุดรายการ และพลเมืองไท – ท้องถิ่น 9 ชุดรายการ ลิงค์สัญญาณเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ
3. เวทีสาธารณะระดับจังหวัด 56 ครั้ง
          ผลการดำเนินงานในครั้งนั้น เป็นที่พออกพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาก   เพราะกระบวนการที่เครือข่ายเข้ามาร่วมหนุนเสริม   ได้ช่วยสร้างสีสัน และกระตุ้นบรรยากาศการเลือกตั้งที่ กกต.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเป็นอย่างมาก   สื่อมวลชนส่วนกลางและภูมิภาค-ท้องถิ่นมีโอกาสได้ชิมลองวิธีการทำงานแบบใหม่ของภาคประชาสังคมด้วยความติดอกติดใจ   ทีวีช่อง 3 ถึงกับออกปากว่า “เวทีชาวบ้าน” ตอนข่าวเช้าของคุณยุทธิยงค์   เลิศลิ้มวาทีดึงเรทติ้งขึ้นอย่างทันตาเห็น   ส่วนพวกเครือข่ายภาคประชาชนนั้นยิ่งคึกคักกว่าเดิมเมื่อได้ร่วมสร้างสรรค์รูปแบบการเคลื่อนไหวสังคมแบบใหม่ๆ และมีความหลากหลาย
          ผลการเลือกตั้งในคราวนั้น มีปรากฎการณ์มิติใหม่เกิดขึ้น คือพรรคไทยรักไทยของ พตท. ทักษิณ ชินวัตร   ซึ่งแนวนโยบายที่ก้าวหน้าและแปลกใหม่ (progressive) เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งพรรคการเมืองเดิม ๆ และพรรคเก่าแก่ทุกพรรค (Conservative)  อย่างถล่มทลาย จนเกือบสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพังเพียงพรรคเดียว    ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้เกิดจากการเคลื่อนไหวเวทีพลเมืองไท    แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจากพรรคไทยรักไทยเอง ที่เตรียมตัวมาดี นำเสนอนโยบายที่ประชาชนไม่เคยสัมผัสมาก่อน จนสาธารณชนพากันโหวตให้โดยมิได้นัดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค และพักหนี้เกษตรกร
          เครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ร่วมขับเคลื่อนเวทีสาธารณะรับมือเลือกตั้งได้ทำการประชุมสรุปบทเรียนระหว่าง 12-13 กุมภาพันธ์ 2544 ท่านที่สนใจสามารถค้นคว้าได้จากห้องสมุดสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เอกสารชื่อ การประชุมสรุปบทเรียน เวทีพลเมืองไท : สร้างสรรค์การเมืองภาคประชาชน รณรงค์การเลือกตั้ง
 
          1. ทักษะฝีมือภาคประชาสังคม
          แม้ความเคลื่อนไหวเวทีพลเมืองไทยจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ต้นจนจบเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น งานนี้มีความหมายต่อพัฒนาการของเครือข่ายประชาสังคมไม่น้อยเลย   เพราะเป็นการยกระดับรูปแบบ วิธีการและเนื้อหาสาระการขับเคลื่อนของเครือข่ายขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง   อาจกล่าวได้ว่าบทเรียนจากเวทีวิสัยทัศน์จังหวัดในแผน 9 และจากการบริหารจัดการรายการโทรทัศน์ทิศบ้าน- – ทางเมืองได้ถูกนำมาหลอมรวมเชิงประยุกต์เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวชุดนี้   ซึ่งทำให้ผู้ประสานงานส่วนกลาง และเครือข่ายภูมิภาคต่างได้ซึมซับบทเรียนและประสบการณ์จากการขับเคลื่อนภาคสนามไปแบบเต็ม ๆ ทั้งในด้านเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องนโยบายพรรคการเมืองกับประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเอื้อมถึง ด้านเทคนิคกระบวนการซึ่งเป็นการผสมผสานทั้งเวทีคลื่นโทรทัศน์ วิทยุ กับเวทีประชุมสาธารณะ และด้านการบริหารจัดการที่ต้องสนับสนุนขับเคลื่อนสังคมขนาดใหญ่มาก   สิ่งนี้เป็นทุนภูมิปัญญาที่ติดอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) ทั้งระดับปัจเจก   กลุ่มองค์กรและเครือข่าย
          สำหรับ LDI เองในฐานะที่เป็นองค์กรประสานงานกลางในขณะนั้นมีภารกิจการผลิตรายการโทรทัศน์ทิศบ้าน- – ทางเมืองในทุกสุดสัปดาห์อยู่ด้วย การพาตัวออกไปขับเคลื่อนงานใหญ่พร้อม ๆ กัน 2 แนวรบเช่นนี้ นับเป็นประสบการณ์การจัดการที่คุ้มค่าจริงๆ 
 
 
 
          2. สาระจากเวทีหนุนประชาชนเลือกนโยบาย
          เป็นความตั้งใจของทีมประสานงานกลางที่ร่วมกันออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนทั้งแพ็คเกจที่จะพยายามกระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีเลือกจากคนคุ้นเคยไปสู่การเลือกตามนโยบายของพรรคการเมือง   อาจารย์ขวัญสรวง จึงกำหนดประเด็นขับเคลื่อนเวทีทุกระดับไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ : ปัญหาของผู้คนในวิชาชีพ – กลุ่มอาชีพหลากหลายและปัญหาของท้องถิ่นและภูมิภาคต่าง ๆ จะคาดหวังนโยบายแบบใดจากพรรคการเมือง
          อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อธิบายให้ที่ประชุมฟังว่าในสังคมตะวันตกซึ่งผ่านพัฒนาการทางการเมืองมาจนอยู่ตัวแล้วนั้น มีพรรคตัวแทนแนวคิดและกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคมเพียง 4 แบบหลัก ๆ  คือ เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม แรงงานหรือสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ แต่ในอดีตที่ผ่านมา พรรคการเมืองในประเทศเรามีแต่ประเภทเดียวกันแข่งขันกัน คือ อนุรักษ์นิยม
          คราวนี้พรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนเสรีนิยมที่เด่นชัดและเสนอนโยบายประชานิยมที่แปลกใหม่ ในจังหวะของการเปลี่ยนแปลงพอดี ผลจึงอาจพูดได้ว่า ประชาชนไปเลือกนโยบาย เลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา
 
          3. การถักทอเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น
          การให้ความสำคัญกับเวทีพลเมืองไททางคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการจัดเวทีสาธารณะในระดับภูมิภาค ล้วนเป็นการดึงสื่อมวลชนท้องถิ่นกับภาคประชาสังคมมาร่วมกัน   ผลทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ใหม่ที่พร้อมจะรองรับการเคลื่อนไหวสร้างสรรค์สังคมต่อไป
          ประเด็นปัญหาของท้องถิ่น ภูมิภาค และชีวิตผู้คน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ก้าวข้ามกรอบภารกิจและวัฒนธรรมองค์กรของตน   ไม่มีความจำเป็นต้องถามว่าคุณเป็นเอ็นจีโอหรือราชการ ทุกคนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ
          เพราะต่างมาร่วมภารกิจสาธารณะคือการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ
          และต่างมาพูดคุยในประเด็นประโยชน์สาธารณะที่ทุกคน ทุกฝ่ายมีความมุ่งหมายร่วมกัน
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
15 กันยายน 2552
 

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (16) : รับมือเลือกตั้ง 2544"

Leave a comment

Your email address will not be published.